โลกของการสร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง เดินมาถึงจุดที่ผู้ประกอบการต้องปวดหัวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในการตรวจรับมอบบ้าน
หลายคนและอาจจะส่วนใหญ่ มีการปรึกษา หลวงพ่อกู-google search บ้าง หรือว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่รับจ้างตรวจรับมอบหลังสร้างบ้านเสร็จ
พฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าว มีการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเจ้าของบ้านเชื่อกูเกิลเสิร์ช หรือเชื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าจะเชื่อผู้ประกอบการ
หรืออีกนัยหนึ่ง ปัญหาการเชื่อโซเชียลมากกว่าเชื่อผู้ประกอบการ เป็นโรคอุบัติใหม่ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นในท่วงทำนอง โซเชียลซินโดรม โมเดลเดียวกันกับออฟฟิศซินโดรมที่เป็นโรคภัยอุบัติใหม่จากการทำงานในออฟฟิศ
โซเชียลป่วนตลาด 2 แสนล้าน
วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจปลูกสร้างบ้านเองและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2565 คาดว่ามีมูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท
ในภาพรวมเป็นภาพการเติบโตขึ้นทั้งในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัจจัยส่งเสริมจากการมี เขยฝรั่ง อยู่อาศัยคับคั่ง ทำให้มีการเติบโตเด่นชัดเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ
จุดโฟกัสอยู่ที่ปัจจุบัน ธุรกิจรับสร้างบ้านมี pain point จากพฤติกรรมเจ้าของบ้านนิยมเสิร์ชหาข้อมูลขั้นตอนการตรวจรับมอบบ้านบนโซเชียลมีเดีย และมักจะเชื่อถือมากกว่าเชื่อบริษัทรับสร้างบ้าน ทำให้ที่ผ่านมา มีการชะลอการรับมอบ-รับโอนบ้านล่าช้าออกไปอีก 3-4 เดือน บางเคสล่าช้า 8-9 เดือน ทั้ง ๆ ที่ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว
ประเด็นปัญหาคือ ที่ปรึกษาการตรวจรับมอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้ข้อมูลบนโซเชียลหรือบริษัทที่วิศวกรที่ปรึกษา อาจมีตำราการก่อสร้างบ้านคนละเล่ม มีความรู้คนละมาตรฐาน เรียนรู้มาจากคนละสำนัก ทำให้มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่บ่อย ๆ ทำให้จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานกลางขึ้นมา 1 ชุด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับบริษัทรับสร้างบ้าน-ลูกค้า-ที่ปรึกษาตรวจรับมอบบ้าน (ถ้ามี)
นับตั้งแต่ผมรับตำแหน่งนายกสมาคมเมื่อปี 2563 มองเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งตลาดบ้านสร้างเองมีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้าน/ปี ปัญหาที่เจอบ่อยนอกจากถูกผู้รับเหมาทิ้งงาน ก็จะเป็นเรื่องได้บ้านไม่มีคุณภาพ ซึ่งพูดแล้วจับต้องได้ยาก มีข้อโต้แย้งมาตลอด เป็นโจทย์ใหญ่ของสมาคมว่าทำยังไงให้ธุรกิจยั่งยืนได้ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค มาตรฐานกลางอยู่ตรงไหน
ผนึกวิศวะจุฬาฯปั้นมาตรฐาน
ล่าสุด HBA-Home Builder Association หรือสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ประกาศความร่วมมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย
เป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพบริการรับสร้างบ้าน และตั้งความหวังว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานกลาง สำหรับอ้างอิงได้สองฝั่งทั้งผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน และผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของบ้าน
ทั้งนี้ ภาพรวมยังมีปัญหาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของลูกค้าในด้านคุณภาพ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้านพักอาศัย ที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของงานก่อสร้างบ้านต่อจากนี้ไป โดยจะเริ่มใช้กับบริษัทสมาชิก HBA ก่อน
ทั้งนี้ ในมาตรฐานฉบับศึกษาร่วมกันของสมาคมกับจุฬาฯ จะมีการระบุข้อมูลของผู้ดำเนินการและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพ การปรับปรุงแก้ไข และข้อควรระวัง เป็นต้น โดยการออกแบบเฉพาะเพื่องานการก่อสร้างบ้านสำหรับสมาชิกของสมาคม
และเตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ซึ่งจะส่งผลดีในหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวม
คู่มือศึกษาวิจัย 3 ปีเต็ม
ด้าน รศ.ดร.ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงานและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน
โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU ร่วมกับ HBA ตั้งแต่ปี 2562 เดิมตั้งเป้าทำงาน 6 เดือน-1 ปี แต่สถานการณ์โควิดทำให้ใช้เวลาทำงาน 3 ปีกว่าจะคลอดคู่มือมาตรฐานเล่มแรกได้
แวดวงวิชาการ มาตรฐานก่อสร้างมีมากมายในโลก อาทิ ของไทยจะมีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ความรู้จากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป แต่ส่วนใหญ่พูดถึงมาตรฐานก่อสร้างทั่ว ๆ ไป แต่องค์ความรู้เฉพาะด้านในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยยังไม่มีใครทำ ที่ผ่านมาเรามองเห็น conflict ตลอดเวลา หลายเคสเจ้าของบ้านก็ติดต่อมาขอผู้เชี่ยวชาญเป็นกรรมการระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของบ้าน ทางคณะวิศวะ จุฬาฯ พยายามเข้าไปไกล่เกลี่ย อะไรผิดอะไรถูกไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน แต่ถ้ามีมาตรฐานกลางทำให้มีแนวทางในการเจรจา
Set Standard 10 รหัส
สำหรับ มาสเตอร์ฟอร์แมต ของมาตรฐานก่อสร้างบ้านเวอร์ชั่น HBA อิงมาตรฐานสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 10 หมวดหลักรหัส 01-10 ดังนี้
รหัส 01 เตรียมการ เช่น เตรียมเข้างานก่อสร้าง ทำบ้านพักคนงาน บางกรณีอาจมีการรื้อถอนบ้าน การจัดกองวัสดุก่อสร้าง เหล็ก-อิฐต้องกองแบบไหน ฯลฯ
02 งานดิน เตรียมงานเข็ม ส่วนใหญ่ผู้บริโภคทุกคนอยากได้เข็มใหญ่ เข็มยาว เช่น เข็มตอก-เข็มเจาะระบบแห้ง
03 งานคอนกรีต มีมาตรฐานชัดเจนอยู่แล้ว หยิบเฉพาะรายละเอียดงานก่อสร้างบ้านซึ่งแตกต่างจากการก่อสร้างตึกสูง
04 งานก่ออิฐ จุดนี้ปัญหาเยอะเพราะเริ่มเข้างานสถาปัตย์ บางเว็บไซต์บอกว่าระยะห่าง 1.5 เมตร ต้องมีเสาเอน, คานดินใส่เสริมเหล็กเท่าไหร่, การฉาบปูนอิฐมวลไม่เกิน 1.5 ซม. อิฐมอญ 1.5-3 ซม. เป็นต้น
05 งานโลหะ ก่อสร้างบ้านหลัก ๆ ดูแค่งานเชื่อมเล็ก ๆ น้อย ๆ โครงหลังคาสำเร็จรูปมาแทนเหล็ก ลดการสูญเสียและสิ้นเปลืองน้อยกว่า
06 ฉนวนกันความร้อน และความชื้น อยู่ใต้หลังคา ความหนาบาง จำเป็นต้องใส่-ไม่ใส่ฉนวน ฯลฯ
07 ประตูหน้าต่าง มีให้เลือกทั้งอะลูมิเนียม UPVC ไม้ เหล็ก ติดตั้งประตูต้องห่างพื้นเท่าไหร่ 0.5-1 ซม.
08 งานตกแต่งผิว เช่น ปูกระเบื้อง ปาร์เกต์ หิน ไม้แปะ พีวีซี ฯลฯ
09 ระบบท่อ เช่น ท่อสีเหลือง-สีขาวมักใช้กับงานไฟฟ้า, ท่อสีฟ้างานสุขาภิบาล เป็นต้น
10 ระบบไฟฟ้า อ้างอิงมาตรฐาน การไฟฟ้านครหลวง-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปัจจุบันช่างไฟต้องมีใบอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบการควบคุมคุณภาพ เป็นคู่มือเริ่มต้น พยายามทำให้จำง่าย ๆ เริ่มใช้กับสมาชิก HBA ก่อน ตรงไหนติดปัญหา นำมาปรับปรุงให้ข้อบกพร่องน้อยที่สุด ก่อนจะเผยแพร่สาธารณะต่อไป
12/11/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (12 พฤศจิกายน 2565)