info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.147.61.142

“รพ.เวชธานี” เข้มคุณภาพ ปักหมุดยึด CBD ใหม่ “รัชโยธิน”

Hospital News / ข่าวหมวดโรงพยาบาล

มีอายุครบ 30 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 สำหรับโรงพยาบาลเวชธานี รพ.ขนาดกลาง (263 เตียง) ที่เป็น รพ.เดี่ยว และมีสาขาเพียงแห่งเดียว ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ด้วยจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนด้วยการ เปิด โรงพยาบาลเฉพาะทาง “จิตเวช” ในชื่อ โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์

ล่าสุด ดร.ชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวชธานี จำกัด ?(มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงยุทธศาสตร์และแนวทางการ?ดำเนินงานของ รพ.เวชธานี จากนี้ไป ดังนี้

Q : มองภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจโรงพยาบาล

โดยส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจของประเทศก็คงไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ทุกคนทราบ เพราะยังมีปัญหาดอกเบี้ยที่สูง หนี้ครัวเรือน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ แม้การรักษาพยาบาลจะเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่น่าจะกระทบ แต่จริง ๆ แล้วจะมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่จะระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นรายได้ในส่วนนี้อาจจะลดลงไปบ้าง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เวชธานีก็มองเห็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้วว่า ในแง่ของอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้จะทำให้ตลาดหดตัวลง ขณะที่ กลุ่มผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น แต่ผู้สูงอายุบ้านเราส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ดังนั้น เวชธานีจึงมุ่งไปทำตลาดต่างประเทศมา 10-15 ปีแล้ว และมองว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลข Medical Tourism ที่ขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี มาหลายปีแล้ว อนาคตก็น่าจะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น

Q : จากนี้ไป เวชธานีวางยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร

จริง ๆ ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน หลัก ๆ คือ การทำโรงพยาบาลให้ดี มีบริการที่ดี มีขีดความสามารถในการรักษาโรคที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ เวชธานีมีศูนย์รักษาโรคต่าง ๆ อยู่ 20 ศูนย์ ก็จะมีการพัฒนาต่อเนื่องทั้งในแง่ของบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมีเป็นระยะ ๆ

ที่สำคญ การวางเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถการรักษาของ?โรงพยาบาลให้ใกล้เคียงกับโรงเรียนแพทย์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราคาดหวังในอนาคต แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เราต้องการจะเดินไปในทิศทางนี้ ไม่ได้คิดหรือมีแผนว่าจะขยายสาขาเพิ่มกี่แห่ง ๆ เพราะกลัวว่าเมื่อขยายสาขาไปมาก อาจจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ เวชธานีต้องการจะทำในแบบของเรา คือ การให้คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดกับลูกค้า โดยไม่จำเป็นต้องมีหลายสาขา ทำโรงเดียวให้ดีเลย

Q : ช่วงโควิด-19 กระทบมากน้อยแค่ไหน

ในแง่รายได้ตกลงจำนวนหนึ่ง เพราะลูกค้าต่างประเทศมาใช้บริการไม่ได้ แต่ตอนนี้ก็กลับมาเหมือนเดิมแล้ว และดีกว่าก่อนโควิด โดยตอนนี้ก็เริ่มมีฐานลูกค้าใหม่ ๆ จากยุโรป อเมริกา เข้ามาเพิ่ม จากเดิมที่มีกลุ่ม CLMV และตะวันออกกลาง ซึ่งเดิม ยุโรป อเมริกา อาจจะมีไม่มากนัก แต่ตอนนี้เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้รัสเซีย ที่เข้ามาอยู่เมืองไทยค่อนข้างเยอะ

ส่วนคนไข้จีนที่ผ่านมามีเข้ามามากในระดับหนึ่ง แต่ช่วงหลังโควิดลดน้อยลงไป แต่ก็คิดว่าในอนาคตก็คงค่อย ๆ ทยอยกลับเข้ามา

Q : สัดส่วนลูกค้าไทย ลูกค้าต่างประเทศในแง่ของจำนวนกับในแง่ของรายได้

ในแง่จำนวนคนไข้ คนไทยก็ยังเป็นหลักอยู่ประมาณ 70% แต่ว่าในแง่รายได้ก็อาจจะครึ่ง ๆ แต่ในอนาคตแนวโน้มรายได้จากต่างชาติก็น่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา คนไข้ต่างประเทศที่เข้ามารักษา มีทุกโรค แต่คนไข้กลุ่มใหญ่ที่สุดของเวชธานี คือ โรคกระดูกและข้อ โดยเฉพาะคนไข้จากตะวันออกกลางที่จะมาด้วยโรคกระดูกและข้อ สมอง หรือถ้าเป็นกลุ่มจีน เวียดนาม จะเป็นเรื่อง IVF ขณะที่กลุ่ม CLMV ก็จะมาทุก ๆ โรค มะเร็ง กระดูก เป็นต้น ถ้าเป็นตอนนี้เป็นอเมริกา ยุโรป ก็มีหมด หัวใจ กระดูก ฯลฯ

Q : ปีนี้ดูเหมือนว่า เวชธานีจะ Aggressive ในการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ใช่ครับ เพราะดีมานด์ยังมีอยู่โดยสำหรับเวชธานี หลัก ๆ จะโฟกัสการทำการตลาดกับประเทศในรัศมีการบิน 6 ชั่วโมงรอบ ๆ เมืองไทย ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 3,000 กว่าล้านคน ซึ่งสะท้อนว่าโอกาสยังมีอยู่อีกมาก ถ้าเราทำได้ดีจริงหรือมีชื่อเสียงในการรักษาในโรคนั้น ๆ ในระดับภูมิภาค เราก็มีลูกค้าแน่นอน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องแข่งขันกับโรงพยาบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์

โดยต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เวชธานีเพิ่งไปเซ็นเอ็มโอยูกับพันธมิตรในเวียดนาม เพื่อส่งคนไข้เข้ามาที่ รพ. ซึ่งเดิมคนเวียดนามอาจจะไม่ค่อยรู้จักเวชธานี คนรวยเขาก็จะบินไปรักษาที่สิงคโปร์เป็นหลัก แต่ผมเชื่อว่า 1-2 ปีนี้ เวียดนามจะเริ่มมาเมืองไทยมากขึ้น

Q : แนวทางการทำตลาดกับคนไข้ต่างประเทศ

จริง ๆ หลัก ๆ ก็คือปากต่อปากไม่ได้มีอะไรเลยครับ ดูแลให้ดีคนหนึ่งเดี๋ยวก็จะได้ต่อไป ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน เพราะว่าการแพทย์ต่อให้คุณไปโฆษณามากมายก็ไม่ใช่ว่าคนจะเชื่อ คนเขาก็ยังจะต้องถามเพื่อนถามคนรู้จักว่า รพ.ที่ไหนดี หรือเก่งการรักษาเรื่องอะไร โอกาสที่ว่าเมื่อดูโฆษณาแล้วเชื่อเลยคงไม่ค่อยมี ยิ่งถ้าเป็นโรคยาก ๆ หรือโรคที่ความเป็นความตาย แบบนี้ส่วนใหญ่ก็ต้องหาข้อมูลมาก และส่วนใหญ่ก็จะเชื่อคนที่ผ่านประสบการณ์หรือคนที่เคยมารักษาแล้ว

Q : ปีที่ผ่านมา เพิ่งมีการลงทุน เปิด รพ.จิตเวช “แบงค็อก เมนทัล เฮลท์”

สำหรับโรคเกี่ยวกับจิตเวชที่ผ่านมา มีคนไข้หรือผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่การให้บริการของ รพ. ภาครัฐยังขาดแคลน มีไม่เพียงพอ เราไม่ได้คิดว่าจะรายได้อะไรเยอะแยะจากตลาดกลุ่มนี้ โดยส่วนตัว คือ อยากทำเพราะอยากช่วยจริง ๆ เนื่องจากภาครัฐเองก็ไม่สามารถจะดูแลคนไข้กลุ่มนี้ได้ทั่วถึง เพราะจำนวนคนไข้ที่มีมาก อย่างปีที่แล้วตัวเลขผู้ป่วยมามากกว่า 2.5 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับ รพ.แบงค็อก เมนทัล เฮลท์ ที่เปิด ในเชิงธุรกิจคิดว่าผลตอบแทนคงไม่ได้ดีอะไรมากนัก ขอให้พออยู่ได้ก็โอเคและพอใจแล้ว

Q : เป้าหมาย แผนการลงทุนหรือการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ของเวชธานี

อยากทำเวชธานีให้ดี และต้องการให้เป็นเดสติเนชั่นของลูกค้าต่างประเทศ สิ่งนี้น่าจะเป็นแนวทางที่เราถนัดมากกว่า แต่ไม่ได้หมายถึงว่า รพ.จะต้องมีสาขาหลายสาขา เวชธานีมีความถนัดในแง่ของการทำให้ รพ.ที่มีอยู่โรงเดียวสาขาเดียว ให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็อาจจะมีการขยายหรือเปิด รพ.แห่งใหม่เพิ่ม ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างวางแพลน แต่ว่าคงไม่ได้เร็วมากนัก คงใช้เวลานิดหนึ่ง รพ.ที่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์โรงพยาบาลที่จับตลาดระดับกลาง-บน ที่ในแง่ราคาจะมีความสมเหตุสมผล ซึ่งเวชธานีมีความถนัดกับตลาดนี้

ตอนนี้ มีที่ดินแล้ว พื้นที่รวมประมาณ 6 ไร่ อยู่แถว ๆ รัชโยธิน ที่อาจจะกล่าวได้ว่ากำลังจะเป็นย่าน CBD ใหม่ ก็หวังว่าช่วงที่ รพ.สร้างเสร็จในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ย่านนั้นก็จะเป็น CBD พอดี

สำหรับในแง่เป้าหมายในภาพรวม ที่ผ่านมาอย่างน้อย เวชธานีมีการเติบโตโดยเฉลี่ยเป็นดับเบิลดิจิต ขั้นต่ำคือ 10-15% ปีนี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจอาจจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่ก็ไม่ได้กังวลอะไร ยังมั่นใจว่าจะเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่ง เนื่องจาก รพ.สามารถ Recruit ทีมแพทย์เก่ง ๆ มาได้มาก รวมทั้งแนวทางการทำตลาดที่กล่าวมาแล้ว

แต่หัวใจหลักของเวชธานี คือ การทำ รพ.ให้มีศักยภาพ มีคุณภาพ เพื่อที่จะช่วยรักษาโรคที่รักษายาก ๆ เพื่อให้คนไข้มีทางเลือกมากขึ้น

2/2/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 กุมภาพันธ์ 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS