info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.116.27.225

อัพเดต รถไฟฟ้าโคราช 21 สถานี “ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว จากตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

เหมือนจะคืบหน้าสำหรับรถไฟฟ้าสายแรกของคนโคราช

ชื่อเต็ม ๆ “โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)”

ล่าสุด “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วม 250 คน ณ ห้องสุรนารีบอลรูม โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา

“สาโรจน์ ต.สุวรรณ” รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โคราช มีมูลค่าการลงทุนสูง รายได้การเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา ปี 2564 กระทรวงคมนาคมได้มอบให้ รฟม.พิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม.ได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ให้ศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565

โดย รฟม. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการศึกษารถไฟฟ้า 3 ระบบ ได้แก่

1.ระบบ stell wheel tram รถไฟฟ้ารางเบาหรือรถราง โดยใช้ระบบล้อเลื่อน (rolling stock)

2.ระบบ tire tram รถรางชนิดใช้ล้อยาง ที่มีระบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคอง (guided light transit) หรือระบบรางเสมือน (track less)

3.ระบบ E-BRT (electric bus rapid transit) รถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ไม่มีราง

โดยเปรียบเทียบ 3 ระบบในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี, ความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่เขตเมืองโคราช, ศักยภาพรองรับปริมาณผู้โดยสาร, ระยะเวลาก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน, ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ, ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่น) และด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ)

ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า เทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมืองโคราชมากที่สุด 1.ระบบ E-BRT 2.tire tram และ 3.steel wheel tram ตามลำดับ

ทั้งนี้ รฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา NMGC จะมีการปรับปรุงผลการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาในลำดับต่อไป

สำหรับรายละเอียดโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของนครราชสีมา ซึ่ง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก

แผนที่รถไฟฟ้า โคราช

โครงการมีระยะทาง 11.15 กิโลเมตร มี 21 สถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร ออกแบบให้อยู่บนทางหลวง 9 สถานี และอยู่ในเขตเมือง 12 สถานี

ได้แก่ 1.สถานีมิตรภาพ 1 2.สถานีแยกปักธงชัย 3.สถานีมิตรภาพ 2 4.สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 5.สถานีสวนภูมิรักษ์ 6.สถานีหัวรถไฟ 7.สถานีเทศบาลนคร 8.สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง 9.สถานีโพธิ์กลาง 10.สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี 11.สถานีแยกประปา

12.สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา 13.สถานีราชภัฏฯ 14.สถานีราชมงคล 15.สถานีบ้านเมตตา 16.สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ 17.สถานีชุมพล 18.สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา 19.สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ 20.สถานีวัดแจ้งใน และ 21.สถานีดับเพลิง

โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณปลายทางสถานีบ้านนารีสวัสดิ์

ทั้งนี้ ตามแผนที่กำหนดไว้ ณ เมษายน 2565 คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 เปิดให้บริการได้ในปี 2571 เป็นตัวช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในโคราช ลดการใช้รถยนต์บนท้องถนน เท่ากับช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

29/10/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 29 ตุลาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS