info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.133.144.197

BITE SIZE : Next Station รถไฟฟ้าสายสีชมพู

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือน้องนมเย็น โครงการรถไฟฟ้าสายที่ผู้คนต่างรอคอยกันอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากขณะนี้ การก่อสร้างโครงการเสร็จสิ้นเกือบ 100% แล้ว และเตรียมทดลองนั่งพร้อมกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการได้ต่อไป

แล้วรถไฟฟ้าสายนี้เดินทางไปถึงจุดไหนได้บ้าง และเราต้องรู้อะไรเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายนี้ ก่อนจะเปิดใช้งาน

Prachachat BITE SIZE รวมทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายนี้

รู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีชมพู”

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี โดยเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านมีนบุรี รามอินทรา หลักสี่ ไปจนถึงย่านแจ้งวัฒนะ แคราย และพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้สะดวก

ภาพจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

โครงการนี้เกิดขึ้นในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีมติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูในรูปแบบ PPP Net Cost วงเงินลงทุน 53,490.00 ล้านบาท โดยให้เอกชน คือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี)

แล้ว PPP คืออะไร ?

PPP Net Cost เป็นหนึ่งในรูปแบบของกลยุทธ์ PPP (Public-Private Partnership) คือ การร่วมกันพัฒนาและให้บริการโครงการสาธารณะของภาครัฐและเอกชน โดยทั้สองฝ่ายจะมีการจัดสรรผลประโยชน์และบริหารความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งเอกชนอาจจะเป็นผู้ให้บริการ บริหารระบบ หรือก่อสร้างงานโยธา มี 2 รูปแบบ

1. PPP Net Cost คือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานทั้งหมด

2. PPP Gross Cost คือ ภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมดและชดเชยค่าตอบแทนให้บริษัทเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน

ประโยชน์ของกลยุทธ์ PPP คือ ลดงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล เปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้ามาร่วมลงทุนและยังเป็นการสร้างกลไกการแข่งขัน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการสาธารณะเพื่อประชาชน

ข้อมูลจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

เชื่อมมีนบุรี-นนทบุรี ใกล้ห้าง สถานที่ราชการ

หากลงรายละเอียดไปในสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทั้ง 30 สถานี จะเห็นว่ามีหลายสถานีที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่น่าสนใจและสำคัญ เช่น

สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (สถานีต้นทางของโครงการฯ) ใกล้กับศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี

สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ใกล้กับศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ, กรมการกงสุล

สถานีราชภัฏพระนคร ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

นอกจากนี้ หลาย ๆ สถานียังใกล้กับห้าง-ศูนย์การค้าอีกด้วย โดยสถานีที่น่าสนใจ มีดังนี้

สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ใกล้กับเอสพลานาด แคราย

สถานีปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ 28 ใกล้กับเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ

สถานีหลักสี่ ใกล้กับศูนย์การค้าไอที สแควร์

สถานีรามอินทรา 3 ใกล้กับเซ็นทรัล รามอินทรา ซึ่งรีโนเวตใหม่เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

สถานีวงแหวนรามอินทรา ใกล้กับศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade

สถานีนพรัตน์ ใกล้กับโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี, อมอรินี่ รามอินทรา, สยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยาม)

ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าถึง 4 สาย คือ

สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง

สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต

สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

สถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ซึ่งโครงการยังไม่เปิดให้บริการในขณะนี้

เฟสต่อไป เชื่อม “อิมแพ็ค เมืองทองธานี”

นอกจากสถานีหลักของรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้ง 30 สถานี ซึ่งรอเปิดให้บริการแล้ว ยังมีสถานีส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี โดยเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) ช่วยให้คนที่ต้องเดินทางไปดูนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือคอนเสิร์ตต่าง ๆ เดินทางง่ายกว่าเดิม

สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ประกอบไปด้วย 2 สถานี ระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร คือ

สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01)

สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02)

โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อตุลาคม 2566 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีความก้าวหน้าในแต่ละด้าน ดังนี้

งานโยธา 41.76%

งานระบบรถไฟฟ้า 23.34%

ความก้าวหน้ารวม 35.56%

และคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ประชาชน ได้นั่งเมื่อไร ?

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการขึ้นทดสอบรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในวันที่ 21 พ.ย. 2566 และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง โดยให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีในเวลาถัดไป ซึ่งต้องรอการยืนยันเวลาอย่างเป็นทางการจาก รฟม. อีกครั้ง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู 30 สถานี เสร็จสิ้นไปประมาณ 99% ยังมี 3 สถานี อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี ได้แก่ สถานีแจ้งวัฒนะ 14, สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (ข้อมูล ณ 16 พ.ย. 2566)

ขณะที่อัตราค่าโดยสาร ประมาณ 15-45 บาท ใกล้เคียงกับราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เปิดไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องรอการพิจารณาในที่ประชุม ครม. อีกครั้ง ก่อนวันเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าเปิดเต็มรูปแบบได้ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้

ส่วนเรื่องบัตรโดยสาร สามารถใช้ได้ทั้งบัตรแรบบิท (Rabbit Card), ซื้อตั๋วเที่ยวเดียว หรือใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิต วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส (Contactless) ก็ได้เช่นกัน

18/11/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 พฤษจิกายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS