info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.16.147.124

พฤกษาฯ JV ออริจิ้นฯ ปิดเพนพอยต์ธุรกิจ-จูงมือกันโต

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ล่าสุดเป็นคิวเซอร์ไพรส์วงการอสังหาริมทรัพย์ จากการประกาศแผนร่วมทุน JV-Joint Venture ระหว่างยักษ์อสังหาฯ 2 ค่าย “พฤกษา โฮลดิ้ง” กับ “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ 2 CEO ประกอบด้วย “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ถึงที่มาที่ไปของดีลแห่งปีครั้งนี้ และแผนอนาคตในการสร้างการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร

ลอตแรก 3 ทำเล 8,700 ล้าน

คำว่ายักษ์อสังหาฯ วัดกันที่พอร์ตทรัพย์สินสะสม ข้อมูลล่าสุด ณ ต้นปี 2567 กลุ่มบริษัทพฤกษา โฮลดิ้ง กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 31 ของการก่อตั้งองค์กร มีพอร์ตสะสม 790 โครงการ มูลค่าพัฒนาสะสม 630,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ครบรอบก่อตั้งปีที่ 15 มีพอร์ตพัฒนาสะสม 158 โครงการ มูลค่าสะสม 240,661 ล้านบาท

สำหรับลอตแรก พฤกษาฯวางแผนพัฒนา 3 โครงการร่วมทุน มูลค่ารวม 8,700 ล้านบาท ได้แก่ 1.ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการมิกซ์ยูส มีโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และศูนย์บริการด้านสุขภาพ ทำเลสุขุมวิท 18 มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท 2.ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด หรือ PARK พัฒนาคอนโดมิเนียมระดับพรีเมี่ยม ทำเลย่านพหลโยธิน มูลค่า 2,800 ล้านบาท 3.ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) พัฒนาบ้านเดี่ยวระดับพรีเมี่ยม ย่านเพชรเกษม มูลค่า 980 ล้านบาท

โดย “วัน ออริจิ้น-พาร์ค ลักชัวรี่-บริทาเนีย” เป็นบริษัทลูกของกลุ่มออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ในอัตราส่วนการร่วมทุนคนละครึ่ง 50/50 เพราะถือว่าศักดิ์เสมอกัน เป็นบิ๊กแบรนด์ดีเวลอปเปอร์ระดับท็อป 10 ของเมืองไทยด้วยกัน

ความเก๋า JV ความสด

“พีระพงศ์ จรูญเอก” ระบุว่า โมเดลเจวีระหว่างบิ๊กแบรนด์ท็อป 10 ในเมืองไทย อาจไม่ค่อยเห็นดีลร่วมทุนกันเอง วันนี้พฤกษาฯมีสถานะเป็นทั้งแลนด์ลอร์ดและดีเวลอปเปอร์ ข้อดีของดีลนี้เป็นการเปลี่ยนปรากฏการณ์ของเมืองไทย ปกติเราจะไม่เคยเห็นผู้ประกอบการระดับท็อป 10 ของวงการมาจับมือกัน แต่ในญี่ปุ่น ในต่างประเทศมีอยู่เรื่อย ๆ เช่น เมกะโปรเจ็กต์โอลิมปิกปาร์คเขาใช้ดีเวลอปเปอร์มาร่วมกันทำงานเกือบ 10 คน เป็นรายใหญ่ระดับท็อป 10 ของญี่ปุ่น ส่วนโปรเจ็กต์เดี่ยว ๆ มีการร่วมทุน 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ

“พฤกษาฯก็มีจุดเด่น อยู่ในวงการนี้มามากกว่าเรา ส่วนเราเองอาจจะมีแนวคิด มีไอเดียใหม่ ๆ ประมาณนี้ว่าความเก๋าบวกความสดมารวมกัน”

คำถามคือ ดีลร่วมทุนนี้ แก้โจทย์เพนพอยต์ในแผนธุรกิจออริจิ้นฯอะไรบ้าง

“มีเรื่องที่ดินด้วย พอเรามีเจวี เราก็ไม่ต้องมีแลนด์แบงก์ ที่ดิน 2 แปลงที่ทำคอนโดฯ กับโรงแรมเป็นที่ดินของพฤกษาฯ ผมก็เลยชวนเขามาทำที่ดินแปลงบ้านจัดสรรในที่ดินผม ของบริษัทบริทาเนีย ทำให้เราเองพอมีความร่วมมืออย่างนี้แล้ว ต่อไปเราก็นำแลนด์แบงก์มานั่งคุยกัน นำกราวิตี้ใหม่ ๆ หรือจะรวมตัวกันไปทำโปรเจ็กต์ใหม่ด้วยกันเลย มันก็เป็นไปได้ทั้งหมด”

วิน-วินเกมข้อแรกสุด คือ “…ผมว่าข้อดี เราเปลี่ยนจากคู่แข่งขันเป็นพันธมิตร มันก็ดี เหมือนมีเพื่อนเพิ่ม 1 คน และคู่แข่งหายไปอีก 1 คน”

โดยวินเกมของออริจิ้นฯ 1.บริษัทไม่มีภาระเรื่องแลนด์แบงก์ 2.ได้ประสบการณ์จากพันธมิตร พฤกษาฯมีจุดเด่นเรื่องการก่อสร้างประหยัดต้นทุน สเต็ปถัดไปก็คงมีสแตรทิจี้ต่อเนื่องในการซื้อพรีคาสต์ ซึ่งพฤกษาฯมีโรงงานพรีคาสต์อยู่แล้ว ต่อไปออริจิ้นฯก็ไม่ต้องไปลงทุนโรงงานพรีคาสต์ เพราะในแต่ละปีมีความต้องการใช้เยอะอยู่แล้ว

“…พฤกษาฯจะมาช่วยก่อสร้างบ้านให้บริทาเนีย ผมก็ติดแกปอยู่ว่ามีผู้รับเหมาไม่พอ ที่ดินก็ที่ดินผม โอเค มีพฤกษาฯมาช่วยดูแลงานก่อสร้างให้ทั้งหมด ก็สบายดี ในด้านเซ็กเมนต์ลูกค้า จริง ๆ ก็ทำคล้าย ๆ กัน เรามีกลาง-บน กลาง-ล่าง ลักเซอรี่เราก็มีบ้างไม่ได้เยอะมาก ความคล้ายน่ะมี แต่ว่าสไตล์ลูกค้าเราอาจจะ Younger, Look & Feel ที่เราทำโปรเจ็กต์อาจจะดู Younger กว่า”

แลกเปลี่ยน-เรียนรู้-เบเนฟิต

คำว่าร่วมทุนมีความหมายตรงตัวกับคำว่า Synergy ฝั่งออริจิ้นฯ เปิดกว้างงานเซอร์วิสผ่านบริษัท พรีโม่ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็อยากให้พฤกษาฯเข้ามาใช้เซอร์วิสเยอะ ๆ มีครบทั้งบริการนิติบุคคล บริการเอเย่นต์ บริการทำความสะอาด ฯลฯ เป็น Step by Step ที่ออริจิ้นฯก็รอทำงานตรงนี้ร่วมกันต่อไป

สำหรับโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส ออริจิ้นฯมีที่ดินแปลงสุขุมวิท 18 จะเป็นมิกซ์ยูสสุขภาพ มีโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลเวลเนส

“ในดีลมีแปลงสุขุมวิท 18 พฤกษาฯมีประสบการณ์เรื่องโรงพยาบาล ผมจะทำโรงแรมสวย ๆ ขึ้นมา 2 ตึก รับตลาด Health & Tourism พฤกษาฯเก่งเรื่องเฮลท์แคร์กว่าเรา เราก็ทำนะแต่ไม่ได้ทำใหญ่เท่าเขา เราทำพวกสเปเชียลคลินิกอยู่ ไม่ได้ทำสเกลโรงพยาบาลเหมือน รพ.วิมุต พอทำด้วยกัน ผมก็ได้โนว์ฮาวไปในตัว และเขาก็ได้เบเนฟิตจากความที่ผมทำโรงแรมมาเยอะกว่า เพราะพฤกษาฯยังไม่เคยทำโรงแรมเลย เชนโรงแรมผมกำลังคุยกับ 3 เครือใหญ่ ผมต่อรองได้เยอะกว่า ค่าฟี ค่าเชนเก็บแพง แต่ถ้าซื้อเยอะก็เก็บถูกกว่า ก็เป็นเบเนฟิตที่เกิดขึ้น”

คำถามถึงจะมีดีลเจวีเฟส 2-3-4 ตามมาเร็ว ๆ นี้หรือไม่

“ผมว่าสเต็ปถัดไป เราอาจจะไม่ได้ชี้ช่องไปว่าเราจะร่วมมือกันที่โครงการไหน ผมอยากเริ่มงานกันไปสักระยะหนึ่งก่อน ว่าสามารถต่อยอดอะไรกันได้อีกจากสกิล ช่วงทำเจวีก็ทำกันอยู่ 3-4 เดือน หลังจากนี้เราต้องมานั่งดูต่อว่าเราเริ่มทำกันแล้ว หลังจากนี้เรามาทำโปรเจ็กต์กันต่อไหม ซึ่งก็เป็นไปได้ที่ผมอาจไปช่วยศึกษาต่อแลนด์แบงก์ของพฤกษาฯ บางแปลงที่พอทำได้ ข้อดีผมวันนี้ไม่ต้องซื้อที่ดินแล้วแหละ เจวีกับคนมีที่ดินก็โอเค”

เสริมแกร่ง “อยู่ดี มีสุข”

ขณะที่ “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” กล่าวว่า เบื้องหลังเมกะดีลครั้งนี้ พฤกษาฯเปิดกว้างไปว่ามีพาร์ตเนอร์ชิปโมเดลที่พฤกษากรุ๊ปเปลี่ยนการทำธุรกิจ แล้วพร้อมจับมือ แล้วก็เปิดมากกว่าที่จะทำเองหมด โดยดีลเจวีกับออริจิ้นฯ เข้ามาปิดเพนพอยต์แผนธุรกิจ 2-3 เรื่อง คือ 1.พฤกษาฯมีจุดแข็งเรื่องเวลเนสจากการลงทุน รพ.วิมุตเพื่อเสริมในการให้บริการภายในโรงแรม โดยเวลเนสโฟกัสในเรื่องสุขภาพทั้งกาย-ใจ ความสวยความงาม จะไม่เหมือนโรงพยาบาลรักษาโรค ผ่าตัดทั่วไป

2.ด้านการก่อสร้างที่พฤกษาฯมีพรีคาสต์ กับทีมก่อสร้างที่เป็นจุดแข็งของกลุ่ม ทั้งบ้านแนวราบ-คอนโดมิเนียม และการออกแบบ บริษัทรู้วิธีการทำให้ควบคุมต้นทุนพัฒนาโครงการ เป็นจุดแข็งของกลุ่มพฤกษาฯ

ฝั่งออริจิ้นฯมีจุดแข็งในการทำโรงแรมที่พฤกษาฯไม่เคยทำมาก่อน ด้านพร็อพเพอร์ตี้แมเนจเมนต์ ออริจิ้นฯมีพรีโม่เซอร์วิส ดีลร่วมทุนจะนำจุดแข็งนี้มาเสริม ในการร่วมกันสร้างแวลูให้กับลูกค้า รวมทั้งด้านการขาย การตลาด ก็ทำร่วมกัน

“เซ็กเมนต์ลูกค้าก็พอดีฮะ ที่ดินอย่างบ้านเดี่ยว เป็นโซนที่ทางพฤกษาฯยังไม่มีโครงการ เรายังไม่มีแลนด์แบงก์ ดีลร่วมทุนไม่โอเวอร์แลปในสิ่งที่เรามีแล้วกัน เพราะไม่ใช่โซนที่เรามีโครงการอยู่ ทางออริจิ้นฯเองก็ไม่มีและเพิ่งได้แปลงที่ดินมา ก็เลยเอามาร่วมทุน ก็พอดีเลย อันนี้คือจุดแข็งของทั้ง 2 กลุ่มในการที่ไม่ไปทำตลาดของกันและกันที่เราทำอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหม่เลย ไม่มีคำว่า Conflict of Interest ระหว่างกัน ไม่มีเลย คอนโดฯก็เหมือนกัน”

บทสรุปบรรทัดสุดท้าย “…สำหรับพฤกษาฯ ที่ผมเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ เราก็รับการเสริมจุดแข็งของกันและกันที่ได้เห็นประโยชน์ของดีเวลอปเปอร์ ในการสร้างให้กับลูกค้าและตลาดอสังหาฯ ในภาพรวม โดยเฉพาะจุดแข็งของคนอื่นที่เราอ่อนกว่า แล้วเราดึงเขามาร่วมกันทำ อันนี้เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า เราก็ตั้งใจทำให้อยู่แล้วตามหลักการ อยู่ดี มีสุข”

1/2/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 กุมภาพันธ์ 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS