ดีเวลอปเปอร์แบรนด์ดังอีกรายของวงการ เนรมิต สร้างเอี่ยม ประสบการณ์ในอดีตเคยเป็น co-CEO ตีคู่กับ วู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย Country CEO แห่งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
ปัจจุบันซื้อกิจการของฝากจากทุนท้องถิ่นเจ้าของเดิม ภารกิจเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับการปั้นแลนด์มาร์กใหม่ที่ อ.แม่ริม ในนาม กาดเกรียงไกรมาหามิตร กับโฉมใหม่ที่เป็นร้านขายของฝากของโรงงานเกรียงไกรผลไม้ ที่อยู่อำเภอแม่ริมมากว่า 42 ปี ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา
เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ สร้างความสำเร็จให้สำเร็จได้เหมือนเนรมิต จากนักธุรกิจที่ชื่อ ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม โปรไฟล์ไม่ธรรมดา อดีตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของค่ายอสังหาริมทรัพย์มหาชนแบรนด์ดัง และเป็นศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความคิดอยากย้ายไปอยู่เชียงใหม่ในช่วงวัยเกษียณ
กาดเกรียงไกรมาหามิตร อยู่ในใจกลางอำเภอแม่ริมเลยครับ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอ ห่างจากตัวอำเภอไม่ถึง 2 กิโลเมตร สังเกตง่าย ๆ ก่อนขึ้นไปเที่ยวม่อนแจ่ม โป่งแยง จะมีปั๊ม ปตท. ตรงสามแยก อยากให้มองไปฝั่งตรงข้าม กาดเกรียงไกรมาหามิตรของเราจะอยู่เยื้องปั๊ม ปตท. ตรงนั้นเลย
ถ้าขับรถมาสามารถยูเทิร์น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยทางซ้ายมือซอยแรก เข้าไปแค่ 20 เมตร หรือหากไปเที่ยวบนดอยมาแล้ว ก่อนจะกลับเข้าเมือง ก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยได้เลยครับ คำกล่าวเชื้อเชิญของ ตุ้ย-เนรมิต
จากลูกค้ากลายเป็น Owner
จากที่แวะเวียนมาตามหาที่ดินเพื่อพักอาศัยในบั้นปลายชีวิตในเชียงใหม่ ทุกครั้ง ตุ้ย-เนรมิต ต้องแวะมาร้านขายของฝากชื่อดังของเกรียงไกรผลไม้
จะเรียกว่าเป็นบุพเพสันนิวาสก็ว่าได้ เพราะส่วนตัวก็ไม่คิดว่าจะได้มาทำตรงจุดนี้ ผมใช้เวลาอยู่ 8 เดือน บินไปบินมาระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพื่อหาซื้อที่ดินทำการเกษตรครบวงจรต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รู้จักผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโรงงานเกรียงไกร ผลไม้ กระทั่งซื้อของฝากกลับมาบ่อยจนรู้จักโรงงานและเจ้าของ
และก็เป็นโชคดีที่เวลานั้นโรงงานเกรียงไกรผลไม้ประกาศขายกิจการ ผมก็ลองพูดคุยดูเพราะคิดว่าน่าจะดีที่จะมีอะไรทำบ้างที่ไม่เครียดจนเกินไปในยามบั้นปลายชีวิต จะได้ตื่นนอนตอนเช้าแบบมีภารกิจต้องทำอยู่บ้าง จึงตัดสินใจไปขอรับช่วงกิจการมาทำต่อ ซึ่งก็มองว่าโรงงานถือเป็นการผลิตแบบกลางน้ำ ซึ่งหากเราบริหารดี ๆ ก็จะช่วยเกษตรกรต้นน้ำได้ และพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ส่งสู่มือผู้บริโภคหรือปลายน้ำได้
เนรมิต ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาด้านการผลิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ พร้อมกับพัฒนาและต่อยอดให้เกิดระบบการทำงานที่ทันสมัยขึ้น มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามตามสมัย พร้อมกับความฝันอีกมากมายต่อพื้นที่ของโรงงานดองผลไม้ ที่อยากจะก่อร่างสร้างให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ชุมชนชาวแม่ริมและชาวเชียงใหม่อย่างแท้จริงและยั่งยืน
ปั้นแลนด์มาร์กใหม่ อ.แม่ริม
ย้อนเวลากลับไปในอดีตเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา โกดังแห่งนี้ใช้เป็นที่เก็บกองไหกว่า 50,000 ใบ ใช้ดองผัก ผลไม้ต่าง ๆ ปัจจุบันได้รับการปรับปรุง-พัฒนาให้เป็นตลาด หรือกาด เพื่อคนในท้องถิ่นได้มีที่จำหน่ายสินค้าในท้องถิ่น หรือจะเรียกว่า ให้ได้พามิตรมาหามิตร ทั้งมิตรในชุมชนและมิตรนักท่องเที่ยวต่างถิ่น จนเป็นมหามิตรของกันและกัน
ภายนอกของโกดังคงสภาพเดิมเอาไว้ ทั้งผนังหลังคาและอิฐบล็อกช่องลม ได้เห็นร่องรอยวิธีดองแบบโบราณ ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างพื้นที่เป็นผืนของดินจริง ๆ และการระบายอากาศจากบล็อกช่องลม เพื่อช่วยทำให้ของดองมีรสชาติดี
ความตั้งใจเก็บของเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ต่อเติมของใหม่เท่าที่จำเป็น โดยแยกเลเยอร์วัสดุใหม่กับเก่าให้เห็นความต่างของเวลาอย่างชัดเจน
ตอนซื้อที่นี่ ในฐานะคนทำอสังหาริมทรัพย์มาก่อน จึงตั้งใจอยากชวนชุมชนมาขายของ ทำเป็นกาดตรงสนามหญ้าข้างหน้าโรงงาน ตั้งแคร่กันง่าย ๆ แต่ภายหลังมาเห็นโกดังเก็บไหดองเดิมของเรา ที่ปัจจุบันเราไม่มีไหจำนวนมากเช่นเดิมใช้งานแล้ว จึงคิดว่าเอาโกดังเก็บไหดองมาทำดีกว่า เป็นพื้นที่มีหลังคา ในฤดูฝนชุมชนก็ยังคงทำการค้ากันได้
น่าสนใจว่ามีคู่เทียบอยู่ไกลถึงเกาะอังกฤษ ตอนนั้นก็นึกถึง borough market ที่ลอนดอนนะครับ เป็นตลาดขายของพื้นถิ่นบ้าน ๆ เหมือนกัน แต่สะอาดสะอ้าน จุดประทับใจที่อยากสร้างบรรยากาศ ให้นักท่องเที่ยวไปเดินกันสนุกสนานเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากกลับมาอีก พื้นที่ในโกดังของเราเลยมีทั้งร้านกาแฟ กาดชุมชน ร้านขนมไทย แกลเลอรี่
และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็น กาดเกรียงไกรมาหามิตร ขึ้นมา
ยะด้วยใจ๋ คอมมิวนิตี้ชุมชน
พื้นที่กว้างขวางขนาดพันตารางเมตร สนับสนุนคนที่มีฝีมือได้มีที่แผลงฤทธิ์ ซึ่งผลงานที่ล้วนตั้งใจทำ จำหน่ายทั้งของกินของใช้ของฝาก เพื่อสนับสนุนคนท้องถิ่นด้วยแนวคิด ยะด้วยใจ๋ บรรยากาศเป็นกันเองแบบ มาหามิตร
คติคำหนึ่งที่เป็นของพวกเราพลเมืองโรงงานเกรียงไกรผลไม้ทุกคน ที่ว่า ยะด้วยใจ๋ แปลว่าทำด้วยใจ คำว่ามีคุณภาพหมายถึง ทำด้วยใจ เลยกลายเป็นกรอบการพิจารณาคัดเลือกสินค้าเข้ามาขายในพื้นที่กาด คนที่ทำแบรนด์ท้องถิ่นที่ทำด้วยใจมาอยู่ร่วมกัน รายได้ของคนท้องถิ่นก็อยู่ในท้องถิ่น รู้สึกว่ามันดีกับการที่จะหาสินค้าสักชิ้นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ต้องมาที่นี่เท่านั้นถึงจะเจอสินค้ารายนั้น
รวมทั้ง แบรนด์ที่มาร่วมกับเรา ทุกคนต้องมาพูดคุยกันก่อนเพื่อให้เข้าใจกันและกัน และให้ความคิดเห็นต่อกันและกัน จนแน่ใจว่าจะเดินฝ่าฟันไปในแนวทางเดียวกันได้หรือไม่ สุดท้ายก็เลยเป็นที่มาของกาดชุมชนแห่งนี้ โมเดลธุรกิจตั้งแต่เปิดกาดมา เราพยายามทำให้พ่อกาดแม่กาดที่มาขายสินค้าไม่เครียด โดยการไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่ แต่ใช้วิธีแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย
วันไหนขายไม่ได้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ แต่ถ้าขายได้เราจะขอเพียง 10% เพื่อให้ขายของในราคาที่ไม่สูงมากแล้วสินค้านั้นเข้าไปถึงมือ และให้ลูกค้าได้ใช้งานเร็วขึ้น
พ่อกาดแม่กาดก็คือมิตรของเรา มาหาและช่วยกันทำให้กาดแห่งนี้เป็นกาดชุมชนที่แท้จริง คนที่มากาด ผมก็เชื่อว่าคนมากาดไม่ได้มาเพื่อต้องการซื้อของเพียงอย่างเดียว แต่บางทีมาเพื่อมานั่งคุยกัน มานั่งดื่มกาแฟด้วยกัน ได้มีเพื่อนคุยกัน สัพเพเหระด้วยเรื่องนู้นเรื่องนี้ สมัยก่อนมีคำว่า สภากาแฟ มันก็มีเหตุผลอย่างนั้น ดังนั้น กาดก็เป็นที่รวมของคนที่อยากจะมีมิตรเจอมิตรใหม่ ๆ เกิดมิตรภาพและเป็นมหามิตรที่ดีกันต่อไป
1% ของรายได้ มิตรช่วยมิตร
วิสัยทัศน์แบบบินสูง นำมาสู่โครงการมิตรช่วยมิตร กันรายได้ 1% ส่งกลับคืนไปยังโรงเรียน สถานพยาบาล สถานผู้สูงอายุในอำเภอแม่ริม ผู้สูงอายุสนับสนุนกิจกรรมผู้สูงอายุต่าง ๆ โดยกาดเกรียงไกรมาหามิตรจะบริจาคให้ 3 สถานที่นี้ ทุก 3 เดือน
เป็น execution ของวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริง และจับต้องได้จริง ได้เป็นส่วนหนึ่งได้ช่วยเหลือกัน เงินที่ชุมชนมาใช้ที่นี่ เงินที่นักท่องเที่ยวต่างถิ่นมาใช้ในอำเภอแม่ริมแล้ว จะมีส่วนหนึ่งที่ย้อนกลับไปช่วยชุมชนในเชิงสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย
10/9/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 10 กันยายน 2566 )