info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.237.15.145

ปีทอง WHA Group เนรมิตขุมทรัพย์ที่ดิน “หมื่นไร่” สู่นิคมใหม่

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ปี 2566 บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำรายได้ทุบสถิติ จากการปิดดีลใหญ่ของนักลงทุนระดับโลกอย่างฉางอาน ผ่านมาถึงไตรมาส 3 ของปี 2567 คือช่วงจังหวะใกล้เข้าสู่จุดพีกที่สุดในการสร้างทั้งรายได้และกำไรอีกครั้ง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ถือเป็นแม่ทัพหญิงเหล็ก ที่ได้วางกลยุทธ์ทั้ง 4 ธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ สาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้า และดิจิทัล ทุกองค์ประกอบ เสริมให้ธุรกิตจมีความโดดเด่นสร้างรายได้ให้กับบริษัท ด้วยความเป็นมืออาชีพ

ครึ่งปีหลังยอดขายทะลุ 1,400 ไร่

WHA อ่านเกมขาด ประเมินดีมานด์จากลูกค้าที่มีในมือและลูกค้าในอนาคต และพัฒนาที่ดินตอบสนองโจทย์ของนักลงทุน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ปัจจุบันตัวเลขยอดขายที่ดิน 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2567) 1,042 ไร่ ครึ่งปีหลังจะมียอดขายอีก 1,400 ไร่ แม้ว่าช่วงกลางปีจะปรับเป้ายอดขายที่ดินปี 2567 ไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ด้วยปัจจัยบวกมากมาย ทำให้ “จรีพร” ต้องประกาศปรับเป้ายอดขายที่ดินใหม่อีกครั้งเป็น 2,500 ไร่ จากเป้าที่ตั้งไว้ 2,275 ไร่ รองรับการลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก

หลังการเจรจาซื้อขายที่ดินได้ลุล่วงไปแล้วก่อนหน้านี้ 300 ไร่ และเตรียมปิดดีลเพิ่มอีก 600 ไร่ในไม่ช้า ซึ่งยังคงไม่รวมกับการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ จากค่ายรถ EV ของจีนและเกาหลี ที่จะตัดสินใจลงทุนในปี 2568

ในขณะที่ WHA เอง ได้รวบรวมพื้นที่ไว้ในมือแล้วกว่า 10,000 ไร่ ใน 4 ปีข้างหน้า (2566-2570) สำหรับในประเทศไทย รองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 6 แห่ง ส่วนในเวียดนามมีแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง โดยได้เริ่มทยอยพัฒนาแล้วตั้งแต่ปี 2566 ส่วนในปี 2567 ได้มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไทยแล้ว 3 แห่ง และประเทศเวียดนาม 2 แห่ง

จะเห็นได้ว่าเฉพาะปี 2567 นี้ WHA ทุ่มสุดตัวเพื่อพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมถึง 5 แห่งในคราวเดียว เป็นครั้งแรกของการดำเนินธุรกิจ จากเดิมการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะทำเพียงครั้งละ 1 แห่งเท่านั้น และเป็นการสร้างไปขายไป แต่จากนี้ปรากฏการณ์ครั้งใหม่จะเป็นการสร้างเพื่อรอขาย เนื่องจากดีมานด์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ขณะนี้ WHA พัฒนาที่ดินไม่ทันกับความต้องการที่เกิดขึ้น

กางแผน 5 ปี

โดย WHA มีแผนลงทุน 78,700 ล้านบาทใน 5 ปี (2566-2570) พัฒนาโครงการในไปป์ไลน์ 52,360 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2566 WHA ได้พัฒนาที่ดินที่มีอยู่ในมือรวมแล้ว 43,200 ไร่ มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 12 แห่ง โดยนิคมอุตสาหกรรม WHA IER เฟส 1 คือ รายล่าสุดในปีที่ผ่านมา และในปี 2566 นี้เองที่ทำให้ WHA มียอดขายที่ดินรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2,767 ไร่ สอดคล้องกับภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นจากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิต

ส่วนแผนการพัฒนาที่ดินในปี 2567 นี้ จะเกิดขึ้นอีก 3 แห่ง นั่นคือ นิคมอุตสาหกรรม WHA IER เฟส 2, นิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 3.1, นิคมอุตสาหกรรม WHA Rayong 36 เฟส 2 ซึ่งนิคมแห่งนี้ เฟส 1 ได้เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถ EV พวงมาลัยขวาของ BYD เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป นับเป็นดีลใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

และในปีนี้ยังคงคาดว่าไทยจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตเช่นเดิม ซึ่งจะทำให้ WHA มียอดพัฒนาที่ดินในปี 2567 ได้ 2,410 ไร่ จากนั้นในปี 2568 WHA จะเริ่มพัฒนาพื้นที่เพิ่มเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 4 เฟส 3, นิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 2.1 และนิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 5 เฟส 1 จะทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 2,370 ไร่ แน่นอนว่าสามารถนับเป็นยอดขายที่ดินเลยก็ว่าได้ เพราะเชื่อว่าดีมานด์จะเต็มตามที่คาดไว้

สำหรับ WHA ESIE 5 กำลังจะเป็นพื้นที่พิเศษอีกแห่งของ WHA ด้วยแผนการสร้างดังกล่าว จะไม่ใช่เพียงพื้นที่ของเขตโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งกันไว้เป็น Residential Area เพื่อสร้าง “คอนโดมิเนียม” ที่มีจำนวน 8 ตึก เป็นธุรกิจที่ WHA จะนำเข้ามารวมไว้ในแพ็กเกจเพื่อเสนอขายพ่วงให้กับนักลงทุน เพราะคอนโดมิเนียมแห่งนี้จะเป็นลักษณะของการให้เช่าไว้สำหรับพนักงาน บุคลากรต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

โดยเฉพาะที่ทำงานในบริษัทที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 5 แห่งนี้ ในขณะที่ราคาที่ดินยอมรับว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านบาท/ไร่ แต่เชื่อว่ามันคือพื้นที่ที่ครบวงจรและมีศักยภาพที่ดีที่สุด

ในขณะที่ปี 2569 จะเริ่มพัฒนาเพิ่มอีก 1,980 ไร่ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 5 เฟส 2 และในปี 2570 จะพัฒนาที่ดิน 2,400 ไร่ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม WHA SIL 2 และในที่สุดก็จะเห็นการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดตามแผน 52,360 ไร่

นักลงทุนจีนแซงญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สัดส่วนนักลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน 1,052 ราย จากเดิมเป็นญี่ปุ่นสัดส่วน 27% ปัจจุบันยอมรับว่าสัดส่วนมีการปรับลดลงเหลือเพียง 6% เท่านั้น ในขณะที่สัดส่วนของนักลงทุนจีนจากเดิมที่มีอยู่ 21% เพิ่มขึ้นเป็น 65% ที่เหลือยังคงมีนักลงทุนหลากหลายสัญชาติรวมถึงไทย ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ปัจจุบันอยู่ที่ 7%

การเข้ามาของนักลงทุนจีนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เริ่มเห็นอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น บวกกับรัฐบาลไทยได้พยายามเร่งสร้างเสน่ห์และบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้มีความน่าสนใจ ผลที่ตามมาคือ สิทธิประโยชน์ที่จูงใจไม่น้อย

ทำให้ท้ายที่สุดแล้วไทยคือ จุดมุ่งหมายของนักลงทุนต่างชาติจริงในปี 2565 การประกาศลงทุนครั้งใหญ่โดยเลือกไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ของค่ายรถยักษ์ใหญ่ของจีน ยิ่งตอกย้ำว่าไทยไม่ใช่อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ หรือ EV ศูนย์เหรียญ ตามที่หลายคนกังวล ปัจจุบันไทยได้กลายเป็นคลัสเตอร์ EV เรียบร้อยแล้ว

เหตุใดนักลงทุนจีนถึงเลือกไทย “จรีพร” กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศอินโดนีเซียได้เคยประกาศจะเป็นฐานผลิตรถ EV ด้วยมีวัตถุดิบสำคัญคือ “แร่นิกเกิล” เพราะนี่จะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถ EV ทำให้นักลงทุนลังเลและทำการบ้านกันอย่างหนัก เพื่อศึกษาและใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่ที่สุดแล้วนักลงทุนก็เลือกไทย เพราะการเบนเข็มไปลงทุนที่อื่นนั้น จำเป็นต้องไปเริ่มสร้าง Ecosystem ใหม่ทั้งหมด ไทยเองมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ซัพพลายเชนเมื่อลงทุนแล้วสามารถผลิตได้เลยทันที บวกกับสกิลของแรงงานที่มีศักยภาพอย่างมาก

ซึ่งแม้ว่าวันนี้ WHA ในฐานะเอกชนผู้พัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนมีความพร้อมทั้งหมดแล้ว แต่ภาครัฐเองก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างบรรยากาศให้น่าลงทุนควบคู่ไปด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิประโยชน์ ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือให้สิทธิประโยชน์ตามที่เคยประกาศไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ต่อให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง นักลงทุนก็ยังจะลงทุนในไทยเช่นเดิม

“ปี 2567 WHA จะทำยอดขายและกำไรสูงสุดเป็นปีที่ 3 ได้ นอกจากยอดขายในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีธุรกิจอีก 3 ธุรกิจจะสร้างรายได้และจะเป็นตัวดันให้ถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก”

โดย “ธุรกิจโลจิสติกส์” จะใช้กลยุทธ์ที่มุ่งขยายธุรกิจในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปริมณฑล และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปี 2567 ตั้งเป้าหมายพื้นที่ให้เช่าใหม่ และสัญญาเช่าใหม่รวม 200,000 ตารางเมตร มุ่งเน้นคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit คาดว่าครึ่งปีหลัง จะส่งมอบพื้นที่ให้เช่าใหม่มากกว่า 140,000 ตร.ม.

ตามมาด้วย “ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ)” ปีนี้ ตั้งเป้ายอดขายน้ำ 178 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วน “ธุรกิจไฟฟ้า” ยังคงเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงาน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามแล้วเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากพลังงานสะอาด 472 เมกะวัตต์ และแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ทั้งยังยกระดับองค์กรด้วย “ธุรกิจดิจิทัล” สู่เป้าหมายการเป็น Technology Company ในปี 2567

สะท้อนว่า WHA Group ที่เตรียมพร้อมในทุกมิติ พัฒนาแนวทางธุรกิจให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก รวมถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และกำลังปฏิวัติองค์กร สู่เป้าหมายการเป็น Tech & Sustainable Company เต็มรูปแบบในปี 2568

16/9/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 กันยายน 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS