info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.133.141.6

EGCO ปี’67 ทุ่ม 3 หมื่นล้านปั๊ม 1,000 MW จ่อปิดดีล M&A 3 โครงการ

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

EGCO Group เปิดแผนลงทุนปี’67 ทุ่ม 30,000 ล้านขยายกำลังผลิตไฟ 1,000 MW จากเดิม 6,996 MW เดินหน้าซื้อดีล M&A ขั้นต่ำ 3 โครงการ ลุยตั้งเสาโรงไฟฟ้าพลังงานลม “หยุนหลิน” ครบ 80 ต้น

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group กล่าวว่า ตั้งเป้างบฯลงทุนปี 2567 ประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการทำดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) เข้ามาเพิ่มเติม จากกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 6,996 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

ทั้งนี้ แบ่งกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ (คิดเป็นสัดส่วน 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและในทะเล เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่าง ๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นคาดปิดดีล M&A อย่างน้อย 3 ดีลในปี 2567

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (TPN) โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (EGCO Rayong) บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (Peer Power) บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Innopower)

“เราจะพยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โดยไม่เพิ่มถ่านหิน ยืนยันว่าการบริหารสภาพคล่องไม่มีปัญหา มีกระแสเงินสดในมือระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยปีที่แล้วตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ก็ทำได้ประมาณ 800 เมกะวัตต์ ส่วนเงินลงทุนใช้ไปที่ 2.5 หมื่นล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากทั้ง 8 ประเทศเป้าหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น ความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้น การลงทุนทั้ง 8 ประเทศ ยังเป็นเป้าหมายสำคัญโดยจะเน้นจับมือกับพาร์ตเนอร์ขยายโอกาส เพราะมีหลายโครงการที่จะหมดสัญญา ทำให้ต้องทำงานเพิ่มเป็น 2 เท่า”

ส่วนอุปสรรคของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญอย่างภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อราคาพลังงาน ซึ่งยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดส่วนเศรษฐกิจในประเทศไทย มองว่าตามแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (แผน PDP) นั้น แม้ปัจจุบันกำลังผลิตในระบบจะเยอะ แต่ถ้าอีก 2-3 ปีนี้เศรษฐกิจมีการเติบโตก็อาจจะไม่เพียงพอ ประกอบกับหลายอุตสาหกรรมที่ปลี่ยนแปลงจากการใช้เครื่องยนต์มาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าก้าวกระโดด

ฝ่าอุปสรรคโรงไฟฟ้าพลังลม “หยุนหลิน”

โครงการหยุนหลินเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลหยุนหลินขนาด 110 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้ารวมที่ 640 เมกะวัตต์ บริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพราะเป็นพื้นที่มรสุมและมีลมแรงตลอดปี โดนเฉพาะเดือนธันวาคมถึงมกราคมที่ผ่านมาที่ถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นทำให้โครงการหยุนหลินมีกำลังผลิตจ่ายไฟฟ้าได้มากถึง 80%

“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ติดตั้งล่าช้าไปช่วงปี 2564-2565 เนื่องจากการติดตั้งเสาเข็มเดี่ยว (monopile หรือ MP) ที่ต้องอาศัยเรือขนาดใหญ่ในการขนส่งและติดตั้ง ซึ่งเรือที่สามารถรองรับน้ำหนักของเสาเข็มเดี่ยวได้มีจำนวนน้อยมากและต้องแย่งกันใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งในปี 2566-2567 ถือว่าเป็นปีทองของเราในการติดตั้งให้ครบตามเป้าหมาย 80 ต้นในปี 2567 ซึ่งจะใช้เรือติดตั้งทั้งหมด 2 ลำ ได้แก่ DLS-4200 และ Blue Wind เพื่อเร่งการติดตั้งให้ทัน”

ปัจจุบันเราได้ติดตั้งเสาเข็มเดี่ยวไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 45 ต้น และเริ่มจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 33 ต้น หรือคิดเป็น 264 เมกะวัตต์ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามสัญญา อาจจะต้องมีการเสียค่าปรับในส่วนจำนวนของกังหันที่ติดตั้งไม่ครบ

ส่วนความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ภายหลังการชนะเลือกตั้งของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมนั้น เมื่อสอบถามไปยังกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า ในระยะสั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันน่าจะยังเป็นเหมือนเดิมเช่นเดียวกับตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่าน

ลงทุนสหรัฐ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน RISEC

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เข้าซื้อหุ้นกับโคเจนทริก ไรเซ็ก ซีพีโอซีพี โฮลดิ้งส์ แอลแอลซี (Cogentrix RISEC CPOCP Holdings, LLC) และโคเจนทริก ไรเซ็ก ซีพีพี ทู โฮลดิ้งส์ แอลแอลซี (Cogentrix RISEC CPP II Holdings, LLC) สัดส่วน 49% ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมไรเซ็ก (RISEC) ในเมืองจอห์นสตัน รัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำลังผลิตสูงสุดที่ 609 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE)

“จุดเด่นของโรงไฟฟ้าไรเซ็กคือ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองบอสตันและเมืองโพรวิเดนซ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าสำรองที่ช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าในตลาดนิวอิงแลนด์ ซึ่งมีนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด”

รวมถึงยังมีรายได้มั่นคงเพราะทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับบริษัท เชลล์ เอ็นเนอร์ยี่ นอร์ท อเมริกา (Shell Energy North America) จนถึงปี 2568 ตลอดจนการลงทุนเรื่องการกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage) และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

Compass Portfolio กำลังผลิต 1,304 MW

อีกทั้งยังเสริมความแข็งแกร่งในสหรัฐอเมริกาด้วยการปิดดีลซื้อหุ้น 50% กลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 แห่ง ได้แก่ Marcus Hook Energy, L.P. (Marcus Hook) กำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย Milford Power, LLC (Milford) กำลังผลิต 205 เมกะวัตต์ และ Dighton Power, LLC (Dighton) กำลังผลิต 187 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์

โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และโพรวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ

โดยโรงไฟฟ้า Marcus Hook ซึ่งมีสัญญาระยะยาวในการขายกำลังผลิตส่วนใหญ่ให้แก่ The Long Island Power Authority (LIPA) และขายกำลังผลิตส่วนที่เหลือในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า PJM ขณะที่โรงไฟฟ้า Milford และโรงไฟฟ้า Dighton ขายกำลังผลิตให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ด้วย

นายเทพรัตน์กล่าวว่า มีแผนที่จะขยายโครงการพลังงานหมุนเวียนของบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐ ที่เอ็กโก กรุ๊ปถือหุ้นอยู่ 17.46% ซึ่งรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 2 โรงไฟฟ้าของเอเพ็กซ์กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 โครงการ

“ดังนั้น ด้วยกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐ มีมากกว่า 60,543 เมกะวัตต์ บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ปัจจุบัน ปัจจุบันมีโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้วทั้งหมด 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Great Pathfinder จำนวน 224.25 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ Mulligan Solar จำนวน 70 เมกะวัตต์ และมีโครงการพลังงานสะอาดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 7 โครงการ”

ซึ่งมี 3 โครงการโซลาร์ฟาร์ม ได้แก่ Angelo Solar ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มกำลังผลิต 195 เมกะวัตต์ในรัฐเทกซัส คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 3 ปี 2567 โดยได้เริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟกับ Meta โครงการ Big Elm Solar กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการไตรมาส 3 ปี 2567 และโครงการ Wheatsborough Solar ในรัฐโอไฮโอ กำลังผลิต ไตรมาส 125 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการไตรมาส 2 ปี 2568

โครงการแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Angelo Battery Storage ในรัฐเทกซัสที่จะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2 ปี 2567 ด้วยกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ และโครงการ Great Kiskadee Storage ในรัฐเทกซัส จำนวน 100 เมกะวัตต์ เดินเครื่องไตรมาส 3 ปี 2567

และสุดท้ายคือ โครงการพลังงานลม 2 โครงการ ได้แก่ Timbermill Wind ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Google ด้วยกำลังผลิต 189 เมกะวัตต์ คาดว่าเริ่มเดินเครื่องในไตรมาส 4 ปี 2567 และโครงการ Downeast Wind ในรัฐเมน คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องไตรมาส 4 ปี 2567 ด้วยกำลังผลิต 126 เมกะวัตต์

ตัดริบบิ้น COD โรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration

วันที่ 28 มกราคม 2567 เดินเครื่องโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม มีกำลังผลิตสุทธิ 74 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าประเภท Cogeneration ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กทดแทน (SPP Replacement) จำนวน 28 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี และจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำจากกระบวนการผลิตให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยองและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 46 เมกะวัตต์

ลุยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย

อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เอ็กโกยังได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 30% กับบริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (CDI) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ด้วยเงินลงทุน 194 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,800 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ธุรกิจผลิตและส่งจ่ายน้ำ และธุรกิจบริหารจัดการคลังเก็บผลิตภัณฑ์เคมีและท่าเทียบเรือ

ธุรกิจและการลงทุนของ CDI ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์และนิคมอุตสาหกรรม เมืองซีเลกอน (Cilegon) และเมืองเซรัง (Serang) จังหวัดบันเต็น (Banten) เกาะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมหลักขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มีอุปสงค์ทางอุตสาหกรรมสูงและเติบโตอย่างรวดเร็ว

13/2/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 กุมภาพันธ์ 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS