info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.9.174

บีโอไอรอถก “คีรี” จัดสิทธิประโยชน์ให้เมืองการบิน ไม่ต้องแก้สัญญาสร้าง Terminal อู่ตะเภา

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

บีโอไอรอไฟเขียวสิทธิประโยชน์ให้ UTA หากยื่นขอรับการส่งเสริมเริ่มสร้างอาคารผู้โดยสาร อุตสาหกรรมอื่นทั้งโรงเเรม MRO ไมซ์ โลจิสติกส์ ธีมปาร์ก เทรนนิ่งการบินตามมาเพียบ ด้าน EEC ชี้รองรับคนเหลือแค่ 5 ล้านได้ ไม่ต้องแก้สัญญา พร้อมถก “คีรี” เดินหน้าลงทุนต่อไม่ต้องรอรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เป็นผู้ได้รับสัมปทานในการก่อสร้าง โดยหากแยกเป็นในส่วนของอาคารผู้โดยสาร (Terminal) นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กับทางบีโอไอ แต่ก่อนหน้านี้ทางบอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบในหลักการที่จะส่งเสริมกิจการที่เป็นอาคารผู้โดยสารไว้แล้ว

ดังนั้นเมื่อ UTA พร้อมก็สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้เลยทันที เช่นเดียวกับในส่วนเมืองการบินที่เหลือทางบีโอไอพร้อมที่จะส่งเสริม แต่จะต้องมาหารือกันว่าจะมีประเภทกิจการอะไรที่เกิดขึ้นบ้างในเมืองการบิน เพื่อที่บีโอไอจะได้ดีไซน์แพ็กเกจสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมให้ เนื่องจากจำนวนพื้นที่ของโครงการดังกล่าวกว่า 6,000 ไร่ นับว่าใหญ่มาก และสามารถเกิดกิจการและกิจกรรมอื่นที่หลากหลายมาก เช่น ร้านอาหาร ศูนย์กระจายสินค้า

ทั้งนี้ โครงการนี้ต้องเกิดขึ้น เพราะมันจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ส่วนต้องรอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ก่อนหรือไม่นั้นอยู่ที่เอกชนและการหารือกับทางสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“เราต้องขอหารือกับทาง UTA ก่อนว่าองค์ประกอบที่จะเกิดขึ้นในเมืองการบินนั้นมีอะไรบ้าง มีธุรกิจอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจที่ซัพพอร์ตด้านการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ศูนย์เทรนนิ่ง ศูนย์โลจิสติกส์ และอีกส่วนเราจะเห็นธุรกิจด้านไมซ์ (MICE Business) โรงแรม ศูนย์ประชุม และอาจจะมีธีมปาร์ก และอาจจะมีส่วนที่เป็นที่พักอาศัย ดังนั้นมันก็จะเหมือนเมืองหนึ่งเมือง ฉะนั้นการสร้างเมืองขึ้นมามันต้องมีประโยชน์เกิดขึ้นกับทางในแง่ชุมชน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ตามมาและเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) เตรียมเข้าพบ EEC เพื่อเจรจาเรื่องของสิทธิประโยชน์ และแผนใหม่ในการสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภาในส่วนที่เป็นอาคารผู้โดยการ เพื่อเตรียมเดินหน้าการก่อสร้างตามแผน

โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร UTA ยืนยันว่าจะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะล่าช้ากว่ากำหนดไปมาก ส่วนการลดขนาดของโครงการจากที่จะรองรับผู้โดยสารจำนวน 12 ล้านคน จะเหลือเพียง 5 ล้านคนเท่านั้น เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่าจำนวนผู้โดยสารอาจไม่ได้มีจำนวนมากตามที่เคยคาดการณ์เอาไว้ ด้วยรถไฟความเร็วสูงยังไม่มีปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามาใช้สนามบินก็อาจยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ได้เคยลงนามกันไว้ในสัญญา ได้เปิดช่องไว้แล้วว่า หากโครงการในส่วนใดยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ สามารถมาเจรจากับทาง EEC ได้ โดยจะพิจารณาและหารือกันใหม่โดยที่ไม่ต้องแก้สัญญา เพราะไม่ได้มีการผิดสัญญาใด ๆ โดยเป้าหมายการลงทุนยังคงต้องรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนเช่นเดิม ซึ่งทางเอกชนระบุตั้งแต่เริ่มเซ็นสัญญาแล้วว่าจะแบ่งการก่อสร้างเป็นเฟส ๆ จำนวน 8 เฟส

ดังนั้น ในช่วงแรกก็สามารถสร้างตามแผนใหม่ที่ 5 ล้านคนได้ และเมื่อรถไฟความเร็วสูงพร้อม มีดีมานด์ มีจำนวนผู้โดยสารเข้ามาใช้ถึง 80% เอกชนจะต้องขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นด้วย และท้ายที่สุดเป้าหมายก็ยังคงต้องอยู่ที่รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนอยู่ดี

สำหรับสิทธิประโยชน์ขณะนี้ยังคงรอเข้า ครม. และยืนยันว่าในแต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นในโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะมีหลากหลายกิจการ สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ก่อนได้เลย

โดยมีในส่วนของบีโอไอก็สามารถขอได้ ส่วน UTA จะรอขอสิทธิประโยชน์จาก EEC หรือไม่ นั่นยังอยู่ระหว่างการหารือกันอยู่

“ที่เอกชนต้องก่อสร้างก่อนรถไฟจะมา เพราะมันมีกิจการอื่นรอลงทุนอยู่ เขาไม่รอรถไฟ พอรถไฟมาก็ค่อยเอาแผนมาปรับให้ตรงกัน ส่วนทางลอดอุโมงค์ที่เชื่อมระหว่างรถไฟกับตัวอาคารตอนนี้อาจให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้ามาดูเตรียมพร้อมการลงทุนเพื่อทำอุโมงค์ไว้รอ เพราะถ้าเกิดโครงการพัฒนาอู่ตะเภาเริ่มไปแล้ว และมีการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 จะไม่สามารขุดอุโมงค์ใต้รันเวย์ได้

ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องมาหารือกันอีกครั้ง แต่หลัก ๆ เราได้คุยกันในประเด็นนี้ไปแล้วทั้งรัฐและ รฟท. ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงยังคงรอการแก้ไขสัญญาส่งเรื่องไปที่อัยการตรวจอยู่ ยังคุยกันไม่เสร็จ คาดว่าเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2568 ก็น่าจะชัดเจนว่าจะไปทางไหน”

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มูลค่าการลงทุนของโครงการในรูปแบบ PPP รวมประมาณ 290,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3? เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการจะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองประมาณ 30 กม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย

โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวก ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

4/3/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 มีนาคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS