ZEEKR แย้มบริษัทแม่จิลลี่กรุ๊ป เร่งศึกษาแผนงานแชร์ทรัพยากรกับแบรนด์ในเครือ หวังเพิ่มโอกาสผุดโรงงานผลิตรถ EV ในไทย ลั่นส่งรุ่นใหม่ทำตลาดอย่างน้อยปีละรุ่น มั่นใจภายใน 3 ปี ขายแตะหลักหมื่นคัน พร้อมชูจุดเด่น ความเป็นลักเซอรี่ EV เทียบชั้นแบรนด์ยุโรป
นายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัท ซีเคอาร์ อินเทลลิเจนท์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ซีเคอร์ (ZEEKR) เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ถึงแผนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนว่า บริษัทวางตำแหน่งของแบรนด์และสินค้าให้เป็นรถ EV ระดับพรีเมี่ยม-ลักเซอรี่ ที่แตกต่างจากแบรนด์รถ EV จีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยใช้จุดเด่น เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ดีที่สุดจากแบรนด์ในเครือของจิลลี่ สำหรับการออกแบบและพัฒนารถยนต์ของ ZEEKR โดยเฉพาะ แพลตฟอร์ม และระบบความปลอดภัย และดีไซน์จากรถยุโรป มาผสานกับเทคโนโลยีอัจฉริยะของจีน
อเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกัน จากแบรนด์รถยนต์ในเครือจิลลี่ กรุ๊ป ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะใช้ทรัพยากรรวมกัน รวมไปถึงการมองโอกาสในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจิลลี่ กรุ๊ป ในประเทศไทย เพื่อรองรับแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย
ทุกแบรนด์ที่เข้ามาของจิลลี่ในประเทศไทย หลังบ้านเรามีการหารือร่วมกัน และทุกแบรนด์จะต้องมีตัวชี้วัดผลตอบแทนจากการลงทุนร่วมกัน ด้วยว่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนตั้งโรงงานประกอบ หรือจ้างผลิตรถยนต์ในไทยหรือไม่ เพราะถ้าทุกแบรนด์ร่วมกัน ก็ถือว่ามีโอกาสไม่น้อย
สำหรับเป้าหมายการทำตลาดในประเทศไทย ปีแรก (ถึงสิ้นปี 2567) ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายไม่น้อยกว่า 2,000 คัน จากรถยนต์ 2 โมเดลหลักคือ รถคอมแพ็กต์เอสยูวีไฟฟ้า 100% ZEEKR X ที่เปิดตัวและเริ่มส่งมอบไปแล้วกว่า 200 คันก่อนหน้านี้ และรถเอ็มพีวีไฟฟ้า 100% ZEEKR 009 ที่กำลังจะเปิดตัวในวันที่ 23 กันยายนนี้ ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่าเป้าหมาย 2,000 คัน และภายในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ หรือภายในปี 2567-2570 แบรนด์ ZEEKR จะต้องมียอดขายในประเทศไทยอยู่ในระดับ 7,000-10,000 คันให้ได้
ส่วนเป้าหมายปีนี้มั่นใจว่าจะทำได้อย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินค้าที่มีความไฮเอนด์ และมีจุดเด่นที่แตกต่าง รวมทั้งนโยบายการทำตลาดและการขายของบริษัทที่มีความชัดเจน เน้นความเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ มีนโยบายชัดเจนว่า บริษัทจะไม่ร่วมทำสงครามราคาอย่างแน่นอน
และ ZEEKR ต้องการสร้างให้เห็นว่า แบรนด์ของเรามีความเหนือและแตกต่างกว่า มีฟังก์ชั่นการใช้งานของรถ EV ที่โดดเด่นและแตกต่าง ทั้งเชิงของการออกแบบ เทคโนโลยี รวมถึงความปลอดภัยต่าง ๆ บริษัทมีแผนจะขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย ให้กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เบื้องต้น 15-20 แห่งในปีนี้ แบ่งเป็นกรุงเทพฯและต่างจังหวัดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยในเดือนกันยายนนี้ได้เปิดไปแล้ว และรวมทั้งหมดไม่เกิน 20 แห่งทั่วประเทศ โดยในเดือนกันยายนนี้จะเปิดให้บริการ 4 แห่ง ถ.ศรีนครินทร์ ถ.วิภาวดี ถ.สุวินทวงศ์ และที่พัทยา
ส่วนแผนการส่งสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดประเทศไทย บริษัทได้ กำหนดนโยบายว่า จะต้องมีการเปิดตัวหรือส่งรถยนต์รุ่นใหม่ทำตลาด อย่างน้อย ๆ ปีละ 1 รุ่น และกระจายให้ครอบคลุมในหลากหลายเซ็กเมนต์ ควบคู่ไปกับการเดินหน้าพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งเทคนิคอลอาฟเตอร์เซล สำหรับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนด้วย เนื่องจากบริษัทแม่ได้กำหนดให้ไทยเป็น แฟลกชิป สำหรับการทำตลาดของแบรนด์ซีเคอร์ในภูมิภาคอาเซียน
นายอเล็กซ์ยังได้ประเมินภาพรวมตลาดรถยนต์ในปีนี้ว่า น่าจะมียอดขายราว ๆ 760,000 คัน และจะไม่เกิน 800,000 คัน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือรถ EV จะมีส่วนแบ่งเท่ากับปีก่อน คือ 10% หรือมียอดขาย 70,000-80,000 คันเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะตลาดที่ถดถอย เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยแล้ว ในส่วนของตลาด EV เอง
ปัจจุบันมีผู้เล่นเข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น จากก่อนหน้านี้มีเพียง 4-5 ยี่ห้อ แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10 ยี่ห้อ ทำให้มีการแข่งขันกันเพิ่มขึ้นด้วย
18/9/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 กันยายน 2567 )