info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.220.160.216

“ไทยซีเพลน-สยามซีเพลน” ทุ่มเปิดตลาด “เครื่องบินทะเล”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ในปี 2567 นี้ธุรกิจการบินกลับมาคึกคักและมีสีสันอีกครั้งแน่นอน โดยมีเครื่องบินทะเล หรือ “ซีเพลน” (Seaplane) ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็กจำนวน 2 ราย ได้แก่ ไทยซีเพลน ที่มี “กสิณพจน์ รอดโค” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และสยาม ซีเพลน ซึ่งมี “วรกัญญา สิริพิเดช” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

โดย “ไทยซีเพลน” เดิมชื่อว่า อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ เคยให้บริการเที่ยวบินเพื่อชมภูมิทัศน์ เช่น กระบี่ เกาะพีพี อ่าวพังงา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นไทย ซีเพลน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท วางงบประมาณลงทุนในช่วง 1-3 ปีแรกไว้กว่า 100 ล้านบาท (รวมการจัดหาอากาศยาน บุคลากร)

ปัจจุบันเปิดให้บริการบินชมทิวทัศน์แล้ว และคาดว่าในไตรมาส 3/2567 หรือเร็วกว่านั้นจะสามารถทำการบินขึ้น-ลงจากพื้นน้ำได้

ทั้งนี้ จะทำการบินในเส้นทางบินไม่เกิน 1.30 ชั่วโมง ในโซนพื้นที่อันดามันก่อน อาทิ เส้นทางบินภูเก็ต-กระบี่ (ไม่ผ่านสนามบิน), ภูเก็ต-เกาะพีพี, กระบี่-เกาะพีพี, ภูเก็ต-เกาะสิมิลัน และภูเก็ต-เกาะหลีเป๊ะ

ด้าน “สยาม ซีเพลน” จดทะเบียนตั้งเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 32 ล้านบาท มีกรรมการ 4 ราย คือ นายเดนนิส อิมมานูเอล เคลเลอร์ นายไมเคิล เบลนีย์ เดวิดสัน นางสาววรกัญญา สิริพิเดช และนายโทมาส บอมบ์การ์ดเนอร์

เบื้องต้นมีแผนลงทุนประมาณ 350-400 ล้านบาท มีเครื่องบิน 3 ลำ และมีแผนเพิ่มเป็น 15 ลำภายใน 5 ปี โดยคาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ไตรมาส 1/2567 และเริ่มทำการบินไปยังพื้นที่ปฏิบัติการบิน คือ 1.จากกรุงเทพฯ (ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ) สู่ฝั่งอ่าวไทย เช่น ระยอง ตราด พัทยา และจากภูเก็ตหรือกระบี่ไปยังเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะยาวน้อย เกาะพีพี เขาหลัก จังหวัดพังงา

ขณะที่ “ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “วิทยุการบินแห่งประเทศไทย” หรือ บวท. ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ บวท.ได้รับมอบนโยบายให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการควบคุมอากาศยานทางทะเล (Seaplane) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว และช่วยลดความแออัดภายในสนามบินหลักของประเทศ

โดยแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมทั้งวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง วางแผนเส้นทาง และประเมินโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับข้อมูลและคำแนะนำประกอบการศึกษา โดยจะนำผลการศึกษานำเสนอให้กระทรวงคมนาคมทราบต่อไป ซึ่ง บวท.มีความพร้อมในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ สำหรับ Seaplane ตามที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนประสงค์ที่จะเปิดให้บริการในทุกพื้นที่ทางทะเล

ส่วนการอนุญาตให้ทำการบินอากาศยานทางทะเลนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกำลังเร่งดำเนินการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสนามบินน้ำ หรือที่ขึ้น-ลงชั่วคราวทางน้ำ

โดยต้องหารือร่วมกับหน่วยงานอนุญาตภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้พื้นที่ขึ้น/ลงทางน้ำ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกำหนดของกฎหมาย

5/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 ธันวาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS