info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.91

“สุริยะ” เดินหน้ามอเตอร์เวย์ M5 2568 เคาะประมูลทะลวงรถติดรังสิต-บางปะอิน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เศรษฐกิจมีแต่คนบ่นว่าแย่ แต่ทำไมรถติดขัดและติดหนักมากในช่วงไพรมไทม์

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข่าวดีที่กรมทางหลวงพร้อมเดินหน้ามอเตอร์เวย์ รหัส M5 แก้ไขปัญหาทราฟฟิกแจมช่วงรังสิต-บางปะอิน เชื่อมโยงการเดินทางมอเตอร์เวย์ M6 มุ่งสู่โคราชแบบไร้รอยต่อ

ครม.ไฟเขียว 24 ธันวาคม 67

โดย “อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม อัพเดตข่าวล่ามาเร็ว ตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคมเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการ

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง รับไปดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ในแนวทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น

โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอินนั้น มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่าโครงการมอเตอร์เวย์ รหัส M5

ในอนาคตเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยตรง ช่วยให้การเดินทางมีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

รายละเอียดโครงการมอเตอร์เวย์ M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 22 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณโรงกษาปณ์ เชื่อมต่อกับทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน

โดยมีทางขึ้น-ลง ตลอดแนวเส้นทางจำนวน 7 แห่ง และมีเส้นทางทางเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคตให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ

ประมูล PPP Gross Cost

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จะใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow โดยกำหนดค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ ณ ปีเปิดให้บริการในอัตราสูงสุดไม่เกิน 40 บาทต่อคัน

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M5 นี้ วางแผนดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost มีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 34 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี ดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี) มีวงเงินลงทุนโครงการประมาณ 31,358 ล้านบาท

แบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 78 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 31,280 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ พร้อมการดำเนินงาน และบำรุงรักษาตลอดทั้งสายทาง รวมถึงการลงทุนและบริหารจัดการจุดพักรถขนาดเล็ก (Rest Stop)

ภาครัฐจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งหมดของโครงการ และเอกชนจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment) จากกรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา (คิดเป็นจำนวนเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 47,881 ล้านบาท)

โดยภาครัฐจะทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการ มีกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายค่าตอบแทนเงินลงทุนก่อสร้างไม่น้อยกว่า 15 ปี และค่าตอบแทนการให้บริการในส่วนของค่าดำเนินงานเป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ

โดยกรมทางหลวงจะได้พิจารณากำหนดเงื่อนไขตัวชี้วัดระดับคุณภาพการให้บริการ (KPI) เพื่อให้เอกชนคู่สัญญารักษาคุณภาพระดับการให้บริการที่ดีและปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทาง กรมทางหลวงคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569

2/1/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 มกราคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS