info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.19.56.45

ฟื้นแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เปิดบิดเฟสแรก 5 แสนล้านสัมปทาน 50 ปี

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

สนข.ปลุกลงทุนแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง เตรียมชงรัฐบาลใหม่อนุมัติลงทุนเฟสแรก 5 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ประมูลรูปแบบอินเตอร์เนชั่นแนลบิดดิ้ง แจกสัมปทาน 50 ปี สร้างท่าเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน 3 แสนล้าน รับเรือคอนเทนเนอร์ขนสินค้าถ่ายลำ (transhipment) ขนาด 9,000 TEU ควบคู่สร้างมอเตอร์เวย์ 4 เลน 89 กม. วงเงิน 2 แสนล้าน ลุ้นจัดโรดโชว์ดึงต่างชาติลงทุนปลายปีนี้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง อยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อดำเนินการต่อในส่วนค้างดำเนินการที่จะต้องขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในหลักการ และแผนแม่บทการพัฒนา ตามผลการศึกษาเบื้องต้น

“ก่อนหน้านี้ สนข.ตั้งใจจะนำเข้าที่ประชุม ครม. แต่มีการยุบสภาก่อน ต้องรอรัฐบาลใหม่มีมติเห็นชอบหลักการ เพื่อดำเนินการจัดโรดโชว์นักลงทุนในต่างประเทศทั่วโลกต่อไป”

เจาะลูกค้าเรือฟีดเดอร์

รายละเอียดแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี เป็นงานศึกษา 30 เดือน

ศึกษาไว้ไม่เสียหาย แต่ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญก็สามารถหยิบมาพิจารณาได้เลย

ปัจจุบันกำหนดจุดก่อสร้างท่าเรือ 2 จุด คือ ท่าเรือบริเวณแหลมลิ่ว จ.ชุมพร กับท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง คาดหวังว่าเมื่อสร้างเสร็จ จะทำให้เป็นเส้นทางเดินเรือหลักสายใหม่ของเอเชียกับยุโรป

เน้นการขนส่งด้วยเรือขนาดเล็กหรือเรือฟีดเดอร์ ซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าถ่ายลำ (transshipment) ระวางบรรทุก 8,000-9,000 ตู้ เพราะคงไม่สามารถไปแข่งขันดึงเรือใหญ่ขนาดหลายหมื่นตู้ ซึ่งวิ่งในเส้นทางหลักผ่านช่องแคบมะละกาไปสู่ท่าเรือสิงคโปร์ ที่มีปริมาณขนส่งปีละ 35 ล้านตู้ได้

บิสซิเนสโมเดลโครงการ คาดการณ์ปริมาณตู้ผ่านท่าเรือฝั่งระนอง รวม 19.4 ล้านทีอียู แบ่งเป็นสินค้าถ่ายลำ 13.6 ล้านทีอียู สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย 4.6 ล้านทีอียู และสินค้าขนส่งระหว่างจีนตอนใต้และกลุ่มประเทศ GMS 1.2 ล้านทีอียู ส่วนท่าเรือฝั่งชุมพร รวม 13.8 ล้านทีอียู คาดว่าเป็นสินค้าถ่ายลำ 12.2 ล้านทีอียู สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย 1.4 ล้านทีอียู และสินค้าจีนตอนใต้กับ GMS 2 แสนทีอียู

ตามแผนแม่บท จะมีการลงทุนสร้างพอร์ตคาพาซิตี้รองรับปริมาณตู้ผ่านท่าฝั่งละ 20 ล้านทีอียู

เฟส 1 ลงทุน 5 แสนล้าน

องค์ประกอบแลนด์บริดจ์ มีการตัดถนนและทางรถไฟใหม่เชื่อมชุมพร-ระนอง ระยะทางรวม 93.9 กิโลเมตร แนวเส้นทางพาดผ่าน 2 จังหวัด 3 อำเภอ คือ จ.ระนอง อำเภอเมือง, จ.ชุมพรผ่านอำเภอหลังสวน-อำเภอพะโต๊ะ

แบ่งเป็นทางบก 89.35 กิโลเมตร แผนที่วางไว้คือโครงการรหัส MR8 (Motorway+Rail 8) สร้างมอเตอร์เวย์+ทางรถไฟบนเส้นทางเดียวกัน มีการขุด 3 อุโมงค์ทะลุภูเขา โดยการขนส่งใต้ดินมีความชันไม่เกิน 1% ทำให้รถไฟสามารถทำความเร็วในการขนสินค้าได้

กับการก่อสร้างท่าเรือยื่นลงไปในทะเล ซึ่งจะต้องมีการถมทะเลหรือ claim lands ของท่าเรือระนอง 2.15 กิโลเมตร ท่าเรือชุมพร 2.48 กิโลเมตร

ไฮไลต์อยู่ที่วงเงินลงทุน นายปัญญากล่าวว่า แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ประเมินวงเงินลงทุนเต็มโครงการ 1 ล้านล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 4 เฟส โดยเฟสแรกลงทุนสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ถือเป็นการลงทุนแบบฟูลออปชั่น จากนั้นจึงจะเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดและขยายผลในอีก 3 เฟสที่เหลือ

ทั้งนี้ วางแผนเฟสแรกใช้เงินลงทุน 5.22 แสนล้านบาท ได้แก่ สร้างท่าเรือ 2 จังหวัด รวม 2.6 แสนล้านบาท พื้นที่ยกขนสินค้าขึ้น-ลง (SRTO) รวม 6 หมื่นล้านบาท และสร้างมอเตอร์เวย์ รวม 2 แสนล้านบาท เริ่มจากขนาด 4 ช่องจราจร ในอนาคตขยายเพิ่มเป็น 6 ช่องจราจรได้

ไทม์ไลน์ก่อสร้างท่าเรือเฟส 1 จำนวน 20 หน้าท่า (berths) เริ่มก่อสร้างปี 2569 กำหนดเสร็จปี 2573 สัมปทาน 50 ปี ไม่รวมเวลาก่อสร้างใน 5 ปีแรก จากนั้นเมื่อเปิดบริการจึงเริ่มต้นนับเวลาสัมปทาน

ลุ้นจัดโรดโชว์ ต.ค.-พ.ย.นี้

สำหรับปัจจัยการเมืองจะมีผลต่อความสำเร็จโครงการมากน้อยแค่ไหน นายปัญญากล่าวว่า ขึ้นกับโครงการมีการออกแบบให้รัดกุม โดยเชื่อว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ และทุกภาคส่วน?เห็นชอบร่วมกัน จึงมั่นใจว่าภาคการเมืองจะให้การสนับสนุน โดย สนข.สามารถชี้แจงได้ และได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี

ในด้านแหล่งทุนและการลงทุน ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะรูปแบบจะออกไปโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เบื้องต้นประเมินว่าจะมีรัฐบาลใหม่และสามารถขอมติ ครม.ได้ภายในเดือนตุลาคม จากนั้นกำหนดโรดโชว์ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 เหตุผลที่ใช้เวลาโรดโชว์เพียง 2 เดือน เพราะโฟกัสกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย 10 กลุ่มจากทั่วโลก

“โครงการนี้ลงทุนแบบเหมาแพ็กเกจเดียว ทำแยกไม่ได้เพราะต้องทำให้เป็นภาพรวมเดียวกัน รูปแบบจะมีการประมูลแบบอินเตอร์เนชั่นแนลบิดดิ้ง เปิดให้ผู้ประกอบการนักลงทุนไทย ร่วมกับนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้ความเสี่ยงการลงทุนสำหรับรัฐบาลไทยค่อนข้างน้อย

เราให้นักลงทุนทั่วโลกมาสร้างให้ จากพื้นที่ว่างเปล่า พื้นที่ยังไม่มีความเจริญ เกิดนิคมอุตสาหกรรม ธนาคาร มีเรือมาจอด พื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น”

โมเดลการลงทุน กิจกรรมหน้าท่าจะได้สัมปทานลงทุนท่าเรือกับมอเตอร์เวย์ ส่วนกิจกรรมหลังท่าเรือแล้วแต่นักลงทุนจะมองโอกาส และมาลงทุนเอง โดยประมูลแบบโอเปอเรเตอร์รายเดียว เพราะมีตัวอย่างในอดีต ต้องพัฒนาโครงการให้เสร็จพร้อมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

“กลุ่มทุนใหญ่ เราทำมาร์เก็ตซาวน์ดิ้ง เชิญนักลงทุนรายใหญ่แบบเปิดทั้งไทยและต่างชาติ มารับฟังข้อคิดเห็นต่อโครงการ โฟกัสกลุ่มสายการเดินเรือรายใหญ่ กลุ่มโลจิสติกส์ คาดว่าจะมีการ JV-joint venture ระหว่างนักลงทุนไทยและต่างชาติ ต้องเป็นกลุ่มที่เดินเรือเป็น มีความเชี่ยวชาญทางการเงินและท่าเรือ” นายปัญญากล่าว

6/8/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 สิงหาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS