info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.91

ร.ฟ.ท.ผุดแผนตั้งโรงานผลิตหัวรถจักร ใช้พื้นที่มักกะสันเงินลงทุนเริ่มต้นพันล้าน

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ร.ฟ.ท.ประกาศแผนลงทุน S-Curve ใหม่ ยกระดับเป็นผู้ผลิตหัวรถจักร-ขบวนรถไฟ พร้อมมีสิทธิบัตรเป็นของคนไทยภายใน 2 ปีจากนี้ เล็งพื้นที่ตั้งโรงงานที่มักกะสัน เริ่มแรกลงทุนพันล้าน ดึงอิตาลีเป็นที่ปรึกษา พร้อมเร่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เปิดทางเอกชนร่วมทุนแบบ PPP พัฒนาระบบรางเชื่อมต่อโลจิสติกส์เข้านิคม-ท่าเรือ รองรับต่างชาติแห่ลงทุนไทย

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคม สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เตรียมที่จะศึกษาโครงการในการที่จะให้ประเทศไทยเป็นผู้สร้างผู้ผลิตหัวรถจักรรถไฟ ขบวนรถไฟ รวมถึงขบวนรถไฟไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นอีกหนึ่ง S-Curve ใหม่ที่สามารถทำได้ ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่เพียงการรับออร์เดอร์ แต่ประเทศไทยจะต้องมีสิทธิบัตรเป็นของคนไทยด้วยเช่นกัน โดยตั้งเป้าจะต้องมีสิทธิบัตรใบแรกของไทยใน 2 ปี ซึ่งการประกาศที่จะเป็นผู้ผลิตครั้งนี้จะต้องไม่เป็นการลองผิดลองถูก แต่จะต้องมีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้และต้องเป็นนโยบายระยะยาว

ใช้มักกะสัน รง.สร้างหัวรถจักร

เผื่อในอนาคตอีก 5 ปี นโยบายใหม่อาจจะไม่ทำแล้ว ดังนั้นจะทำอย่างไรให้แผนนี้ยั่งยืน โดยต้นปี 2568 จะใช้พื้นที่โรงงานมักกะสันเพื่อลงนามความร่วมมือ (MOU) และจะต้องเห็นหัวรถจักรหัวแรกปลายปี 2569 โดยให้มีสัดส่วน Local Content ที่เป็นชิ้นส่วนในประเทศให้มากที่สุดช่วงแรกคาดว่าจะลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ในอนาคตเมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้น หากต้องลงทุนสร้างโรงงาน คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 2,000-3,000 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนจากการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 20%

“เราไม่ต้องการเป็นทาสในการที่จะสั่งซื้อของหรือสิ่งต่าง ๆ จากเพียงไม่กี่ราย หรือไม่สามารถใช้ของไทยได้เลย อย่างรถไฟจีนเราเคยมีแผนเสนอขายหลอดไฟใช้ในขบวนรถก็ทำไม่ได้ เพราะเขาต้องใช้ของจีนเอง เราต้องการจะทำทั้งการออกแบบ ผลิต ในตอนแรกอาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยให้คำแนะนำ อย่างที่พูดคุยไว้คือ อิตาลี เป็นบริษัทเดียวในโลกที่สามารถเป็นที่ปรึกษาด้านนี้ได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในต้นปี 2568 เรากับทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการสำรวจไปแล้ว 1 รอบ พบว่าทั้งซัพพลายเชนมันสามารถปรับเปลี่ยนได้จากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ มาผลิตชิ้นส่วนรถไฟได้ ความยากมีแค่เรื่องสิทธิบัตรเท่านั้น”

เร่ง พ.ร.บ.รางเชื่อมนิคม-ท่าเรือ

นอกจากนี้ ในปี 2568 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร.ฟ.ท.จะต้องเร่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ให้เสร็จ เพราะหากเกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา จะเอื้อต่อระบบรางที่เอกชนจะสามารถไปลงทุนเพื่อเชื่อมไปสู่นิคมอุตสาหกรรมของตนเองได้

ขณะเดียวกัน จะสอดรับกับท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบังเฟส 3 ที่จะมีระบบรางเชื่อมต่อไปถึง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการและยังเป็นสิ่งที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่รอนสิทธิหรืออำนาจที่ ร.ฟ.ท.มีอยู่ ร.ฟ.ท.จะต้องคงความรับผิดชอบงานด้าน Operate ไว้เช่นเดิม เช่น ตารางเดินรถไฟ ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ร.ฟ.ท. กฎหมายรางจะต้องไม่ลดอำนาจหรือเข้ามาจัดการตารางเดินรถไฟ หรือเข้าไปปรับเปลี่ยนเวลา

เนื่องจากตารางเดินรถไฟปัจจุบันได้บริหารจัดการและคำนวณจำนวนผู้โดยสาร ระยะเวลา สถานที่ต้นทาง ปลายทางที่สอดคล้องกันไว้สมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว จึงต้องให้สิทธิ ร.ฟ.ท.เป็น Operater ขณะนี้ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ได้พิจารณาไปแล้วกว่า 100 วาระ จาก 160 วาระ จึงคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหรือใช้กฎหมายนี้อีกไม่นาน

ทั้งนี้ ยังต้องเร่งทำโครงการจัดสร้างสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง ICD (ท่าเรือบก) ซึ่งเป็นโครงการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรางจากลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังให้จบ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นกาลงทุนในรูปแบบของ PPP ก่อนหน้าที่ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผลการศึกษายังไม่มีข้อสรุป ในปีหน้าคาดว่าจะเห็นผลการศึกษาและขึ้นอยู่กับ ครม. ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ค้างท่อมานานกว่า 10 ปี

และหากโครงการดังกล่าวสามารถจบได้ภายในเวลาที่กำหนด ประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ EEC จะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อย่างสมบูรณ์

ชี้อุตฯ S-Curve แห่ลงทุนไทย

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยเก่งและเป็นผู้นำอยู่แล้ว บวกกับอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา

ซึ่งหากดูจากรายงานสถิติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพบว่า ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2567) บีโอไอได้รายงานว่ามีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนโครงการมากถึง 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อน เป็นมูลค่าเงินลงทุนมากถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท

ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในภูมิภาคนี้ และการขอรับการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีเป็น S-Curve เป็นส่วนใหญ่ คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ คาดว่าทั้งปี 2568 ยอดขอบีโอไอน่าจะเกิน 800,000 ล้านบาท

3/1/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 3 มกราคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS