ภาพมุมสูงของศูนย์ฯ สิริกิติ์ กลางคืน มีถนนรัชดาภิเษกพาดผ่านทางด้านซ้าย และมีบึงน้ำของสวนเบญจกิติอยู่ทางด้านขวา
เปิดแนวคิดออกแบบ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ผสานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและความเป็นสากล เชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบ พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 12 ก.ย.นี้
วันที่ 7 กันยายน 2565 นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากการปิดปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ล่าสุดได้ฤกษ์เปิดตัวศูนย์สิริกิติ์ ในวันที่ 12 กันยายน 2565
นายสุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า ในการพัฒนาโครงการการปรับปรุงศูนย์ฯ สิริกิติ์ บริษัทได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก หนึ่งในนั้นได้แก่ ทีมออกแบบ หรือ The Creator ซึ่งประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรมภายนอก สถาปัตยกรรมภายใน และภูมิสถาปัตย์ เพื่อพัฒนาให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่เป็น ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม ที่สามารถรองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ
โดยศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ ได้ขยายพื้นที่รวมเพิ่มขึ้น จากเดิม 65,000 ตารางเมตร เป็น 300,000 ตารางเมตร หรือเกือบ 5 เท่า ขยายพื้นที่จัดงาน (Event Space) จากเดิม 25,000 ตารางเมตร เป็น 78,500 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนห้องประชุมจากเดิม 13 ห้อง เป็น 50 ห้อง มีศักยภาพรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ นอกเหนือจากงานประชุมและงานไมซ์
ตารางเปรียบเทียบพื้นที่ใช้สอยของศูนย์ฯ สิริกิติ์ก่อนและหลังปรับปรุง
เปิดแนวคิดออกแบบ เป็นมากกว่าศูนย์ประชุม
นายนพดล ตันพิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้นำการออกแบบสถาปัตยกรรมของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ กล่าวว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ถือเป็นศูนย์การประชุมแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสถานที่จัดงานสำคัญหลายงาน
โดยตัวอาคารโฉมใหม่จึงต้องสามารถเก็บเรื่องราวในอดีต และสะท้อนภาพลักษณ์แห่งอนาคต จึงได้วางแกนหลักไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ แรงบันดาลใจ (Inspiration) บูรณาการ (Integration) และนวัตกรรม (Innovation) เริ่มจากดึงคอนเซ็ปต์ สืบสาน รักษา ต่อยอด มาตีความ เป็นความอ่อนน้อมอันเนื่องมาจากพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ท่าน สู่การใช้เส้นโค้ง เติมความสมบูรณ์ให้พื้นที่นำความเป็นไทยผสานกับสากลมากขึ้น
บริเวณทางเข้าฮอลล์ (Hall Entrance) ชั้น G มีขนาดโอ่โถง
บริเวณทางเข้าฮอลล์ (Hall Entrance) ชั้น G
นางสาวอริศรา จักรธรานนท์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ออนเนียน จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามารับหน้าที่ วางคอนเซ็ปต์และตกแต่งภายใน โดยการออกแบบมีแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของชาติอย่าง ผ้าไทย ที่มักทรงสวมใส่ด้วยพระองค์เอง จึงนำไอเดียดังกล่าวมาต่อยอด ดึงอัตลักษณ์ของผ้าไทยในหลากหลายแบบมาเป็นแกนหลักในการออกแบบ และประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ต่าง ๆ
กระจกรอบตัวอาคาร ได้รับการออกแบบให้มีความโค้งมน สะท้อนถึง Timeless Design
เชื่อมโยงกับเมือง
ขณะที่ นายยุทธพล สมานสุข ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ จากบริษัท ฉมา จำกัด ผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม เล่าว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ ได้มีการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมให้เข้ากับอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ผ่านการวางแผนให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์สอดรับกับสภาพสังคมเมืองในยุคปัจจุบันมากขึ้น
โดยยังคงรักษาพื้นที่สีเขียวและการเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ มีการวางระบบให้คนสามารถสัญจรได้ง่าย ไม่หลงทาง ปรับปรุงลานหน้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโลกุตระให้มีความกว้างขวางเพื่อเพิ่มจุดเด่น และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้หลากหลาย รวมถึงองค์ประกอบเล็กน้อยต่าง ๆ มีการจัดเรียงใหม่ให้สวยงามสบายตา เปิดมุมมองสู่สวนเบญจกิติทั้งยังนำพื้นที่จำกัดมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ พร้อมเปิดให้สัมผัสความเป็น ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2565
7/9/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (7 กันยายน 2565)