info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.210.149.218

รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ยกระดับ “มารีน่า” สู่ไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่น

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

ราว 20 ปีที่ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” หรือ RPM โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-use) หรูในภูเก็ต เข้าลงทุนในธุรกิจท่าจอดเรือยอชต์ หรือมารีน่า รวมถึงโครงการที่อยู่อาศัย รีเทล ร้านอาหาร ผับ-บาร์ และสำนักงานให้เช่า

โดยเมื่อ 8-9 ปีก่อน “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ได้ประกาศแผนลงทุนมากถึง 5,000 ล้านบาท (5 ปี) ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งโรงแรม เรสซิเดนซ์หรู พร้อมเติมแม็กเนตในส่วนของร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ เพื่อทำให้โครงการแห่งนี้กลายเป็น “ไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่น” แห่งใหม่ของภูเก็ตและของเอเชีย แต่ด้วยวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหยุดเพื่อทบทวนแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “กูลู ลาวานี” ประธานบริหาร รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ถึงการสานต่อแผนพัฒนาโครงการรอยัล ภูเก็ต มารีน่า อีกครั้ง หลังสถานการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติ ไว้ดังนี้

“ลาวานี” บอกว่า โครงการ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” มีพื้นที่รวม 185 ไร่ โดยในเฟสแรกลงทุนเฉพาะมารีน่า หรือที่จอดเรือยอชต์ เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบการล่องเรือ และเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรื่องลดภาษีนำเข้าเรือยอชต์ให้เหลือศูนย์ ในช่วงประมาณปี 2004 หรือปี พ.ศ. 2547 เพื่อยกระดับประเทศให้เป็น “ยอชต์เดสติเนชั่น”

และเป็น “สวรรค์” ของนักล่องเรือ หรือ Riviera Asia ซึ่งที่ผ่านมาเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ ขณะที่คนไทยก็มีแนวโน้มนำเข้าเรือยอชต์เพิ่มมากขึ้น

“เราเห็นเทรนด์ของการนำเข้าและการถือครองเรือยอชต์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราจึงทุ่มพัฒนามารีน่ารองรับ ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับดีมาก มีอัตราการจองที่จอดเต็มทั้ง 250 ที่จอด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะค่าบริการของเราค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับมารีน่าในสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ให้บริการมารีน่ารวมถึง 6 แห่ง”

หลังจากนั้นก็มีการลงทุนเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิลล่า พูลวิลล่า (มีที่จอดเรือใต้ถุนบ้าน) เรสซิเดนซ์ ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ทุกธุรกิจจะเน้นความเป็นลักเซอรี่ทั้งหมด เช่น พูลวิลล่า ราคาเริ่มต้นที่ 165 ล้านบาท คอนโดมิเนียม มีพื้นที่ตั้งแต่ 154 ตารางเมตรขึ้นไป ราคาเริ่มต้นที่ 13.5 ล้านบาท เป็นต้น

โดยย้ำว่า การลงทุนและพัฒนาธุรกิจของ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” นั้นเกิดขึ้นจากความรักและมาจาก Passion ล้วน ๆ

ลงทุนไปแล้วกว่า 2 พันล้าน

ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ถูกพัฒนาไปแล้วเพียงแค่ประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 35% ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบด้วย ที่จอดเรือยอชต์ที่รองรับได้ถึง 250 ลำ พูลวิลล่า 6 หลัง (สามารถจอดเรือส่วนตัวได้) อพาร์ตเมนต์ เรสซิเดนซ์ เพนต์เฮาส์ ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ให้เช่าสำหรับสำนักงาน ร้านค้า ฯลฯ

รวมมูลค่าที่ลงทุนไปแล้วประมาณ 60 ล้านเหรียญ หรือกว่า 2,000 ล้านบาท ไม่รวมที่ดินที่ประเมินมูลค่าไว้ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท

และด้วยทำเลที่ตั้งของโครงการถูกล้อมรอบด้วยเกาะกว่า 32 แห่ง สถานที่แห่งนี้จึงเหมือนฮับของการท่องเที่ยวทางน้ำของภูเก็ต ปัจจุบันมีบริษัทให้บริการเรือนำเที่ยวและ Yacht Charter รวมถึงบริษัททัวร์มาเช่าพื้นที่ให้บริการภายในโครงการด้วย

ทำให้ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ในวันนี้ นอกจากจะเป็นมารีน่ารองรับการจอดเรือและการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ไปตามเกาะต่าง ๆ ของภูเก็ต และพังงาแล้วยังเป็นศูนย์รวมบริการที่เป็นลักเซอรี่ในส่วนของที่พักอาศัย ทั้งวิลล่า พูลวิลล่า เรสซิเดนซ์ ฯลฯ

ลงทุน รร.-พูลวิลล่า 1.5 พันล้าน

“ลาวานี” บอกด้วยว่า ตอนนี้สถานการณ์ของการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยนิ่งและเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยจากข้อมูลของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตแล้ว 1,036,667 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า 27%

และพบว่าในจำนวนนี้เดินทางมายัง “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ประมาณ 10% หรือประมาณ 1,800-2,000 คนต่อวัน แบ่งเป็น ชาวต่างชาติประมาณ 98% ซึ่งมีตลาดรัสเซียมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และจีน ส่วนอีก 2% ที่เหลือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย

ขณะเดียวกันก็พบอีกว่ามีบริษัทพัฒนาอสังริมทรัพย์รายใหญ่ ทั้งจากส่วนกลางคือกรุงเทพฯ และทุนใหญ่ในพื้นที่เริ่มขยับตัวลงทุนในโครงการใหม่ ๆ อย่างคึกคัก ตนจึงนำแผนลงทุนที่เคยประกาศไปเมื่อหลายปีก่อนกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากที่ดินของโครงการยังเหลือสำหรับการพัฒนาเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

โดยทำการปรับแผนใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ และพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิดล่าสุดมีแผนพัฒนาในส่วนของธุรกิจโรงแรมและวิลล่า รวมมูลค่าลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท

การลงทุนครั้งใหม่นี้นับเป็นการลงทุนเฟส 5 ของโครงการ ประกอบด้วย ลักเซอรี่ โฮเทล ลักเซอรี่ อพาร์ตเมนต์ และลักเซอรี่ พูลวิลล่า โดยในส่วนของโรงแรมจะลงทุนโรงแรมระดับ 5 ดาว จำนวน 2 แห่ง รวมประมาณ 300-400 ห้อง บนพื้นที่ 17.7 ไร่ แต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นด้านคอนเซ็ปต์ การดีไซน์ และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

ส่วนอพาร์ตเมนต์ มีจำนวน 80-81 ห้อง พูลวิลล่า (มีที่จอดเรือส่วนตัว) จำนวน 42 หลัง และเพนต์เฮาส์ 2 ห้อง โดยจะก่อสร้างบนพื้นที่ 18.3 ไร่ เชื่อมต่อกับโครงการเดิม

ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการดังกล่าวออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการขออนุญาต EIA ซึ่งคาดว่าจะประกาศเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2567 นี้ จากนั้นจะใช้เวลาสำหรับการก่อสร้างราว 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงประมาณปลายปี 2569

“จากการสำรวจข้อมูลเราพบว่าสิ่งที่ภูเก็ตขาดคือ วิลล่า พูลวิลล่า และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในระดับลักเซอรี่ที่เป็นนิชมาร์เก็ต รองรับทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ”

เติมแม็กเนต “ไลฟ์สไตล์”

สำหรับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือ การเติมแม็กเนตใหม่เพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยดึงท็อปดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบ และเนรมิตทางเข้าออกโครงการใหม่ให้มีความเป็นไทยสมัยใหม่ มีลานจัดกิจกรรม และเพิ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็น 29-30 ยูนิต บริเวณรอบพื้นที่บอร์ดวอล์ก โดยคัดร้านอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัดภูเก็ตมารวมไว้ในที่แห่งนี้ จากเดิมที่มีอยู่เพียงแค่ 2-3 ยูนิต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงต้นปีหน้า

โดยเป้าหมายของการลงทุนในเฟส 5 นี้คือ การทำให้โครงการ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” แห่งนี้เป็น “ไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่น” และเป็นฮับในการ Check-in Point แห่งใหม่ของภูเก็ต

“ลาวานี” ทิ้งท้ายว่า แผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดนี้จะเปิดตัวและให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2567 นี้

ปักหมุด “ท่าจอดเรือ” ปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย

โครงการ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาความหรูหรา การผจญภัย และความยั่งยืน ทั้งกลุ่มที่เป็นเจ้าของเรือยอชต์และผู้ที่ชื่นชอบกีฬาทางน้ำ

เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพ ความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และถือว่าเป็นหนึ่งใน “เดสติเนชั่น” หลักที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

ที่สำคัญ “ภูเก็ต” ยังเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และระยาวอย่างรัสเซีย เยอรมนี อเมริกา ฯลฯ เดินทางกเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง

ล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ได้ประกาศตัวในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของเอเชีย ตอกย้ำในฐานะผู้นำการพัฒนาด้านความยั่งยืน

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่มาจากความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

“กูลู ลาวานี” ประธานบริหาร รอยัล ภูเก็ต มารีน่า เล่าว่า เขาเริ่มนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารที่จอดเรือในร่ม ซึ่งจ่ายพลังงานได้มากกว่า 40% ต่อวัน

ต่อมาได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ เพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน

ขณะเดียวกันก็ยังได้ทำงานร่วมกับภายในโครงการในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท รวมถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ติดตั้งจุดเติมน้ำดื่มภายในโครงการฟรี 5 จุดเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก

จัดให้มีจุดแยกขยะ มีเรือเก็บขยะในทะเลเพื่อทำความสะอาดทะลทุกวัน การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวช่วยกันลดขยะ มีการจัดการเรื่องขยะอาหารที่เป็นระบบ และตรวจวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมถึงตั้งจุด Monitor คุณภาพอากาศภายในโครงการ

ขณะที่ในส่วนของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นั้นได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วรวม 173.44 kWp และกำลังมีแผนติดตั้งขนาดประมาณ 100 kWp เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้

ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานสำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย

นอกจากนี้ ยังมีให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีการจ้างงานพนักงานจากจังหวัดภูเก็ตกว่า 31%

โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกด้วย จึงมั่นใจได้ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ดำเนินงานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และนำแนวทางปฏิบัติด้านนวัตกรรมที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/tourism/news-1550652

2/5/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 พฤษภาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS