info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.147.67.237

แนวรบ ค้าปลีกไซซ์เล็ก ร้อนฉ่า ไฮเปอร์ฯขาลง-ดิ้นเปิดพื้นที่เช่า

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

โควิด-19 ที่คลี่คลาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผลประกอบการ-รายได้ของผู้ประกอบการค้าปลีกในช่วงโค้งท้าย ฟื้นตัวกลับคืนมาอีกครั้ง หลายรายเติบโตเป็นดับเบิลดิจิต

ทุกค่ายต่างมั่นใจว่าสัญญาณบวกดังกล่าวจะเป็นโมเมนตัมที่ส่งต่อมาถึงปี 2566 บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน

สะท้อนจากการทยอยประกาศแผนการลงทุนขยายสาขาในปีนี้ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะสดใส โดยเฉพาะบรรดาผู้ประกอบการค่ายใหญ่ล้วนประกาศเปิดเกมบุกต่อเนื่อง

“ไซซ์เล็ก” หัวใจค้าปลีกปี’66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนการขยายสาขาเซเว่นอีเลฟเว่น สำหรับปี 2566 นี้ โดยจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มประมาณ 700 สาขา ภายใต้งบฯการลงทุน 11,000-12,000 ล้านบาท รวมทั้งการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศเพิ่ม

จากที่ผ่านมาบริษัทในเครือซีพี ออลล์ มีไลเซนส์อยู่ใน 2 ประเทศ คือ กัมพูชา จากช่วงไตรมาส 3/2565 ที่มีมากกว่า 30 สาขา ส่วนในลาวที่มีแผนจะเปิดสาขาแรกภายในปีนี้ หลังจากที่ต้องเลื่อนมาจากปี 2565 จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในลาวที่มีปัญหาทั้งเรื่องเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงิน

เช่นเดียวกับโลตัส ธุรกิจค้าปลีกของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่จะใช้โมเดลสาขาเล็ก “โลตัส โก เฟรช” เป็นหัวหอกในการรุกตลาด ควบคู่การยกระดับไฮเปอร์มาร์เก็ต ตลอดปีนี้และปีถัดไป โดยมีโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2565 เป็นโมเดลต้นแบบ

ส่วนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี สำหรับตลาดในประเทศ เบื้องต้นตั้งเป้าจะเน้นการขยายฟู้ดฟอร์แมต ภายใต้แบรนด์ท็อปส์ 30-40 สาขา ในจำนวนนี้จะเป็นสาขาขนาดใหญ่ (ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ ไฟน์ ฟู้ด) ประมาณ 15 สาขา ส่วนค้าปลีกโมเดลใหม่ “ท็อปส์ คลับ” เป้าหมายจะเปิด 6-8 แห่งภายใน 5 ปี

จากที่เพิ่งเปิดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา 1 แห่ง นอกจากนี้ก็ยังมีแผนจะเปิดศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 1-2 แห่ง รวมถึง “ไทยวัสดุ” ที่จะเปิดเพิ่มอีก 8-10 แห่ง จากที่ผ่านมาเปิดให้บริการไปแล้วมากกว่า 40 จังหวัด ส่วนเวียดนามจะเน้นการขยายซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลาง 8-10 สาขา และสาขาใหญ่ 2-3 แห่ง

ด้านบิ๊กซี แม้บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี บริษัทแม่จะยังไม่ได้ระบุเป้าหมายอย่างชัดเจนนัก แต่เบื้องต้นมีแผนจะใช้ “บิ๊กซี มินิ” เป็นโมเดลหลักในการรุกตลาด จากที่มีอยู่ประมาณ 1,456 สาขา รวมทั้งมีแผนจะปรับรูปแบบและบริการให้ทันสมัยมากขึ้น

ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มีอยู่มากกว่า 154 สาขา จะมีการปรับเปลี่ยนโมเดล โดยจะให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้เช่ามากขึ้น เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนอีกโมเดลหนึ่งที่จะรุกคืบมากขึ้น คือ MM Food Service ธุรกิจค้าส่งอาหาร เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า HoReCa ส่วนในกัมพูชาที่ผ่านมา มีบิ๊กซี มินิ 18 สาขา จากการซื้อกิจการ Kiwi Mart และจากนี้ไปจะทยอยเปลี่ยนเป็นแบรนด์ “บิ๊กซี” และขยายสาขาเพิ่ม

นี่ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้อ ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส ที่ทยอยเปิดสาขาเพิ่มต่อเนื่อง จากที่มีอยู่ประมาณ 900 สาขา เช่นเดียวกับ “ซีเจ มอร์” ค้าปลีกโมเดลใหม่ที่เป็นมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่ว ๆ ไป โดยมีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่เช่า ที่มีอยู่ประมาณ 120 สาขา ก็มีการเปิดสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ หลังจากที่เลื่อนมาระยะหนึ่งจากปีที่ผ่านมา

ส่อยุคไฮเปอร์มาร์เก็ต

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีก วิเคราะห์ภาพความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่า หากสังเกตจะเห็นได้ว่า ค้าปลีกแต่ละค่ายจะมุ่งขยายสาขา โดยใช้สาขาขนาดเล็กเป็นหลัก ไม่เน้นการเปิดสาขาขนาดใหญ่ที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าขนาดใหญ่ที่เป็นการรวมเอง ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน แต่จะเน้นการรีโนเวตเพื่อปรับเปลี่ยนส่วนผสมของแต่ละสาขาให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคในย่านนั้น ๆ มากขึ้น

ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับรูปแบบของร้านค้าปลีกในปัจจุบันที่มีหลากหลาย และลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแบบทุกที่ทุกเวลา ทั้งรูปแบบที่เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่กระจายไปตามชุมชนต่าง ๆ รวมถึงออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในเรื่องราคา สินค้า และความสะดวกสบาย

ดังนั้น การใช้เวลาอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นเวลานาน จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์ และทำให้ความถี่ในการมาใช้บริการจึงมีแนวโน้มลดลง

“จากนี้ไป ในแง่ของสาขาใหม่ของไฮเปอร์มาร์เก็ต อาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงสาขาที่มีอยู่เดิมเพื่อยกระดับบริการ ขณะเดียวกันก็ปรับลดพื้นที่สินค้าทั่วไป เช่น แฟชั่น เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เปิดให้เช่า ส่วนการขยายสาขาของค้าปลีกขนาดเล็ก อาจจะเริ่มชะลอตัวลงสำหรับในตัวเมือง ทั้งในเขตอำเภอเมือง หรืออำเภอขนาดใหญ่ เนื่องจากมีสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่งแล้ว แต่ขยายออกอำเภอรอบนอก หรือบางค่ายอาจจะลงลึกไปในระดับตำบลมากขึ้น”

พื้นที่เช่าตอบโจทย์เพิ่มรายได้

ขณะที่ “ปัณฑารีย์ นันทนาคม” ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การเปิดสาขาใหม่ดังกล่าว จะเน้นร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือสแตนด์อะโลน ที่มีพื้นที่สำหรับจอดรถด้านหน้าร้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยเน้นทำเลที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองและความต้องการของลูกค้า รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ขายในร้าน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคภายในครัวเรือน สินค้าแพ็กใหญ่ ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ บริการในสาขาจะเน้นเรื่องอาหารปรุงสดมากขึ้น จากที่ผ่านมาได้เริ่มไปแล้วในหลายสาขา เช่น พิซซ่าอบสด ข้าวหน้าไข่ข้น ฯลฯ ขณะเดียวกันก็จะใช้สาขาเป็นจุดกระจายสินค้าให้กับบริการดีลิเวอรี่ รวมถึงการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการใช้ fixed asset ที่มีอยู่ให้เกิดรายได้

ด้าน “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจโลตัสประเทศไทย บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า กลยุทธ์สำคัญของโลตัส จากนี้ไป คือ การใช้โลตัส โก เฟรช เป็นหัวหอกในการสร้างการเติบโต โดยตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 200 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 2,000 สาขา

ขณะเดียวกันก็มีการยกระดับสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่ประมาณ 200 แห่ง โดยมีโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ที่เป็นสมาร์ทคอมมิวนิตี้เซ็นเตอร์ เป็นโมเดลต้นแบบ รวมถึงการต่อยอดการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น จากที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา โลตัสได้ทยอยพลิกโฉมสาขาที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต สู่การเป็นสมาร์ทคอมมิวนิตี้เซ็นเตอร์ โดยแต่ละสาขาจะถูกออกแบบให้เหมาะกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ อาทิ โลตัส นครอินทร์ นนทบุรี (21 ธ.ค. 65) มีการเปิดโซนใหม่ เพิ่มพื้นที่เช่าอีกกว่า 1,500 ตารางเมตร ด้วยคอนเซ็ปต์จุดหมายใหม่ทุกเรื่องกิน ตามด้วยโลตัส หนองจอก (25 ธ.ค. 65) เป็นต้น

5/1/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 มกราคม 2566)

ช่องยูทูปของ iCONS