สพ.ญ.ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ รพ.สัตว์อารักษ์เดินหน้ารุกขยายสาขาต่อเนื่อง ล่าสุดทุ่มงบฯกว่า 100 ล้าน เปิดตัวสาขาแฟลกชิปแห่งแรกย่าน ทองหล่อ ปั้นเป็น Referral Center ครบวงจร คาด 1 ปีหลังคนใช้บริการ 6 พันครัวเรือน
วันที่ 5 กันยายน 2567 สพญ.ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ เปิดเผยว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยตอนนี้คาดการณ์ว่ามีมูลค่ามากกว่า 75,000 ล้านบาท โดยอาหารสัตว์มีสัดส่วนมากถึง 59% ขณะที่โรงพยาบาลสัตว์มีสัดส่วน 9% หรือเท่ากับ 6,640 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของ Pet Parents หรือคนที่เลี้ยงสัตว์เสมือนลูกหรือคนในครอบครัวมากขึ้น
เช่นเดียวกับ รพ.สัตว์อารักษ์ หลังจากได้เปิดให้บริการสาขาแรกที่สาขาหลังสวน บนพื้นที่ประมาณ 700 ตร.ม. ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ก็พบว่ามีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากกว่า 2,500 ครัวเรือน โดยมียอดใช้จ่ายต่อบิลอยู่ที่ประมาณ 2,500-2,700 บาท (สำหรับการใช้บริการต่าง ๆ ใน รพ.)
ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดยังคงมีดีมานด์ต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงต้นปี 2567 รพ.สัตว์อารักษ์ จึงได้เปิดเพิ่มอีก 2 สาขาใหม่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขนาด 900 ตร.ม. และภูเก็ต ขนาด 500 ตร.ม. โดยใช้งบฯลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ประมาณ 30-40 ล้านบาท
ทุ่มฯ 100 ล้าน-เปิดแฟลกชิปแห่งแรก
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง รพ.ได้ทุ่มงบฯลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เปิดตัวแฟลกชิปแห่งแรกที่ทองหล่อ บนพื้นที่ประมาณ 5,000 ตร.ม. โดยสาขานี้จะเป็นสาขาต้นแบบศูนย์การตรวจสุขภาพ (Hub Model) และศูนย์ส่งต่อ (Referral Center) สัตว์เลี้ยงแก่โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงทั่วไป ซึ่งจะเน้นเจาะกลุ่มพรีเมี่ยมแมส ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้
การเลือกมาเปิดสาขาแฟลกชิปบนทำเลทองหล่อ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และรายล้อมไปด้วยคอนโดมิเนียม ร้านอาหารที่มีพื้นที่สำหรับ Pet Friendly ค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันแถวนี้ยังไม่ค่อยมี รพ.สัตว์ ที่สามารถรักษาได้ครบวงจร จึงมองว่าทำเลนี้เหมาะที่จะเปิดเป็นสาขาแฟลกชิปที่ให้บริการได้ครบวงจรเป็นที่แรก
ชูเทคโนโลยี-รักษาครบวงจร
สำหรับบริการจะมีทั้งบริการแบบ Medical ตรวจรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง และ Nonmedical การดูแลและส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยง ซึ่งได้แก่ Pet Hotel บริการโรงแรมที่พัก, Daycare บริการดูแลระหว่างวัน, Pet Salon บริการอาบน้ำตัดขน ฯลฯ
รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการรักษา ไม่ว่าจะทั้ง 3D Echocardiogram ตรวจหัวใจแบบ 3 มิติ และ CT Scan ภาพเอกซเรย์อวัยวะภายใน 3 มิติ Slit Lamp การตรวจตาที่ต่อกล้องมอนิเตอร์ให้เห็นภาพก่อนหลังการรักษาได้อย่างชัดเจน และเครื่อง Phacoemulsification ผ่าตัดสลายต้อกระจกแผลเล็ก เป็นต้น ซึ่งใช้งบฯลงทุนในส่วนของเครื่องมือแพทย์ประมาณกว่า 60 ล้านบาท
โดยคาดการณ์ว่าภายใน 1 ปีหลังจากเปิดให้บริการจะมีผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 6,000 ครัวเรือน รวมถึงมั่นใจว่าสาขาแฟลกชิปนี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเหล่า Pet Parents ที่มีเพิ่มมากขึ้นได้เป็นอย่างดี
รุกขยายสาขาต่อเนื่อง
สำหรับแผนการดำเนินงานจากนี้ไป รพ.จะยังคงเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการขยายเพิ่มอีก 1 สาขา ที่เพชรเกษม บนพื้นที่ประมาณ 900 ตร.ม. ขณะที่ปีหน้ามีแพลนเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่ที่เล็งไว้อยู่แถวถนนพระราม 2
นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายการดำเนินงานไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในอนาคต (Pet Healthcare) เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าวคาดว่าสิ้นปี 2567 รพ.สัตว์อารักษ์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครึ่งปีหลังสำหรับภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยง ยังคงมองว่าจะมีการเติบโต แต่อาจจะไม่ได้เติบโตสูงเทียบกับเมื่อช่วงโควิด-19 เนื่องด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ตลาดแข่งเดือด-แห่รีครูตสัตวแพทย์
สำหรับในส่วนของการแข่งขันในตลาด ถึงแม้ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดสัตว์เลี้ยงยังคงดุเดือด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ รพ.สัตว์ ที่ต่อปีมีการเปิด รพ.สัตว์และคลินิกเพิ่มขึ้นถึง 600-700 แห่ง แต่ รพ.สัตว์อารักษ์ ก็มีแผนรับมือเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปได้
โดยหลัก ๆ ได้วางแผนในส่วนของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผ่านการจัดแคมเปญทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งล่าสุดจะมีการจัดแพ็กเกจโปรแกรมการรักษา ไม่ว่าจะทั้งการรักษาด้านผิวหนัง หัวใจ ตา และอัลตราซาวนด์ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ รพ.มากยิ่งขึ้น รวมถึงยังมีการเข้าไปร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับคณะสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ
เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าจำนวนสัตวแพทย์ที่จบใหม่ โดยส่วนใหญ่ก็มักจะไปเปิดคลินิก หรือ รพ. ด้วยตนเอง ทำให้ปัญหาของการขาดแคลนสัตวแพทย์ก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง จึงทำให้หลาย ๆ รพ.ต้องพยายามเข้าไปสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้นักศึกษาที่จบใหม่ทางด้านนี้สนใจอยากจะเข้ามาทำงานกับเรามากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจากการที่เราทำในส่วนนี้จะสามารถรีครูตสัตวแพทย์ที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงานกับเราได้ไม่มากก็น้อย
5/9/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 กันยายน 2567 )