info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.9.174

คนในวงการ วิเคราะห์ราคาจริง ตึก Skyy 9 ชี้ทำเลระดับนี้ต้องได้พื้นที่ CBD

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

คนในวงการอสังหาริมทรัพย์วิเคราะห์ทำเลที่ตั้งอาคาร Skyy 9 ราคาจริงควรอยู่ที่เท่าไหร่ ? ชี้ระดับนี้ต้องได้พื้นที่ CBD

มติชน รายงานกรณีที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าว “แฉเสียดฟ้า กองทุนประกันสังคมจงใจลงทุนผิดพลาด เพื่อเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องหรือไม่”

โดยมีการตั้งข้อสังเกตในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ระบุว่าประกันสังคมซื้อมาในราคาประมาณ 7,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคาประเมินอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และมีการตั้งคำถามว่าเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่นั้น

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า ประเด็นที่ระบุว่าราคาประเมินอาคาร 3,000 ล้านบาท แล้วประกันสังคมไปซื้อในราคา 7,000 ล้านบาท จากการสอบถามคนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคาทราบมาว่าราคาประเมิน 3,000 ล้านบาท เป็นราคาประเมินตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แล้วคนที่ซื้อมาลงทุนมีการรีโนเวตอย่างไร ตนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากการซื้อขายนั้นจะใช้การประเมินโดยบริษัทที่มีใบอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ประเมินรายได้ที่จะเข้ามา ซึ่งตนก็ไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ในบอร์ด

ด้านแหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นตึกร้างยังสร้างไม่แล้วเสร็จ และถูกทิ้งร้างในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เดิมชื่อว่าตึก ไอ.ซี.อี. ทาวเวอร์ เป็นอาคารสูง 36 ชั้น มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ต่อมามีผู้ซื้อต่อจากบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ในขณะนั้นด้วยราคา 1,000 ล้านบาท

จากนั้นตึกร้างแห่งนี้ถูกเดินหน้าก่อสร้างอีกครั้ง โดยกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท จนเสร็จประมาณปี 2565 ภายใต้ชื่อ CAS Centre แบ่งพื้นที่เป็นอาคารสำนักงานประมาณ 40,000 ตารางเมตร อัตราค่าเช่าประมาณ 600 บาทต่อตารางเมตร และพื้นที่รีเทลประมาณ 9,000 ตารางเมตร อัตราค่าเช่าประมาณ 1,000 บาทต่อตารางเมตร และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอาคารสกายไนน์ เซ็นเตอร์ (Skyy 9 Centre) ในปี 2567 ที่ผ่านมา

“เมื่อเทียบราคาการซื้อตึกดังกล่าวด้วยวงเงิน 7,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเกินไป เมื่อดูทำเลที่ตั้งแล้ว อย่างมากราคาน่าจะไม่เกิน 4,000-5,000 ล้านบาท เพราะไม่ได้อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า และด้วยราคานี้น่าจะเป็นการซื้ออาคารสำนักงานในโซนซีบีดี เช่น สาทร มากกว่าจะเป็นในโซนพระราม 9-ดินแดง และด้วยอัตราการเช่าที่ยังต่ำ มองว่าต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าอัตราการเช่าจะเต็ม 100%” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการซื้อขายอาคารสำนักงานบนถนนวิภาวดีรังสิต ของหน่วยงานแห่งหนึ่งเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ในราคา 2,700 ล้านบาท ถือว่ายังถูกกว่ามาก และยังเป็นอาคารที่สร้างเสร็จใหม่ด้วย

11/3/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 11 มีนาคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS