info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.138.138.144

“ออโตคลิก” ตั้งรับต้นทุนพุ่ง ลดเป้าขยายสาขา-โฟกัสพื้นที่ทำกำไร

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

ศูนย์ฟาสต์ฟิต ACG ตั้งรับสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กังวลต้นทุน ดูแลสภาพคล่อง ปรับโมเดลธุรกิจใหม่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพบริการ ลุยเจาะพื้นที่ศักยภาพ ลดเป้าสาขาปีนี้ขอขยายแค่ 5 แห่ง ใช้งบฯลงทุน 250 ล้านบาท

นายภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG ฟาสต์ฟิต หรือศูนย์บริการรถยนต์แบบเร่งด่วน ภายใต้แบรนด์ออโตคลิก (AUTOCLIK) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ดอกเบี้ยแพงทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูง ปีนี้จึงต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ ไม่เน้นการเพิ่มจำนวนสาขา แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงเจาะเข้าพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพ โดยเป้าเดิมสิ้นสุดปี 2567 จะต้องขยายครบ 30 สาขา น่าจะทำได้แค่ 20 แห่ง

นายภานุมาศกล่าวอีกว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เดินหน้าลงทุนขยายสาขา AUTOCLIK ไปถึง 15 สาขา กทม.ปริมณฑล 10 สาขา อาทิ อ่อนนุช 80, กัลปพฤกษ์, มหาชัย 2, เอกชัย, นวนคร, บางบัวทอง, ติวานนท์, รามอินทรา, เพชรเกษม 33, วิภาวดีรังสิต 60 ต่างจังหวัด อาทิ ภูเก็ต 3 สาขา เชียงใหม่อีก 2 สาขา

“ปีนี้เราจะไม่เร่งสร้างจำนวนสาขาให้เพิ่มขึ้นแล้ว เราจะไม่เน้นการลงทุนใหญ่ ๆ แต่จะปรับโมเดลให้ใช้เงินลงทุนน้อยลง เป็นธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีก เปิด 10 ที่ก็ไม่ได้หมายความว่าดีทุกที่ ต้องยอมรับว่าบางสาขาจำนวนความถี่ของลูกค้าอาจจะไม่ดีอย่างที่คิด ดังนั้นเราจะมุ่งเน้นไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัทยังยืนยันนโยบายเดิมคือ ออโตคลิก (AUTOCLIK) ไม่มีแผนที่จะขยายธุรกิจแบบแฟรนไซส์ แต่จะมุ่งเน้นลงทุนเอง พยายามเลือกทำเลที่มีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ และเสริมบริการอื่น ๆ เช่น ใบกำกับภาษีออนไลน์ หรือ e-TAX ก็ช่วยทำให้ยอดในแต่ละสาขาดีขึ้น ส่วนแผนปรับรูปแบบโมเดลธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะได้เห็นความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ตลาดฟาสต์ฟิตถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรง ออโตคลิกมองว่าจำนวนสาขาเป็นเงื่อนไขสำคัญ ต้องขยายให้ได้อย่างน้อย 30 สาขาก่อน ธุรกิจถึงจะเริ่มทำกำไรได้ แต่สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ก็ต้องยอม”

ปัจจุบัน ออโตคลิก มีฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราว ๆ 4,000-5,000 ราย ขณะที่สัดส่วนรายได้หลัก ๆ มาจากยางรถยนต์ คิดเป็น 60%, น้ำมันเครื่อง 30% และอื่น ๆ เช่น เบรก โช้กอัพ ฯลฯ อีก 10%

13/2/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 กุมภาพันธ์ 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS