info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.14.6.194

2567 อสังหาฯผ่อนคันเร่งลงทุน “ปีแห่งการประคองตัว” ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

พี่ใหญ่วงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ส่งสัญญาณแรงในการจัดทำแผนธุรกิจปี 2567 ไม่มีความจำเป็นต้องลอนช์โครงการใหม่ให้มีการเติบโต ตราบใดที่โลกทั้งใบยังเต็มไปด้วย Unknown Factor หรือปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้

คอนเฟิร์มซ้ำด้วยค่ายโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า บริษัทจัดทำแผนธุรกิจภายใต้โมเดลประคองตัวหรือ Recovery Plan ถึงแม้ผลประกอบการปี 2566 ถือว่าจบสวย เพียงแต่รายได้ไม่ได้โตถึงขีดที่คาดหวังอยากให้โตมากกว่านี้ ที่สำคัญ เทรนด์ของการทำธุรกิจแบบเศรษฐกิจพลิกฟื้นหรือประคองตัวไม่ได้จบแค่ปีนี้ หากแต่ประเมินว่าจะเป็นเทรนด์สำคัญที่ส่งต่อไปถึงปี 2568 อีกด้วย

แลนด์ลดสเกลยอด Project Launch

ประเดิมการประกาศแผนธุรกิจเป็นรายแรกของปีมังกรทอง “นพร สุนทรจิตต์เจริญ” ประธานกรรมการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) สรุปผลงานปี 2566 เปิดครบ 17 โครงการ มีเพียง 1 คอนโดมิเนียม ที่เหลือเป็นบ้านแนวราบ มูลค่าโครงการรวม 43,460 ล้านบาท

ย้อนกลับไปเปรียบเทียบตอนต้นปี 2566 กลุ่มแลนด์ฯประกาศแผนเปิดตัวใหม่ 17 โครงการ แต่มูลค่าโครงการรวมอยู่ที่ 34,960 ล้านบาท ในขณะที่ตอนสิ้นปีมีมูลค่าเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มเป็น 43,460 ล้านบาท คำอธิบายมาจากเหตุการณ์พิเศษเพราะสลับร่างการเปิดตัวคอนโดฯ จากเดิมวางแผนเปิดตัวแบรนด์ เดอะคีย์ ศรีนครินทร์ เกาะแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มูลค่า 6,500 ล้านบาท แต่ตัดสินใจระงับโครงการไม่มีกำหนด เพราะมีแนวโน้มการแข่งขันสูง อาจต้องไปแข่งขันทำสงครามราคา

จากนั้น มีการสลับแผนลงทุนหันมาเปิดตัวคอนโดฯ ริมเจ้าพระยาแบรนด์เฉพาะกิจ “วันเวลา ณ เจ้าพระยา” มูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาทแทน ทำให้มูลค่าโครงการรวมทั้งบริษัทเพิ่มอีก 8,500 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าเปิดตัว 34,960 ล้านบาท ขยับเป็นมูลค่าโครงการรวม 43,460 ล้านบาท

จุดโฟกัสดีกรีการลงทุนปี 2567 อยู่ที่แผนธุรกิจปีใหม่ (Project Launch) ตั้งเป้าเปิดตัว 11 โครงการ เป็นบ้านแนวราบทั้งหมด มูลค่าโครงการรวม 30,200 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าหากเทียบกับยอดเปิดตัวใหม่ของปี 2566 จำนวน 43,460 ล้านบาท เท่ากับปีนี้ลดสเกลการลงทุนลง -30% แต่หากเทียบกับเป้าเปิดตัวครั้งแรกในตอนต้นปีที่วางแผนไว้ 34,960 ล้านบาท ถือว่าก็ยังเป็นแผนลดสเกลการลงทุน หรือแผนธุรกิจแบบผ่อนคันเร่งการลงทุนอยู่ดี โดยลดลง -12%

นิยามแผนธุรกิจแบบประคองตัว

โดย “นพร” ตอบคำถามว่าแผนลงทุนปีนี้ไม่ใช่แผนธุรกิจแบบทรงตัว แต่เรียกว่าเป็นแผนธุรกิจประคองตัวมากกว่า

“ปี 2566 ภาคเอกชนคาดหวังหลังการเลือกตั้งทั่วไปเรียบร้อย น่าจะมีอะไรดูดีขึ้น แต่ก็อย่างที่ทราบกัน ปีนี้มองจากนโยบายรัฐ การดึงดูดลงทุนจากต่างประเทศ นโยบายเงินดิจิทัล คาดหวังว่าเศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้น มองเชิงดอกเบี้ย เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) พูดถึงการชะลอขึ้นดอกเบี้ย น่าจะเห็นอเมริกาลงดอกเบี้ยในไตรมาส 2/67 หรือช้าหน่อยก็กลางปี ก็ต้องมาดูบ้านเราว่าดอกเบี้ยจะเป็นยังไง”

CEO แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวต่อว่า ความคาดหวังเศรษฐกิจปีนี้ น่าจะมีภาพที่ดีขึ้น มีการสเปนดิ้ง (ยอดจับจ่ายใช้สอย) ที่ดีขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดิมตั้งเป้า 25 ล้านคน แต่ก็มามากกว่าที่คิด 28 ล้านคน ทำให้โรงแรมกลุ่มแลนด์ฯในกรุงเทพฯ และพัทยามีอัตราเข้าพัก (Occupancy Rate) 90% เท่ากับยุคก่อนโควิด ค่อนข้างโอเค

แต่ยังเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน กับแบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมในฝั่งของโพสต์ไฟแนนซ์ และการปล่อยกู้ผู้ประกอบการในฝั่งของพรีไฟแนนซ์ เพราะฉะนั้น การประเมินแนวโน้มปีนี้ต้องเรียกว่าเดา และเดาว่าน่าจะมีความหวังที่ดีได้

“ในด้านปัจจัยเสี่ยงในการทำธุรกิจ มีอิมแพ็กต์แบบที่เราไม่รู้ตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับอิสราเอล-ฮามาส เป็นปัจจัยคาดเดาไม่ได้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังสถานการณ์โควิด เราปรับแอสเซตโลเกชั่นมากขึ้น เริ่มก่อสร้างโรงแรมอีก 3-4 แห่ง ซึ่งโมเดลธุรกิจของแลนด์ฯอาจมีความแตกต่างจากดีเวลอปเปอร์อื่น ๆ เพราะมีลักษณะกึ่งโฮลดิ้งเรามีรายได้ 3 ทาง มาจากคอร์บิสซิเนสธุรกิจที่อยู่อาศัยแบบโอนกรรมสิทธิ์ ธุรกิจให้เช่าจากโรงแรม ห้างอพาร์ตเมนต์ในอเมริกา และธุรกิจอินเวสต์เมนต์ เราคิดเยอะ ทุก ๆ บาทที่ลงทุน สร้างรีเทิร์นระยะกลางกับระยะยาว อะไรมากกว่ากัน จึงต้องพยายาม Adjust Port ลงทุนอยู่ตลอดเวลา”

โนเบิลฯเปิดโครงการใหม่ -38%

ถัดมา “ธงชัย บุศราพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ประกาศ Business Direction 2024 ตั้งเป้าสร้างยอดรายได้รวม 14,000 ล้านบาท เป้ายอดขาย 18,000 ล้านบาท ด้านแผนลงทุน ตั้งเป้าเปิดตัว 7 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 14,310 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 10,230 ล้านบาท และบ้านแนวราบ 3 โครงการ มูลค่ารวม 4,080 ล้านบาท

โดยมีพระเอกเป็นโครงการบนทำเลซูเปอร์ไพรม ทำห้องชุดซูเปอร์แบรนด์ “ดิ เอมบาสซี ไวร์เลส” ร่วมทุนกับกลุ่มฮ่องกงแลนด์ จำนวน 757 ยูนิต บนที่ดิน 3 ไร่เศษ มูลค่าโครงการ 9,550 ล้านบาท และมีสัญญาณบวกมาจากยอดเปิดพรีเซลล่าสุด ณ ต้นไตรมาส 1/67 มียอดจองซื้อตอบรับเข้ามาแล้ว 2,200 ล้านบาท เกินระดับความคาดหมายของบริษัท ในราคาเมจิกนัมเบอร์เฉลี่ยตารางเมตรละ 3 แสนบาทบวกลบ

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปดูแผนลงทุนตอนต้นปี 2566 ประกาศเปิดตัว 10 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 23,300 ล้านบาท ตอนสิ้นปีเปิดได้จริงมูลค่ารวม 18,900 ล้านบาท โดยเลื่อนอย่างน้อย 2 โครงการคอนโดฯ มาเปิดตัวในปีนี้ เมื่อเทียบกับแผนลงทุนปี 2567 ที่ตั้งเป้าเปิดโครงการใหม่มูลค่ารวม 14,310 ล้านบาท เท่ากับผ่อนคันเร่งการลงทุนลง 8,990 ล้านบาท หรือลดลง -38%

“ปีนี้นิยามการทำธุรกิจยังเป็นแผน Recovery ซึ่งปี 2566 เราน่าจะพ้นจากวิกฤตแล้ว และโนเบิลฯรีคัฟเวอร์อย่างจริงจัง ตัวเลขขาย กำไร ก็เพิ่มขึ้นมา แต่มันยังไม่ดีอย่างที่เราคิด ต้นปีที่แล้วผมอาจจะคาดหวังว่ามันดีกว่านี้ แต่พอจบปีแล้วย้อนกลับไปดู ถ้าเราหวังไว้ 100% อาจจะได้สัก 70% ปีนี้อาจจะได้สัก 80% เหลืออีก 20% ที่ยังไม่กลับมา สำหรับเทรนด์ปี 2568 ผมมองว่าก็ยังอยู่ในช่วงรีคัฟเวอรี่อยู่ ตราบใดที่ยังไม่เห็นทัวริสต์กลับมาเต็มที่ ไม่เห็นเศรษฐกิจกลับมาเต็มสูบ”

รุกธุรกิจบริการ-รักษาที่มั่นลูกค้าต่างชาติ

การปรับตัวในภาวะแผนธุรกิจ Recovery หรือแผนธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กลุ่มโนเบิลฯเลือกที่จะขันนอตโมเดลธุรกิจ ด้วยการแตกบริษัทลูก “บริษัท เซิร์ฟ โซลูชั่นจำกัด” วัตถุประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้บริการหลังการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด อาทิ ธุรกิจบริหารนิติบุคคลบ้านและคอนโดฯ ธุรกิจบริการฝากขาย-ปล่อยเช่า ธุรกิจจัดหาเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจไฟเบอร์ออปติกในโครงการที่อยู่อาศัย ธุรกิจบริการอีวีชาร์จเจอร์ ธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บนหลังคาโครงการที่อยู่อาศัย เป็นต้น รวมทั้งมองหาดีล M&A

ควบคู่กับการปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการโปรโมต 2 ผู้บริหารคนสำคัญของบริษัท “ศิระ อุดล” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับ “อรรถวิทย์ เฉลิมทรัพยากร” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจใหม่ รับผิดชอบบริหารบริษัทเซิร์ฟ โซลูชั่น

ในฐานะอดีต CFO ของโนเบิลฯ “อรรถวิทย์” รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนบริษัทลูก เซิร์ฟ โซลูชั่น ปั้นรายได้จาก 100 ล้านบาท สู่รายได้ 500 ล้านบาท ก่อนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ Spin off ภายใน 3 ปี ตามแผนการเติบโตระยะกลางปี 2567-2569

รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของตลาดลูกค้าต่างชาติ ภายใต้การดูแลของ “แฟรงก์ ข่าน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จากผลงานมียอดขายลูกค้าต่างชาติ 5,700 ล้านบาทในปี 2566 เป้าใหม่ในปีนี้วางไว้ที่ 6,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของเป้ายอดขายรวมทั้งบริษัทที่ตั้งไว้ 18,000 ล้านบาท และถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพราะเทรนด์ปี 2567 ลูกค้าหลักคือจีนยังกบดานอยู่ในประเทศตัวเอง

หนึ่งในไฮไลต์ของโนเบิลฯ อยู่ที่การออกหุ้นกู้วงเงินรวม 3,600 ล้านบาท แต่อาศัยดวงตาที่ 3 ต้องการป้องกันความเสี่ยงในปีนี้ จึงตัดครึ่งหนึ่งวงเงิน 1,800 ล้านบาทไปออกหุ้นกู้ในไตรมาส 4/66 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลตอบรับเป็นอย่างดี

ส่วนปีนี้วางแผนออกหุ้นกู้อีกครั้งวงเงิน 1,800 ล้านบาทในไตรมาส 4/67 โดยเผื่อเหลือเผื่อขาด 3 ไตรมาสแรกให้กับอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ (ถ้ามี) ดังนั้น การระดมทุนผ่านหุ้นกู้ในไตรมาสสุดท้ายของปี น่าจะเป็นระยะเพลย์เซฟสำหรับการทำธุรกิจปีมังกรทอง

25/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 25 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS