บิ๊กเนมภาครัฐ-เอกชน ร่วมขึ้นเวทีสัมมนา ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน จัดโดยเครือมติชน และ กมธ.อว. ประธานและประธานที่ปรึกษากมธ.อว. พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรม PCB ไทยผงาดติดอันดับโลก ชี้เป็นเรือธงใหม่ด้านเศรษฐกิจ กสทช.ชี้ไทยพร้อมทุกด้านและได้เปรียบเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย บีโอไอเผยตัวเลขลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้าน อนาคตเพิ่มขึ้นอีก คาดสร้างงานไม่ต่ำกว่าแสนตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. เครือมติชนร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) จัดสัมมนาเรื่อง ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน ณ ห้องอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
นายวรศักดิ์ ประยูรศุข รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ในเครือมติชน และบรรณาธิการ กอง บก.ประชาชาติธุรกิจ, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ในเครือมติชน และบรรณาธิการ กอง บก.ข่าวสด, นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กอง บก.มติชน, นายจรัญ พงษ์จีน ที่ปรึกษา บมจ.มติชน ฯลฯ ร่วมต้อนรับวิทยากรจากาครัฐและเอกชน
นำโดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฯลฯ
PCB นำไทยสู่โลกดิจิทัล
นายฐากรปาฐกถาพิเศษว่า PCB (Printed Circuit Board) หรือแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกระดูกสันหลังในการเชื่อมต่อวงจรของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์สื่อสาร ระบบสารสนเทศแห่งอนาคต คอมพิวเตอร์ AI Server และยานยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทย โดยแต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออก PCB ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดโลกที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท 4%
กมธ.อว. มีหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มทักษะการทำงาน และส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ วิจัยนำ นวัตกรรมตาม ซึ่ง PCB เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะพาไทยก้าวสู่โลกยุคดิจิทัล และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้
ขยายตัวเพิ่มอีก 5.3 แสนล้าน
การผลักดันอุตสาหกรรม PCB ของไทยให้เติบโตตามภาพรวมของตลาดโลก ที่มีโอกาสขยายตัวอีก 5.3 แสนล้านบาท ในปี 2569 ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหารือร่วมกันว่าจะทำให้ไทยมีส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างไร
หากไทยนำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อีก 50 โรงงาน เชื่อว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาด PCB โลก จะโตเป็น 10-15% เป็นที่ 4 รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งการจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. BOI และ EEC
การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB เพื่อพาไทยผ่านพ้นพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า และเปลี่ยน PCB จากเศรษฐกิจแสนล้านเป็นหลายแสนล้านบาท
มอง PCB อุตฯเรือธงใหม่
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) กล่าวว่า อุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นมาก ก่อนหน้าไม่ถึง 3 หมื่นล้าน แต่เมื่อปี 2566 พุ่งทะลุแสนล้าน
อุตสาหกรรม PCB อาจเป็นเรือธงของประเทศไทยในอนาคต เพราะเป็นธุรกิจระดับแสนล้าน มีความน่าสนใจที่เราต้องช่วงชิง แต่เราจะช่วงชิงอย่างไรในสถานการณ์นี้ เพราะส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ คือ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ประเทศไทยอยู่ลำดับ 5-6 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3-4% จึงมองว่าไทยมีโอกาสขึ้นอันดับ 3 ได้ แต่ต้องใช้ในความได้เปรียบเรื่องจีโอโพลิติก หรือภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ
ปธ.กสทช.ชี้ PCB สำคัญมาก
ศ.คลินิก นพ.สรณกล่าวว่า PCB เป็นเหมือน ซีแนปส์ หรือจุดรวมประสาท อยู่ในทุกอย่างไม่ว่าเราเตอร์ไวไฟที่เราใช้ที่บ้าน เสา 5G ทั้งหมด นับรวมไปถึงตัวรับส่งสัญญาณไปถึง 30,000 กิโลบนอวกาศ ซึ่งโครงข่ายเหล่านี้ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นในการติดต่อสื่อสาร ตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ นาฬิกา ทุกอย่างที่เราใช้ หรือแวร์เอเบิลดีไวซ์ ที่เราใช้ดูแลสุขภาพของเรา PCB ล้วนเป็นพื้นฐานการพัฒนา
ความท้าทายในการทำ PCB คือเรื่องฮาร์ดแวร์ ในขณะที่คนในบ้านเรา เยาวชนหรือว่าคนรุ่นใหม่ จะเก่งทำซอฟต์แวร์ แต่ต้องเน้นย้ำว่าเรื่องของฮาร์ดแวร์มาก่อนซอฟต์แวร์ ถ้าแรงงานของเราทำฮาร์ดแวร์เก่ง ซอฟต์แวร์ก็ตามมาเอง
ไทยมีความพร้อมทุกด้าน
ถามว่าทำไมต้องเป็นประเทศไทย เรื่องแรกคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งทั้งคู่ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เรา ถ้าเราสามารถที่จะทำสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าจะย้ายฐานการผลิตมาที่เราก็ดี เพราะว่าเรามีแรงงานมีทักษะ เรามีค่าจ้างแรงงานที่ดี เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี
เรามีการส่งเสริมใน EEC การส่งเสริมผ่านสิทธิประโยชน์การลงทุน แล้วเรามีนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำความสำคัญ ทั้งเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลเน้นย้ำในการแถลงนโยบาย เหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญ ที่เราจะพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ให้ก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้น
กสทช.หวังขึ้นผู้นำการผลิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ทาง กสทช.มีการส่งเสริมการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านโทรคมนาคม ซึ่งงานสำคัญอันหนึ่งคือการสร้างอุตสาหกรรม PCB ให้เป็นจุดแข็งของประเทศ มีเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
เราสามารถส่งเสริม และสนับสนุนในการพัฒนา PCB ให้เป็นไปได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเราจะได้เป็นประเทศชั้นนำในการผลิตในภาคอาเซียนต่อไป
บีโอไอหนุนครบวงจร
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า กระแสการลงทุนมีความร้อนแรงมาตั้งแต่ปี 2566 ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 50 โครงการ ทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดจากอุตสาหกรรม PCB เพิ่มขึ้น 10-15% จึงนับว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญมาก
ปัจจุบันตัวเลขยื่นขอรับบีโอไอจาก PCB เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 8 เดือนเข้ามาขอบีโอไอกว่า 70 โครงการ คาดปี 2567 นี้ ทั้งอุตสาหกรรม PCB อาจจะมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท และจะเห็นการทยอยเข้ามาลงทุนของซัพพลายเชนเพิ่มเติม ด้วยบางซัพพลายเชนไทยยังไม่มีและยังไม่สามารถผลิตได้ จึงจำเป็นที่ต้องส่งเสริมการลงทุนในส่วนนี้เพิ่มด้วยเช่นกัน จากนั้นในชอตต่อไป เราจะเห็นการขยายการลงทุนมากขึ้น และในที่สุดไทยจะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครบ
ลงทุน 2 แสน ล.-จ้างแสนคน
ใน 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) ที่ขอรับบีโอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรนิกส์ จะเห็นว่าเป็น PCB มีมูลค่า 50,000 ล้านบาท และหากดูช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2561-2567) พบว่ามีมูลค่าการลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท และแน่นอนว่าเมื่อมีการตั้งโรงงานเต็มรูปแบบเฟสแรก จะมีการจ้างงานถึง 20,000 คน และในอนาคตจะสูงสุดถึง 100,000 คน
มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 100,000 ล้านบาท/ปี และสามารถส่งออกได้สูงถึง 700,000 ล้านบาท/ปี ทำให้ไทยอยู่อันดับ 1 ของอาเซียน และจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Top 5 ของโลก ซึ่งขณะนี้เบอร์ต้น ๆ ของโลก คือ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และอีกไม่ช้าไทยจะเข้าไปอยู่ใน Map ของโลก
เต่าบินย้ำไทยต้องได้ประโยชน์
นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้เต่าบิน กล่าวว่า การดึงต่างชาติมาลงทุนในไทยเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องจับตาใน 3 ด้านหลัก ๆ ทั้งการจัดการของเสีย เนื่องจากอุตสาหกรรม PCB ใช้สารเคมีจำนวนมาก ต้องมีข้อกำหนดมาควบคุมและบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
อีกด้านคือประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ทั้งด้านการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบในประเทศ หลังภาคอุตสาหกรรมจีนพัฒนาไปมากจนสามารถลดต้นทุนได้ดี จึงเสี่ยงที่ซัพพลายเออร์ไทยอาจไม่สามารถสู้ราคาได้ เช่นเดียวกับการใช้หุ่นยนต์ในไลน์ผลิต ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการจ้างแรงงานมากนัก
นอกจากนี้ยังต้องระวังการถูกลูกหลงจากสงครามการค้า เพราะการให้ประเทศคู่ขัดแย้งมาตั้งฐานการผลิตและส่งออก หากไม่มีข้อกำหนดที่รัดกุมของสถานะสินค้าผลิตในไทย อาจทำให้สินค้าเมดอินไทยแลนด์อื่น ๆ ตกเป็นเป้าของการกีดกันทางการค้าไปด้วย
มะกันสกัดอีวีจีน-โอกาสไทย
นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ส่วนใหญ่ใช้ PCB หมดแล้ว ทุกระบบมีสมองกลควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ รถน้ำมันมีเหมือนกัน เเต่ที่ผ่านมาจะมีกล่องอีซียู
นอกจากนี้ รถอีวีจีนยังต้องเผชิญกับปัญหาจีโอโพลิติก ทำให้จีนส่งออกรถอีวีลำบาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะจีนคงไม่หยุดผลิต ทำอย่างไรจะให้ไทยหล่อที่สุด ส้มมาหล่นในไทยมากสุด
รถอีวีเป็น PCB ทั้งคัน จะต้องทำในประเทศ ผลิตในประเทศ เชื่อว่าการเปลี่ยนถ่ายจากรถน้ำมันไปเป็นรถอีวี ซัพพลายเชนเสียหายบ้างแต่ไม่เยอะ เพราะหลาย ๆ ส่วนยังต้องใช้เหมือนเดิม เช่น ช่วงล่าง กระจก เบาะ ยังเหมือนเดิม เพราะไทยไม่ได้ผลิตเครื่องยนต์ ดังนั้น ผมว่าไม่ได้เดือดร้อนมากนัก ทำอย่างไรจะทำให้การผลิตรถอีวีสัญชาติจีนให้เป็นสัญชาติไทยมากขึ้น
EEC ลุ้น ครม.ไฟเขียวประกาศสิทธิประโยชน์ดึงดูดลงทุน รับอุตฯ PCB เต็มที่
EEC รอลุ้น ครม.ไฟเขียวสิทธิประโยชน์ดึงดูดอุตสาหกรรม PCB มั่นใจ ปี 2567 ขายที่ดินทุบสถิติปี ชี้หากลงทุนตลอดห่วงโซ่ Supply Chain จะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น
วันที่ 17 กันยายน 2567 นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวระหว่างงานเสวนา ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน จัดโดย เครือมติชน ว่า EEC ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการขนส่งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ กำลังจะสร้างรถไฟความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุต ยังเป็นไปตามกำหนดเวลา มีความคืบหน้าพอสมควร
อุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Print Circuit Board : PCB) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายงานของเรา จะต้องเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับสิทธิประโยชน์ของในพื้นที่ EEC ก็มีลักษณะ Costom Mead โดยเราจะพิจารณาอยู่ 4 เหตุปัจจัยหลัก คือ ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยแยกออกมา 13 แบบ เหมือนกับ เราช่วยกาชาดกาชาดช่วยเรา เอาทั้ง 13 เรื่องนี้มาตัดเป็นคะแนนว่าให้ประโยชน์กับประเทศไทยเท่าไร หากใครให้มากก็จะได้สิทธิประโยชน์กลับไปมาก
ในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB เราจะพิจารณาจากเงื่อนไขเรื่อง การใช้ทรัพยากรในประเทศ ระดับเทคโนโลยี แผนการพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ โดย นักลงทุนที่เข้ามาเจรจา จะนำเงินลงทุนมาใช้เท่าไร จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศเท่าไร โดยปกติเราส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติเข้ามาโดยไม่มีโควตา แต่มีเงื่อนไขจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างไร ทุกการลงทุนในห่วงโซ่จะต้อง Contributed กลับมาที่ประเทศไทยเท่าไหร่ นี่คือความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นี่เป็นความแตกต่างจากการลงทุนผ่านช่องทางอื่น ไทยมีกองหน้าที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนอยู่ คือ BOI กนอ. และ
EEC ที่จะมาทำเรื่องการส่งเสริมการลงทุนในยุคใหม่ เพราะว่าเรายังอยู่ตรงปลาย ไม่ได้อยู่ต้นน้ำที่เป็นผู้ออกแบบที่สร้างกำไรสูงสุด เรายังไม่มีวัตถุดิบ ซิลิกอน ทองแดงไม่มีเยอะ เราจึงต้องรับจ้างผลิตก่อน แต่รายได้จากการลงทุนยังไม่เยอะ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับความคิดใหม่ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ล่าสุดมีนักลงทุนสนใจเข้ามาเจรจากับทางอีอีซี 110 ราย มีเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยระบบแบบนี้ นักลงทุนเห็นว่าหากให้เรามากก็จะได้กลับมากกว่า
จุดแข็ง EEC ถูกออกแบบมาครบจบอยู่ในที่เดียว เรามีที่ดิน มีสิทธิประโยชน์ รอเพียงคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบจะมีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ ที่จะไปคุยกับนักลงทุนได้ ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะดึงดูดการลงทุน ซึ่ง PCB ก็เป็นหนึ่งในนั้น เรามีการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน เช่น เรื่องของที่ดิน และเรื่องแรงงาน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ 50% ในการฝึกอบรมให้กับแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งที่มีเครือข่ายโลจิสติกส์ครบ และดิจิทัล ซึ่งกฎหมายอีอีซีเรามีลักษณะพิเศษที่สามารถออกกฎหมายย่อย และสามารถไปเป็นตัวทางลัด ที่ให้กับงานอื่น ๆ ที่เคยมีความล่าช้าได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเขตส่งเสริม 3 รูปแบบ คือ อยู่ในนิคม ภาครัฐเป็นคนนำ และแบบที่ตั้งกันเองโดยไม่ได้อยู่ในนิคม ซึ่งปัจจุบันมีดีมานด์เข้ามา 50 แห่ง มาขอตั้งเป็นเขตส่งเสริมจากรัฐ
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนยังให้ความสนใจเรื่องระบบการขนส่งภายในพื้นที่ EEC ความคืบหน้าการก่อสร้าง สนามบิน และท่าเรือ 2 แห่งแหลมฉบังและมาบตาพุด ยังเป็นไปตามกำหนดเวลา ในเรื่องนี้มีความคืบหน้าพอสมควร
นายก่อกิจกล่าวอีกว่า ตอนนี้จากปัญหาเทรดวอร์และเทควอร์ที่เกิดขึ้น ก็มีโอกาสในนั้นเช่นกัน โดยผู้นำการลงทุน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้
กรณีศึกษา ไต้หวันและเกาหลีใต้ มีต้นน้ำอยู่กับเขา มีการออกแบบเอง วัตถุดิบ และเป็นผู้นำของเรื่องนี้ ยังมีบทเรียนที่เราจะไปศึกษา โดยหากสังเกตจะเห็นว่าเกาหลีใต้ไม่มาประเทศไทย โดยไปเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยจะได้นักลงทุนจากจีน และไต้หวัน จากนี้ไปจะมีโอกาสอีกเยอะ ด้วยเรามีความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานกำลังจะเสร็จ จะสามารถทำให้การขนส่งดีขึ้น
การเดินทาง เช่น ถ้าเราเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ไปท่าเรือแหลมฉบัง ขึ้นทางด่วน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง การขนส่งเราเร็วขึ้น จากนี้หากเราจะไปต่อโดยบริบทภายใต้กฎหมาย EEC จะลดข้อจำกัดต่าง ๆ ได้เยอะ เพราะว่าการจัดทำกฎหมายที่ออกมา เป็นการเปิดรับฟังจากนักลงทุน เพื่อลดปัญหาอุปสรรคการลงทุนที่จะเกิดขึ้น และกฎหมายพิจารณาการลงทุนส่วนใหญ่ให้อำนาจ อีอีซี เป็นผู้พิจารณา ตอนนี้มีกฎหมายครอบคลุม พ.ร.บ. 8 ฉบับ 40 ใบอนุญาต ที่อยู่ภายใต้การดูแลของอีอีซี ส่งผลให้เรามีความพร้อมในเชิงกฎหมาย ส่งผลให้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น
อีกทั้งเรายังออกไปเชิญชวน ดึงนักลงทุนเช่นกัน เพื่อสื่อสารถึงความแตกต่างระหว่าง บีโอไอ การนิคม EEC คือ สิทธิประโยชน์ที่มีความยืดหยุ่น ที่จะตอบโจทย์นักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม PCB ตลอดห่วงโซ่การผลิต ถ้าสามารถนำมาลงทุนทั้งหมดทั้งแวลูเชนจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่า หากจะมาเพียงแค่เฉพาะบางสายการผลิตเท่านั้น
นอกจากนี้ เรายังมีแนวทางที่จะดึงดูดนักลงทุนในหมวดการศึกษาด้วย เพราะใน 12 อุตสาหกรรม มีเรื่องของการบริการ รวมไปถึงโรงเรียนแม้ปัจจุบันโรงเรียนจะไม่เสียภาษี แต่ในพื้นที่ EEC จุดเด่นคือ สามารถให้ EEC Visa และ Work Permit ในใบเดียวกันได้ สามารถเข้ามาและเริ่มทำงานได้ทันที ซึ่งเตรียมไว้ในอนาคต เมื่อ EEC ได้ประกาศแพ็กเกจสิทธิประโยชน์เรียบร้อย จะทำให้มีความยืดหยุ่นของเรื่องของกฎระเบียบ และสามารถปรับเปลี่ยนกฎระเบียบได้อีกมาก เป็นจุดแข็งของเรา และมั่นใจจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นจำนวนมาก
แน่นอนพวกผมกินกับภาษีคนไทย นักลงทุนไทยเราโฟกัสมาก ผมพร้อมดูแลนักลงทุนทุกคน แต่หากเป็นนักลงทุนไทยมา ผมพร้อมที่จะให้ความสำคัญก่อน
นายก่อกิจกล่าวเพิ่มอีกว่า ปี 2566 เราขายที่ดิน นิคมอุตสาหกรรมทำลายสถิติ ผ่านมา 9 เดือนปี 2567 เราก็สามารถทำลายสถิติปีที่แล้ว
การขายที่ดินได้ก่อนเป็นตัวบอกว่านักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเพื่อเป็นการรองรับดึงดูดการลงทุน ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมบริการ ถ้าเราจะอยู่ปลายน้ำรับการผลิตจะได้เพียงแค่ค่าแรง ซึ่งก็จะกลับกลายไปเป็นศูนย์เหรียญอีก
ประเทศไทยมีโอกาสมาก ในเชิงของโลเกชั่นพื้นที่ประเทศ จีโอโพลิติกส์เกิดขึ้นทำให้มีโอกาสอีกมาก นโยบายของรัฐบาลต้องสอดคล้องจะช่วยดึงดูดการลงทุนได้มาก ในเรื่องของกฎหมายต้องฝาก ควรจะมีการออกมาเยอะ เรามีข้อขัดข้องไม่มาก รอแค่ ครม.พิจารณา เมื่อประกาศสิทธิประโยชน์ไปแล้ว หากมีข้ออุปสรรคเราพร้อมมีเวทีที่จะแก้ไข และสื่อสารกับนักลงทุนกลับไป
ในโลกใหม่ เราจำเป็นต้องคิดแบบใหม่ เพื่อทำอีกแบบ ให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง หากยังทำแบบเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเท่าเดิม กฎหมาย คือกระบวนการคิดที่ตกผลึกแล้ว และสังคมต้องทำด้วยกัน กฎหมาย EEC ถือว่าเป็นกฎหมายล่าสุด และเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดเท่าที่มีในปัจจุบัน อาจจะรักษาไม่ได้ทุกโรค แต่เราเชื่อว่าหลายโรคเราทำได้ดีกว่าใช้พลาสเตอร์แปะ และเชื่อว่าสิ่งที่มีจะตอบโจทย์ กับปัญหาที่เจอในปัจจุบัน แม้เราจะแก้ไม่ได้หมด แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ตอนนี้มีเรื่อง GMT เป็นอัตราภาษีเท่ากันทั้งโลก ดังนั้นการดึงดูดการลงทุนในอนาคตไม่ใช่เรื่องของภาษีอย่างเดียวแล้ว จะเป็นเรื่อง Nontax (ไม่ใช่ภาษี) เป็นส่วนใหญ่ จะกลับมาเรื่องของพัฒนาบุคลากรที่มี อนาคตการกีดกันทางการค้าจะมาทุกรูปแบบ ทุกประเทศจะต้องปกป้องประเทศตัวเอง ประเทศไทยเองมีอย่างเดียว คือจะต้องต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น แนะนำว่า บุคลากรที่ดีอย่าเรียนรู้ศาสตร์เดียว เรียนรู้ให้มาก เพราะประเทศพึ่งพาทุกคน เพราะประเทศไทยจะไปได้ไกลจะต้องเรียนรู้และยังมีความท้าทายหากจะไปต่อ ให้อนาคตเราสู้ไหว จะต้องมีการพัฒนาบุคคลเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้
18/9/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 กันยายน 2567 )