info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.118.2.15

พฤกษา Ready to Thrive ลงทุน 2024 เติบโตแบบไม่กระจุกตัว

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

พฤกษา โฮลดิ้ง หลังจากเปิดดีลร่วมทุนกับกลุ่มออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ล่าสุดได้ฤกษ์ Business Direction 2024 ภายใต้ธีมธุรกิจ Ready to Thrive

ส่งสัญญาณ 4 เรื่องหลัก

โดย “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แผนธุรกิจปีนี้ ต้องการส่งสัญญาณ 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.เน้นความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจพฤกษาฯ โดย 2 ปีที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างเพื่อพร้อมรับการเติบโตจากนี้ไป และเป้าหมายเติบโตด้วยความยั่งยืน

โดยพอร์ตที่อยู่อาศัยมีการกระจายความเสี่ยง แบ่งพอร์ตใหม่ลดการกระจุกตัวของเซ็กเมนต์ต่ำ 3 ล้านบาท ที่เคยมีสัดส่วน 70% เหลือ 40% หันไปเพิ่มกำลังซื้อกลุ่ม 7 ล้านบาทขึ้นไป เป็นตัวอย่างของการกระจายความเสี่ยงเซ็กเมนต์ลูกค้า

2.ผนวกห่วงโซ่ธุรกิจจากความสามารถที่พฤกษามี ตัวอย่างชัดเจนคือ การลงทุนร่วมกับกลุ่มเสาเข็ม GL ในนาม “อินโนพรีคาสต์” ที่นาทีนี้ ยังคงเป็นเจ้าของสถิติโรงงานผลิตระบบก่อสร้างสำเร็จรูปหรือพรีแคสต์โลว์คาร์บอนแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเหนียวแน่น และธุรกิจก่อสร้างบ้าน “อินโนโฮม” คาพาซิตี้เดือนละ 910 หลัง จากแผนกกลายเป็น BU-business unit สำเร็จมาแล้ว

3.พัฒนาเทคโนโลยีจากการดึงพันธมิตรธุรกิจ มาร่วมกันประดิษฐ์สินค้าและบริการใหม่ ๆ เช่น นำเสนอแพ็กเกจประกันฝังในบริการตรวจสุขภาพที่ รพ.วิมุต และแถมบริการ “นัลลูรี” จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริการพรีเวนทีฟเวลเนส ช่วยดูแลสุขภาพ กินอยู่อย่างไรไม่ป่วย

“…เราต้องการทำแบบนี้ เพราะลูกค้าสามารถลดต้นทุนการรักษาโรคได้ 4-6 เท่า ดีกว่าไปนั่งรักษาโรคในโรงพยาบาล เราเชื่อเรื่องนี้มากกว่า”

และ 4.นำเสนอไลฟ์ไทม์แวลูให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฮม สมาร์ทเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการต่อจิ๊กซอว์ไปสู่เป้าหมายสุดท้ายสร้างการเติบโตระยะยาวให้สังคมลูกบ้านพฤกษา เป็นสังคม “อยู่ดี มีสุข”

หนี้สินต่อทุนต่ำ 0.27 เท่า

“อุเทน” สรุปผลประกอบการปี 2566 มีรายได้ 26,100 ล้านบาท มาจากรายได้ธุรกิจที่อยู่อาศัย มียอดโอน 22,400 ล้านบาท ลดลง 18% เพราะดีมานด์ทาวน์เฮาส์ลดลงและไม่มีการโอนคอนโดมิเนียมใหม่

แต่มาบวกเพิ่มจากรายได้ธุรกิจเฮลท์แคร์ 50% จำนวน 1,800 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือมียอดผู้ป่วยเข้าใช้บริการเติบโต 49% หลังสถานการณ์โควิด

บริษัทมีกำไรเบื้องต้น (กรอสมาร์จิ้น) 29.9% มีแบ็กล็อกที่จะแปลงเป็นรายได้ 4,500 ล้านบาท ในด้านสัดส่วนหนี้ต่อทุนอยู่ที่ 0.27 เท่า เทียบกับดีเวลอปเปอร์วงการเดียวกันอยู่ที่ 0.7-1.5 เท่า นั่นคือพฤกษาต่ำกว่าหลายบริษัทในตลาด ถือเป็นจุดแข็งในการลงทุนข้างหน้า

นอกจากนี้ กลยุทธ์การเติบโต เช่น อินโนพรีคาสต์ เป้ารายได้ปี 2024 จำนวน 3,500 ล้านบาท โตเกือบ 50% หลักมาจากขายลูกค้านอกกลุ่มพฤกษา โดยมีแบ็กล็อกจากการใช้ของพฤกษาอยู่แล้วปีละ 2,800 ล้านบาท เป็นโรงงานที่มีกำลังผลิต 5.2 ล้าน ตร.ม. ใหญ่สุดในประเทศไทย ส่วนอินโนโฮมวางเป้าปี 2024 รายได้ 5,600 ล้านบาท โต 16%

ไฮไลต์อยู่ที่การกระจายความเสี่ยง เพราะไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัวในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ล่าสุด ผลงานจัดโครงสร้างใหม่ช่วง 2 ปี ข้อมูลจากสำนักวิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ณ ปี 2021 พฤกษา โฮลดิ้ง มีขนาดธุรกิจ 72,000 ล้านบาท สัดส่วน 94% มาจากพอร์ตที่อยู่อาศัย

ณ ปี 2023 ปรับโครงสร้างใหม่ ปรับบทบาทที่อยู่อาศัยเหลือ 70% อีก 30% ของรายได้มาจากธุรกิจ Nonproperty ปรับจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ไปสู่ธุรกิจหลากหลายเซ็กเมนต์มากขึ้น ด้วยการแตกธุรกิจอินโนโฮมกับอินโนพรีคาสต์ + ขยายลงทุนเฮลท์แคร์ + ดึงเฌ้อสเซอรี่มาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ

สำหรับที่อยู่อาศัย กระจายความเสี่ยงเยอะสุด จากเดิมปี 2019 เซ็กเมนต์มากกว่า 70% มาจากราคาต่ำ 3 ล้าน และมากกว่า 10 ล้านมีแค่ 10% ทำให้ 2020-2021 เร่งปรับตัวขนานใหญ่ ภายใต้ 3 แกนคิด คือ 1.สร้างประโยชน์จากขนาดของกลุ่ม มุ่งบริหาร “การจัดซื้อจัดจ้าง” แบบบิ๊กลอต การขนส่งและเพิ่มคุณค่าสินค้าให้โครงการ

2.เพิ่มโอกาสในการขายข้ามกลุ่มสินค้า หรือ Cross-Selling เพราะยุคใหม่ พฤกษาฯทำมากกว่าที่อยู่อาศัย 3.เพิ่มสัดส่วนรายได้รีเคอริ่งเป็น 25%

บุกบ้านเดี่ยว 15-30 ล้าน

ถัดมา “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า พฤกษาฯอยู่ในช่วงเชนจ์พอร์ตตัวเอง เดิมเซ็กเมนต์ล่าง 70% ณ ปี 2566 วางแผนเปิด 22 โครงการใหม่ แต่เปิดจริง 11 โครงการ มูลค่า 14,200 ล้านบาท โดยชะลอทาวน์เฮาส์ต่ำ 3 ล้าน ปรับใหม่เป็นราคา 3-5 ล้านแทน เท่ากับเปิดแค่ 3 โครงการ

สินค้าบ้านเดี่ยวก็เปิดตัวไม่เยอะ มูลค่าโครงการเพียง 4,000 ล้านบาท ปีที่แล้วบุกไม่เกิน 10 ล้านบาท โมเดลเชนจ์ในปีนี้เจาะเซ็กเมนต์เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป และคอนโดมิเนียม เปิดใหม่ 4 โครงการ ขายดี แบ็กล็อก 3,000 ล้านก็มาจากคอนโดฯ

กลยุทธ์ลงทุนใหม่วางแผนเปิดตัว 30 โครงการใหม่ มูลค่า 29,000 ล้านบาท เป้ายอดขาย 27,000 ล้านบาท และเป้ายอดโอนหรือรับรู้รายได้ 25,500 ล้านบาท

โดยโปรเจ็กต์ลอนช์ใหม่ 29,000 ล้านบาท สินค้าทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ เน้นกลุ่ม 3-5 ล้านบาท มูลค่า 11,800 ล้านบาท, บ้านเดี่ยวสัดส่วนถึง 96% เน้นราคา 15-30 ล้านบาท 10 โครงการ มูลค่า 13,200 ล้านบาท และคอนโดฯกลุ่ม 2-4 ล้านบาท ซึ่งตอบโจทย์ผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า มี 3 โครงการ มูลค่า 4,000 ล้านบาท

แผนธุรกิจรัว ๆ เชนจ์พอร์ตลูกค้า จากเดิมตลาดบนมีสัดส่วน 10% เพิ่มเป็น 40% ตลาดต่ำ 3 ล้านเคย 70% ลดเหลือ 40% ที่เหลือเป็นตลาดกลาง 20%

ตามแผน บริษัทจะมีมูลค่าการพัฒนารวม 162,900 ล้านบาท มาจาก 3 ก้อนด้วยกัน คือ 1.โครงการสะสม 144 โครงการ มูลค่า 62,900 ล้านบาท 2.จัดซื้อที่ดินเพิ่ม 10,500 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 40,000 ล้านบาท และ 3.แผน 5 ปี (2024-2029) ตั้งเป้ามีที่ดินในมือทั่วประเทศ 140 แห่ง มูลค่ารวมกัน 60,000 ล้านบาท

“แผนลงทุนปี 2024 เราลีนแล้ว สเลนเดอร์ ไขมันแทบไม่มี”

บุกหนัก “ลองเทอมเฮลท์แคร์”

สุดท้ายกับ “นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด นำเสนอผลงานปี 2023 รพ.วิมุตมีการเติบโตสูง มาจากเครือข่ายโรงพยาบาลคือ รพ.วิมุต ใกล้สี่แยกสะพานควาย, รพ.เทพธารินทร์ พระราม 4, รีแฮปฮอสพิทอล ร่วมกับ Chersery Home และคลินิกบ้านหมอ รังสิต โดยมีรายได้เพิ่ม 50% จำนวน 1,800 ล้านบาท

เจาะท็อป 5 รายได้หลักพบว่า มาจากการผ่าตัด 12% ตรวจสุขภาพ 10% อายุรกรรม 9% เทพธารินทร์เด่นรักษาเบาหวาน ไทรอยด์ โรคอ้วน เมตาบอลิก, สูตินรี 8% นำเทคโนโลยีผ่าตัดด้วยกล้อง และผู้ป่วยเด็ก 6%

“ปกติรายได้ดูที่ผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน เท่ากับ 50/50 แนวโน้มครึ่งปีหลัง 2567 พบผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น คาดว่าปีนี้จะสูงเกิน 50%”

ในด้านท็อป 5 ประเภทผู้ป่วย พบว่าเพิ่มทุกกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยชำระเอง 34%, ประกันสุขภาพ 76%, รัฐบาล 20% เพิ่มขึ้นกลุ่มนี้คือ องค์กร 134% สรุปแบบฟันธงว่า แนวโน้มผู้ป่วยจ่ายเงินเองลดลง ทำแบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น

อีกเรื่องสำคัญคือประเภทผู้ป่วยไทยกับต่างชาติ พบว่า ต่างชาติมาใช้บริการ รพ.วิมุต ปี 2566 เพิ่มจากลูกค้าลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ปีนี้คาดมาเพิ่มจากอาหรับ รักษาโรคยาก ๆ ซับซ้อน โดยเฉพาะแผลเบาหวาน, ผู้ป่วยจากออสเตรเลีย ทำศัลยกรรมความงาม

สรุป ปี 2023 เป็นปีแห่งความร่วมมือของแผนธุรกิจ รพ.วิมุต มีทั้งการเปิดศูนย์ส่องกล้อง-ตรวจลำไส้ทางเดินอาหาร, ร่วมกับทีมหมอทำศูนย์ผ่าตัดเลสิก, ตรวจเคลื่อนที่ Mobile Check Up, คลินิกทางไกล, ร่วมมือ รพ.รัฐ ในการฟื้นฟูผู้สูงอายุ รักษาลองเทอมแคร์ที่บางนา-วงแหวน ฟื้นฟูหลังจากผ่านช่วงวิกฤต โดยเบิกเงินจาก สปสช. เป็นต้น

แผนธุรกิจปี 2024 ตั้งเป้าเพิ่มเตียงจาก 100 เตียง เป็น 150 เตียง รองรับความร่วมมือพันธมิตร, เปิด “วีไอพีวอร์ด” มีวอร์ดเฉพาะทาง เช่น วอร์ดศัลยกรรม วอร์ดเด็ก รองรับลูกค้าผู้ป่วยต่างชาติ, ร่วมมือกับนัลลูรี+เฌ้อสเซอรี่โฮม รองรับเทรนด์สุขภาพ

มีการทำการตลาดเชิงรุกลูกค้าประเทศเพื่อนบ้าน โฟกัสกลุ่ม CLMV รวมทั้ง รพ.วิมุตทำการตลาดเจาะซาอุดีอาระเบีย และมีคอมมิตเมนต์ส่งคนไข้มาไทย นอกจากนี้ มีการลงทุนร่วมกับพันธมิตร Pathology Asia แล็บใหญ่สุดในอาเซียนและออสเตรเลีย จัดบริการใน รพ.เทพธารินทร์กับ รพ.วิมุต ปีนี้จะเริ่มให้บริการ รพ.นอกกลุ่มมากขึ้น

ควบคู่ลงทุนอุดช่องว่าง “ลองเทอมเฮลท์แคร์” แทรกกึ่งกลางระหว่างธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม กับธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งพบว่ามีดีมานด์สูงมากในปัจจุบันและอนาคต

21/2/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 กุมภาพันธ์ 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS