info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.133.113.24

อุโมงค์แยกไฟฉาย เปิดใช้วันนี้วันแรก ทำไมใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 13 ปี

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

ข่าวดี ! อุโมงค์แยกไฟฉายเปิดใช้งานวันนี้วันแรก ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. เผยสาเหตุทำไมถึงใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 13 ปี สร้างการจดจำให้กับคนกรุงในฐานะอุโมงค์ทรหด

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ แจ้งว่า เมื่อเวลา 05.00 น. ที่ผ่านมา สำนักการโยธา กทม. ร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เปิดการจราจร 2 โครงการให้รถสามารถสัญจรได้แล้วอย่างเป็นทางการ ได้แก่

โครงการก่อสร้างอุโมงค์สี่แยกไฟฉาย และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ช่วงสะพานข้ามแยกบริเวณถนนรัชดาภิเษกเลี้ยวขวาเข้าถนนสุนทรโกษา เพื่อแก้ไขปัญหารถติดในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 พื้นที่ คอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

“ทั้งนี้ อุโมงค์สี่แยกไฟฉาย จะเปิดให้ใช้งานได้ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. เพื่อบรรเทาการจราจร หลังจากนั้น เวลา 22.00-05.00 น. จะทำการปิดอุโมงค์เพื่อเก็บรายละเอียดภายในเล็กน้อยเพื่อความเรียบร้อยต่อไป”

เริ่มปี’52-สร้างเสร็จปี’65

ทั้งนี้ ชื่อเต็มของอุโมงค์สี่แยกไฟฉาย คือ “โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก” เนื่องจากเดิมเป็นสามแยกไฟแดงที่เรียกว่าสามแยกไฟฉาย และมีจุดตัดกับถนนพรานนก ทำให้อุโมงค์ทางลอดโครงการนี้มีชื่อเรียกไม่เป็นทางการอย่างน้อย 2 ชื่อว่า “อุโมงค์แยกไฟฉาย” กับ “อุโมงค์พรานนก”

วัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจรคับคั่งในพื้นที่ ลดจุดตัดทางแยก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในภาพรวม และรองรับการเติบโตของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ซอยจรัญฯ 27 ถึงซอยจรัญฯ 37 มีความยาวรวม 1,250 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งมีความกว้าง 10 เมตร ความสูงภายในทางลอดอยู่ที่ 5 เมตร มีหลังคาปิดยาว 161.5 เมตร และทางลอดยาว 600 เมตร

โดยมีผู้รับเหมาคือ “บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด” วันเริ่มต้นสัญญา 28 ตุลาคม 2552 วันสิ้นสุดสัญญา 19 สิงหาคม 2565 มีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาคุมงาน 2 ราย

คือ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท ร้อจ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด

วงเงินค่าก่อสร้าง 788,185,793.52 บาท คู่สัญญาภาครัฐคือสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

ช้าเพราะรถไฟฟ้า+ปรับแบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการอุโมงค์ลอดแยกไฟฉาย ทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนก่อสร้างโครงการทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก ทำให้มีชื่อเรียกไม่เป็นทางการว่า อุโมงค์แยกไฟฉาย หรืออุโมงค์พรานนก

คิดเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 4,679 วัน หรือเกือบ 13 ปี จากสัญญาเดิมกำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้เพียง 820 วัน หรือไม่ถึง 3 ปี สาเหตุที่โครงการล่าช้าออกไปเพราะในระหว่างทางมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เสียเวลาไปกับการปรับแบบก่อสร้างตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการประสานงานข้ามหน่วยงานระหว่าง กทม. กับ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) กระทรวงคมนาคม ที่มีการขอใช้โครงสร้างรถไฟฟ้าร่วมกับอุโมงค์ และต้องหยุดก่อสร้างชั่วคราวนาน 4-5 ปี เพื่อส่งมอบพื้นที่ 100% ให้กับการออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในขณะนั้น

นายอรรถสิทธิ์ ดำรงรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด หรือ KPV Group ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2552 เซ็นสัญญารับงานสร้างอุโมงค์แยกไฟฉาย พอจะเริ่มลงมือทำปรากฏว่ามีชาวบ้านร้องเรียนว่าอุโมงค์กว้างเกินไป ยาวเกินไป กระทบหาบเร่แผงลอยทำมาหากินไม่ได้ กระทบตรงจุดสี่แยกไฟแดง

กทม.ก็เลยหยุดไซต์ก่อสร้างและปรับแบบใหม่ ความยาวก็ทำให้สั้นลง ส่วนที่กว้างไปก็ทำให้แคบลง ใช้เวลาเป็นปี ปรับแบบเสร็จ บริษัทเริ่มก่อสร้าง ทำได้ระดับหนึ่ง รถไฟฟ้าสีน้ำเงินก็มาขอใช้พื้นที่ในอุโมงค์ ขอตอกเสาเข็มกลางอุโมงค์เลย เป็นการนำฐานรากรถไฟฟ้ามาฝากไว้ในฐานรากผนังของอุโมงค์

นายอรรถสิทธิ์กล่าวอีกว่า หลังจากก่อสร้างมีความคืบหน้า 66% ทาง รฟม.ขอพื้นที่ 100% และออกแบบลงรายละเอียดด้านวิศวกรรม ทำให้ KPV Group ต้องหยุดการก่อสร้าง 100% นานถึง 4-5 ปี เพิ่งจะได้เริ่มกลับมาก่อสร้างอุโมงค์ใหม่อีกครั้งในเดือนมกราคม 2563 และต้องทำงานแข่งกับเวลา

“อุโมงค์แยกไฟฉายถูกบรรจุเป็นหนึ่งในโครงการจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ต้องการให้เร่งก่อสร้างให้จบเพื่อคืนพื้นผิวจราจร รวมทั้งเร่งรัดเวลาให้เสร็จเร็วขึ้น ซึ่ง KPV Group ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลังความสามารถ จากประสบการณ์ที่บริษัทก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด 14 แห่ง มากที่สุดในประเทศไทย

จึงมีทั้งกำลังคน ทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และได้รับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมจากพันธมิตรธุรกิจ ทั้งแบงก์กรุงเทพที่สนับสนุนสินเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน บริษัทเสาเข็มซีฟโก้ บริษัทที่ปรึกษา AEC (เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์) ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันตลอด 13 ปี” เอ็มดี KPV Group กล่าว

ปัจจัยอื่น

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์พิเศษที่เป็นสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมอย่างน้อย 3 ครั้งคือ “มหาอุทกภัย” ปี 2554 ณ ตอนนั้นมีการขยายเวลาก่อสร้าง 180 วัน

ถัดมาคือปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากเหตุผลนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 220 บาท เป็นวันละ 300 บาท ณ ตอนนั้นมีการขยายเวลาก่อสร้าง 150 วัน

ล่าสุดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ซึ่งมีการขยายเวลาก่อสร้าง 116 วัน

ทั้ง 3 สถานการณ์นี้ นำมาบวกทดเวลารวมกันยังได้แค่ 446 วัน ในขณะที่ประเด็นของ “การปรับแบบ” กินเวลายาวนานกว่าเยอะ ดูจากขั้นตอน “รอมติให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้างจากสภา กทม.” ณ ตอนนั้น มีการขยายเวลาก่อสร้าง 465 วัน

และ “รอการเปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้างใหม่ตามมติสภา กทม.” ซึ่งมีการขยายเวลาก่อสร้าง 769 วัน

สองรายการนี้รวมกันแล้วเท่ากับขยายเวลา 465+769 = 1,234 วัน

น่าสนใจว่ามีเพียง 1 รายการแต่กินเวลาชนะขาดทุกปัญหา นั่นคือ “ติดงานก่อสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม.” โดยมีการขยายเวลาให้ 1,622 วัน เทียบเท่ากับต้องชดเชยเวลาถึง 54 เดือน หรือ 4 ปีครึ่ง

1/8/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (1 สิงหาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS