info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.251.236

บิ๊กอสังหาเทกระจาดคอนโด ชิงลูกค้าต่างชาติ 1.5 แสนล้าน

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

REIC ชี้เทรนด์ท่องเที่ยวฟื้นตัวปลุกตลาดอสังหาฯ เผย 27 จังหวัดหลักรายได้ท่องเที่ยวทะลุ 3.9 แสนล้าน ดึงยอดโอนลูกค้าต่างชาติโตพุ่ง 40% จับตา 3 ทำเลหลัก “กทม.-EEC-ภูเก็ต” สต๊อกโควตาคอนโดฯขายต่างชาติมูลค่าทะลุ 1.5 แสนล้านบาท “อนันดาฯ” ผนึก 224 เอเย่นต์ขายทั่วโลก “แสนสิริ” ประกาศล่าเป้า 1.2 หมื่นล้าน “ศุภาลัย” อัพเกรดรายได้ลูกค้าต่างชาติ 50% มูลค่า 4,000 ล้าน

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 จุดเน้นอยู่ที่การฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว

โดย REIC สำรวจธุรกิจที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 27 จังหวัด พบว่าปี 2565 รายได้จากการท่องเที่ยว 27 จังหวัดดังกล่าวมีมูลค่ารวม 390,500 ล้านบาท เติบโต 1,515% เทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้ 24,200 ล้านบาท

ในขณะที่หน่วยโอนห้องชุดของลูกค้าต่างชาติก็มีการเติบโตถึง 40.8% โดยปี 2564 โอนจำนวน 8,199 หน่วย เพิ่มเป็น 11,561 หน่วยในปี 2565 มูลค่ารวม 59,261 ล้านบาท

โควตาคอนโดฯทะลุ 1.5 แสนล้าน

เทรนด์ปี 2566 คาดว่ายอดขายลูกค้าต่างชาติมีอัตราเติบโต 5% หรือไม่ต่ำกว่า 60,000-63,000 ล้านบาท และภาพรวมทั้งประเทศที่มียอดโอนของลูกค้าต่างชาติสัดส่วน 20% คาดว่าเพิ่มสัดส่วนเป็น 25%

โดยสถิติล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 ใน 3 ทำเลหลักของตลาดลูกค้าต่างชาติ พบว่ากรุงเทพฯ มีห้องชุดสร้างเสร็จพร้อมโอน 19,047 หน่วย มูลค่า 89,254 ล้านบาท, พื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) มีห้องชุดพร้อมอยู่ 4,433 หน่วย มูลค่า 19,353 ล้านบาท และภูเก็ต 835 หน่วย มูลค่า 3,525 ล้านบาท รวมเป็น 112,132 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมห้องชุดอยู่ระหว่างขายและก่อสร้าง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 28,888 หน่วย มูลค่า 135,650 ล้านบาท, พื้นที่ EEC จำนวน 11,186 หน่วย มูลค่า 51,486 ล้านบาท และภูเก็ต จำนวน 1,540 ล้านบาท มูลค่า 9,006 ล้านบาท รวมเป็น 196,142 ล้านบาท

เมื่อรวมมูลค่าห้องชุดพร้อมอยู่ 112,132 ล้านบาท บวกกับห้องชุดอยู่ระหว่างขาย+ก่อสร้าง 196,142 ล้านบาท เท่ากับ 3 ตลาดหลักมีมูลค่าอยู่ที่ 308,274 ล้านบาท คำนวณโควตา 49% ของลูกค้าต่างชาติจะมีมูลค่าทำการตลาด 151,055 ล้านบาท

ท็อป 10 ต่างชาติรุมโอน

ทั้งนี้ REIC โฟกัส 10 จังหวัดแรกที่ลูกค้าต่างชาติมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม โดยเปรียบเทียบปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงพีกของตลาดคอนโดฯ และเป็นยุคก่อนโควิด กับปี 2565 ที่มีการฟื้นตัวของกำลังซื้อต่างชาติ ดังนี้

1.กรุงเทพฯ ปี 2561 ยอดโอน 6,391 หน่วย มูลค่า 38,340 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 5.99 ล้านบาท, ปี 2565 ยอดโอน 5,260 หน่วย มูลค่า 39,936 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 7.59 ล้านบาท

2.ชลบุรี ปี 2561 โอน 4,546 หน่วย มูลค่า 11,402 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.50 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 3,567 หน่วย มูลค่า 10,264 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.87 ล้านบาท

3.ภูเก็ต ปี 2561 โอน 476 หน่วย มูลค่า 2,371 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.98 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 637 หน่วย มูลค่า 3,001 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.71 ล้านบาท

4.เชียงใหม่ ปี 2561 โอน 1,212 หน่วย มูลค่า 3,153 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.60 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 595 หน่วย มูลค่า 1,874 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 3.14 ล้านบาท

5.สมุทรปราการ ปี 2561 โอน 531 หน่วย มูลค่า 1,141 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.14 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 793 หน่วย มูลค่า 1,856 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.34 ล้านบาท

6.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ปี 2561 โอน 71 หน่วย มูลค่า 318 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.47 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 268 หน่วย มูลค่า 1,341 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 5.00 ล้านบาท

7.นนทบุรี ปี 2561 โอน 111 หน่วย มูลค่า 167 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 1.50 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 77 หน่วย มูลค่า 592 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 7.68 ล้านบาท

8.ปทุมธานี ปี 2561 โอน 70 หน่วย มูลค่า 69 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 0.98 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 156 หน่วย มูลค่า 203 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 1.30 ล้านบาท

9.ระยอง ปี 2561 โอน 61 หน่วย มูลค่า 104 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 1.70 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 84 หน่วย มูลค่า 172 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.04 ล้านบาท

10.เพชรบุรี ปี 2561 โอน 1 หน่วย มูลค่า 3 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 3.00 ล้านบาท, ปี 2565 โอน 28 หน่วย มูลค่า 141 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 5.03 ล้านบาท

รัสเซียเบียดจีน 2 จังหวัด

ในด้านสัญชาติพบว่า ท็อป 10 จังหวัดดังกล่าว มี 7 จังหวัดที่ลูกค้าจีนโอนเป็นอันดับ 1 ในปี 2565 ได้แก่ “กรุงเทพฯ” โอน 3,323 หน่วย มูลค่า 22,324 ล้านบาท, “ชลบุรี” โอน 1,207 หน่วย มูลค่า 3,495 ล้านบาท, “เชียงใหม่” โอน 352 หน่วย มูลค่า 1,188 ล้านบาท

“สมุทรปราการ” โอน 566 หน่วย มูลค่า 1,424 ล้านบาท, “นนทบุรี” โอน 28 หน่วย มูลค่า 82 ล้านบาท, “ปทุมธานี” โอน 123 หน่วย มูลค่า 155 ล้านบาท และ “ระยอง” โอน 13 หน่วย มูลค่า 29 ล้านบาท

มี 1 จังหวัดที่ลูกค้าสหรัฐอเมริกาโอนมากสุด ที่ “เพชรบุรี” จำนวน 5 หน่วย มูลค่า 27 ล้านบาท และมีข้อสังเกตว่าท็อป 10 ลูกค้าต่างชาติมีชาวยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีลูกค้าจีน

และมี 2 จังหวัดที่ลูกค้ารัสเซียเป็นอันดับ 1 คือ “ภูเก็ต” โอน 240 หน่วย มูลค่า 875 ล้านบาท กับ “ประจวบฯ” โอน 37 หน่วย มูลค่า 285 ล้านบาท

จีนโอนสัดส่วน 49-60%

สำหรับท็อป 5 ลูกค้าต่างชาติ พบว่าจีนเป็นอันดับ 1 โอนห้องชุดในปี 2561-2565 ในแง่จำนวนหน่วยมีสัดส่วนตั้งแต่ 49-60% อันดับ 2 รัสเซีย แต่ไซซ์ห่างกันหลายช่วงตัว โอน 306-826 หน่วย สัดส่วน 4-7%

อันดับ 3-5 หมุนเวียนกันระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี

ในแง่มูลค่า ลูกค้าจีนโอนตั้งแต่ 22,874-31,059 ล้านบาท สัดส่วน 49-61%

อันดับ 2 หมุนเวียนกันระหว่างรัสเซีย ที่โอนในช่วงปี 2561 กับปี 2565 ตั้งแต่ 2,296-2,682 ล้านบาท สัดส่วน 4-5% โดยยุคโควิดปี 2563 มีลูกค้าฝรั่งเศสเบียดขึ้นมาด้วยมูลค่าโอน 1,347 ล้านบาท สัดส่วน 4% และปี 2564 ลูกค้าสหรัฐโอน 1,299 ล้านบาท สัดส่วน 3%

วานูอาตู-กัมพูชา-เมียนมา

ที่ต้องจับตามองคือ มีสัญชาติใหม่ที่เบียดเข้ามาอยู่ในทำเนียบท็อป 5 คือ ปี 2564 ลูกค้าวานูอาตู โอน 1,113 ล้านบาท สัดส่วน 3% กับปี 2565 ลูกค้าเมียนมาโอน 2,551 ล้านบาท สัดส่วน 4%

ในขณะที่ปี 2565 ทำเนียบท็อป 10 พบว่ามีลูกค้ากัมพูชาโอนมูลค่า 1,621 ล้านบาท สัดส่วน 3%

รวมทั้งลูกค้าอินเดียที่มีการโอนช่วงปี 2563-2565 มูลค่า 663-1,191 ล้านบาท

“ลูกค้าต่างชาติเน้นซื้อในกรุงเทพฯ กับเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ยังไม่ได้ลงไปเมืองรองสักเท่าไหร่ เพราะเมืองพวกนี้เป็นเบสในการท่องเที่ยว หรือใช้ชีวิตของเขา”

เทรนด์จีนซื้อบ้านหลังที่ 2

ดร.วิชัยกล่าวด้วยว่า สัญชาติที่อยากไฮไลต์ในตลาดคอนโดฯ เมืองไทยคือ กัมพูชา ไต้หวัน ฝรั่งเศส อินเดีย ที่เริ่มเข้ามาติดท็อป 10 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศที่ยังติดอันดับอยู่เรื่อย ๆ คือ อังกฤษ ออสเตรเลีย

พิจารณาจากทำเล พบว่าลูกค้าจีนชอบเชียงใหม่ มีการซื้อคอนโดฯ 1,000 กว่าล้านบาทในปีที่แล้ว รวมทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จุดสังเกตจังหวัดปริมณฑลคนจีนยังคงเป็นลูกค้าหลัก มาพร้อมกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รูปแบบตั้งรกรากลงทุนทำธุรกิจและซื้ออสังหาฯ ในที่สุด

“ลูกค้าจีนตอนนี้ซื้ออยู่อาศัยกับซื้อลงทุน ในระยะถัดไปมีแนวโน้มซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งไทยอาจเสียเปรียบมาเลเซีย เพราะมีข้อจำกัดเรื่อง LTR-long term visa residence รวมทั้งมาเลเซียมีนโยบาย MM2H-My Malaysia Second Home ที่เป็นมาตรการดึงดูดต่างชาติซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยตรง”

ศุภาลัย Alert โควตาต่างชาติ

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายคอนโดฯ ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ 4,000 ล้านบาท เติบโต 53.8% เทียบกับปี 2565 ที่มียอดขาย 2,600 ล้านบาท

“เทรนด์อสังหาฯ ปีนี้ แม้มีปัจจัยลบรอบด้าน แต่หนึ่งใน growth drivers ให้ตลาดยังเติบโตต่อไปได้ มาจากกำลังซื้อลูกค้าต่างชาติ โดยศุภาลัยมีความร่วมมือกับเอเย่นต์จีน 50 ราย ในการเจาะกำลังซื้อลูกค้าจีน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนลูกค้าคนไทยยังเป็นหลักอยู่ที่ 92% ลูกค้าต่างชาติ 8% ของรายได้คอนโดฯ”

ปัจจุบัน ศุภาลัยมีคอนโดฯ พร้อมขายอยู่ระหว่างก่อสร้าง 18,000 ล้านบาท กับคอนโดฯ พร้อมอยู่ 16,000 ล้านบาท รวม 34,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ลูกค้าต่างชาติของศุภาลัยมีไม่น้อยกว่า 10% เทียบกับโควตาซื้อตามกฎหมาย 49% เท่ากับยังมีรูมให้ผลักดันยอดขายได้อีกมาก

แสนสิริตั้งเป้า 12,000 ล้าน

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 แสนสิริเตรียมความพร้อมรับปัจจัยบวก “การกลับมาของตลาดต่างชาติ” ตั้งเป้ายอดขายและยอดโอนลูกค้าต่างชาติ 12,000 ล้านบาท เติบโต 54% เทียบกับปี 2565 ที่มียอดขายลูกค้าต่างชาติ 7,800 ล้านบาท ตอกย้ำเบอร์หนึ่งแบรนด์อสังหาฯ ไทยในใจตลาดต่างชาติไม่ต่ำกว่า 10 ปี

กลยุทธ์ปีนี้ แสนสิริจะรุกตลาดในกลุ่มลูกค้า CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) เพื่อขยายตลาดต่างชาติให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากฐานลูกค้าหลักในกลุ่มจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และรัสเซีย

อนันดาฯ จับมือ 224 เอเย่นต์

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ณ ต้นปี 2566 อนันดาฯ มียอดสะสม 37 โครงการ มูลค่ารวม 74,368 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้าคอนโดฯ มูลค่า 64,017 ล้านบาท แบ่งเป็นโควตาลูกค้าต่างชาติ 22,836 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31% ถือว่าสูงที่สุดในตลาดในตอนนี้

“ยุคโควิดปี 2563-2564 มีเอเย่นต์จีนขอซื้อลดราคาแบบยกโครงการที่เหลือขาย แต่อนันดาฯ ไม่ได้ดัมพ์ราคา เพราะคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้า อยู่ในแนวรถไฟฟ้าเป็นทำเลที่หมดแล้วหมดเลย หาทดแทนไม่ได้ ทำให้บริษัทมีสินค้า RTM-ready to move เยอะที่สุดในตลาด เป็นข้อได้เปรียบการแข่งขันสร้างยอดขายลูกค้าต่างชาติในปีนี้”

ทั้งนี้ อนันดาฯ มีที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ 45,500 ล้านบาท โฟกัสตลาดห้องชุดมีโควตาต่างชาติ 34% มูลค่า 15,500 ล้านบาท ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณบวกยอดโอนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต่างชาติโอนห้องชุดถึง 67% มูลค่า 1,658 ล้านบาท แสดงถึงกำลังซื้อเริ่มกลับเข้ามาจำนวนมาก แผนบุกตลาดปีนี้ร่วมมือกับ 224 เอเย่นต์กระจายอยู่ทั่วโลก รวมทั้งฟรีแลนซ์ 25 รายที่พร้อมจะเป็นเครือข่ายให้อนันดาฯ ในการระบายสต๊อกห้องชุดลอตใหญ่ในปีนี้

29/3/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 29 มีนาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS