info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.139.107.241

“ร้านสะดวกซัก” แข่งเดือด ผุดสาขาบุกอำเภอ-ตำบล

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

เทรนด์ร้านสะดวกซักคึกคัก “อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้” ผู้ผลิตเครื่องซักผ้ารายใหญ่มั่นใจแนวโน้มตลาดโตต่อเนื่อง เผยเทรนด์ผู้ประกอบการขยายปูพรมสาขาลงระดับอำเภอ-ตำบล ลุ้นตัวเลขทะลุ 5,500 แห่ง เครื่องซักหยอดเหรียญจากญี่ปุ่นบุก แบรนด์ดัง “อ๊อตเทริ-ลอนดรี้บาร์-วอช เอ็กซ์เพรส-วอช เอน จอย” แห่เปิดศึกแย่งแฟรนไชซี

ธุรกิจร้านสะดวกซัก หรือร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง โดยย้อนหลังกลับไปจะพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีร้านสะดวกซักใหม่เปิดเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 แห่ง ทำให้สิ้นปี 2566 ที่ผ่านมามีร้านสะดวกซักมากกว่า 4,550 ร้าน หลังจากธุรกิจนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือ ยังมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งร้านที่เป็นแฟรนไชส์และร้านอิสระ

แนวโน้มโตต่อเนื่อง

นายสุกรี กีไร ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ อาทิ แบรนด์ Speed Queen, Huebsch, IPSO และ Primus เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

สำหรับปีนี้ บริษัทมั่นใจว่าตลาดยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นแล้วในแง่ของจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีความคุ้นชินและนิยมใช้บริการร้านสะดวกซักที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยจากการคาดการณ์ว่าด้วยจำนวนประชากรกว่า 66 ล้านคน ประเทศไทยสามารถมีร้านสะดวกซักได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นร้าน

จากนี้ไปแนวโน้มการเปิดร้านสะดวกซักในระดับอำเภอในจังหวัดต่าง ๆ จะมีให้เห็นมากขึ้น และมีการแข่งขันเพื่อแย่งทำเลที่เป็นย่านชุมชนและย่านที่อยู่อาศัยมากขึ้น จากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซักต่างมุ่งไปยังชุมชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน คอนโดฯ หอพัก สถานศึกษา ฯลฯ

เนื่องจากตลาดในระดับอำเภอยังมีช่องว่างและมีศักยภาพการเติบโตสูงและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะลงทุนหรือขยายสาขา ซึ่งแนวโน้มนี้เริ่มมีให้เห็นหลังมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่เริ่มเข้าไปทดลองเปิดให้บริการและพบว่าได้รับผลตอบรับดี และจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับขนาดของร้านสะดวกซักที่จากนี้ไปจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จำนวนเครื่องต่อสาขาจะมีมากขึ้น

“ด้วยจำนวนร้านสะดวกซักที่มากขึ้นดังกล่าว จากนี้ไปอาจจะเริ่มมีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น การขยายหรือการเปิดสาขาที่เจาะลึกลงไปในระดับตำบลที่อาจจะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเลี่ยงการแข่งขันในเขตตัวเมือง เช่นเดียวกับความพยายามชิงฐานลูกค้าด้วยบริการเสริมที่ตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวกสบาย เช่น บริการนำผ้าออกจากเครื่อง ไปจนถึงบริการการพับผ้า ซึ่งโมเดลนี้กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หรือการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มอย่าง เครื่องรีดผ้าแบบหยอดเหรียญ เป็นต้น และที่น่าจับตาต่อไปก็คือ จากนี้ไปอาจจะมีเครื่องซัก-เครื่องอบผ้าแบรนด์จีนรุกเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ซึ่งตรงนั้นอาจจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการ”

แบรนด์ดังญี่ปุ่นโดดร่วมลง

แหล่งข่าวจากวงการร้านสะดวกซักเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักได้รับความนิยมมากขึ้น และมีแบรนด์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงสัก 2-3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งที่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศ และแบรนด์ไทย รวมไม่ต่ำกว่า 15-20 แบรนด์ และมีการทำการตลาดเชิงรุก ด้วยการประกาศหาพันธมิตรและผู้ที่สนใจจะลงทุนในรูปของแฟรนไชส์ ผ่านพนักงานฝ่ายขาย และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักลงทุน

ผู้ที่เกษียณอายุการทำงาน เจ้าของหอพัก คอนโดฯ หรือโรงแรม ผู้ที่สนใจต้องการจะมีธุรกิจ เป็นต้น ส่วนในแง่ของการลงทุนแฟรนไชส์จะมีตั้งแต่ 8-9 แสนบาท ไปจนถึง 3-4 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับโมเดล ขนาดของร้าน และมีการจูงใจด้วยจุดเด่นและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาการคืนทุน ระยะเวลาการรับประกันเครื่อง-อะไหล่ การซ่อมบำรุงเครื่อง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแบรนด์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญร้านสะดวกซักจากญี่ปุ่น ชื่อ TOSEI กระโดดเข้ามาทำตลาด และเริ่มทยอยทำการตลาดตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญรายใหญ่จากญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 45% ของตลาดเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญขนาดใหญ่ และมีพาร์ตเนอร์กับร้านสะดวกซักมากถึง 8,500 สาขาทั่วโลก โดยเปิดรับพาร์ตเนอร์ทั้งนักลงทุน เจ้าของที่ดิน และผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์

“จากแนวโน้มร้านสะดวกซักที่ได้รับความนิยมจากทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุนที่เกิดขึ้น และตลาดที่เติบโตต่อเนื่องดังกล่าว เชื่อว่าปีนี้ตัวเลขจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นอาจจะมีไม่ต่ำกว่า 800-1,000 แห่ง หรือสิ้นปีนี้ตัวเลขอาจจะใกล้ ๆ 5,500 แห่ง”

ค่ายใหญ่เปิดศึกแย่งแฟรนไชซี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจพบว่าขณะนี้ แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักหลาย ๆ รายยังเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักสัญชาติไทย ที่ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 1,000 สาขา มีแพ็กเกจแฟรนไชส์ราคาจะแตกต่างกันตามไซซ์ของร้านและตามยี่ห้อเครื่อง OASIA และ HUEBSCH เริ่มที่ไซซ์ M เครื่องซัก 5 เครื่อง เครื่องอบระบบแก๊ส 2 เครื่อง ราคา 2,422,380 บาท และ 2,790,200 บาท ส่วนไซซ์ L เครื่องซัก 7 เครื่อง เครื่องอบระบบแก๊ส 3 เครื่อง ราคา 3,163,400 บาท และ 3,701,400 บาท

ส่วน ลอนดรี้บาร์ เชนร้านสะดวกซักรายใหญ่จากมาเลเซีย ปัจจุบันมีสาขากว่า 800 สาขา ในไทย มาเลเซีย บรูไน ตุรกี แพ็กเกจแฟรนไชส์ราคาเริ่มต้น 2.25 ล้านบาท (พื้นที่ 40-60 ตร.ม.) ถึง 3.95 ล้านบาท (พื้นที่ 60-90 ตร.ม.) พร้อมชูจุดเด่นฟรีน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาฆ่าเชื้อ (มีเครื่องจ่ายน้ำยาให้กับเครื่องซักโดยอัตโนมัติ) นอกจากนี้ยังมีแผนขยายไปยังกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามด้วย

ด้าน วอช เอ็กซ์เพรส ที่ใช้โมเดลขยายสาขาที่แตกต่างจากคู่แข่ง โดยไม่มีโมเดลแฟรนไชส์ แต่เปิดรับข้อเสนอพื้นที่ที่มีศักยภาพ หากผ่านการพิจารณาจะติดต่อขอเช่าพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเปิดร้าน ที่มีจุดเด่นเป็นบริการเสริมในร้าน คือ ซัก อบ พับ ที่มีพนักงานทำหน้าที่ในการนำผ้าเข้าและออกจากเครื่องซัก-อบ รวมถึงพับผ้าให้ และคิดค่าบริการ 40 บาท

สำหรับ วอช เอน จอย นอกจากการชูจุดขายในเรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้า น้ำ และแก๊ส ที่ต่ำกว่าแบรนด์อื่น เนื่องจากใช้เครื่องที่ประหยัดพลังงาน สำหรับค่าแฟรนไชส์ Size M เริ่มต้นที่ 2,890,000 บาท พื้นที่ 40 ตร.ม. ขึ้นไป, Size L เริ่มต้นที่ 3,950,000 บาท พื้นที่ 50 ตร.ม. ขึ้นไป และ Size XL เริ่มต้นที่ 4,550,000 บาท พื้นที่ 60 ตร.ม. ขึ้นไป

ผู้สื่อข่าวรางยงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แม้ว่าแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักจะได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการจะลงทุน แต่อีกด้านหนึ่งผู้สนใจการลงทุนควรมีการศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมา ซึ่งเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ก็เคยมีปรากฏการณ์ของบริษัทเจ้าของระบบแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักรายหนึ่งปิดบริษัทหนี โดยอ้างเหตุว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และลอยแพผู้ลงทุนแฟรนไชส์ โดยมีร้านแฟรนไชส์ 70-80 ราย ที่ได้รับผลกระทบและต้องหยุดกิจการไป ทำให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

21/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS