info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.227.140.251

รอสรุป TOR ประมูลที่ดินบางซื่อ “ศักดิ์สยาม” เร่งขยายสายสีแดง-มธ.รังสิต

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เปิดไทม์ไลน์ประมูลที่ดินรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ปีนี้ TOR เสร็จแน่นอน รอศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับ UR “ศักดิ์สยาม” ยึดโมเดลญี่ปุ่น นำร่องพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส จูงใจเอกชนลงทุนเต็มรูปแบบ เตรียมเสนอ ครม.ยืดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดือน ก.พ.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างร่างประกาศ TOR คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ และพร้อมจะเปิดประมูลได้ โดยใช้โมเดลจากประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์คิดเป็น 60% ส่วนอีก 40% เป็นรายได้จากค่าโดยสาร

ทั้งนี้ การเปิดประมูลที่ดินโดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,325 ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 9 แปลง ในเบื้องต้นจะเปิดประมูลก่อน 2 แปลง คือ แปลง A จำนวน 32 ไร่ และแปลง E จำนวน 128 ไร่

แหล่งข่าว ร.ฟ.ท.กล่าวว่า แปลง A เป็นที่ดินอกแตก อยู่ทิศใต้ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้วางแผนพัฒนาแบบมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์ เช่นเดียวกับแปลง E ที่อยู่ระหว่างสำนักงานใหญ่เอสซีจี และสถานี ซึ่งอนาคตหากพัฒนาแล้วจะเป็นคอมเมอร์เชียล ศูนย์กลางการค้าและธุรกิจแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุด คาดว่าจะมีบริษัทพัฒนาที่ดินและกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่เข้าร่วมประมูล อาทิ เดอะมอลล์ เซ็นทรัล ฯลฯ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาเพิ่มเติมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับ Urban Renaissance Agency (UR) องค์กรจากประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่ TOD (Transit Oriented Development) ในญี่ปุ่นนานกว่า 40 ปี หลังศึกษาเพิ่มเติมแล้วจะมีการนำผลการศึกษาการพัฒนาเชิงพาณิชย์ออกโรดโชว์ในต่างประเทศด้วย

ส่วนการประกาศเชิญชวนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจการ เชิงพาณิชย์และติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พื้นที่รวม 47,675 ตารางเมตร จากเดิมมีพื้นที่ 52,000 ตารางเมตร ยังอยู่ระหว่างจัดทำร่าง TOR เช่นกัน

“พื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ลดลงบางส่วนได้กันไว้สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ยังเท่าเดิม เช่น พื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2,300 ตารางเมตร พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี พื้นที่ 3,700 ตารางเมตร และพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ประมาณ 2,000 ตารางเมตร” แหล่งข่าวกล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำถึงสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพงว่า ปัจจุบันจะค่อย ๆ ลดบทบาทด้านการเดินรถลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งพื้นที่บริเวณหัวลำโพงมีพื้นที่รวมกันกว่า 120 ไร่นั้น ยังไม่มีแผนพัฒนาที่ดินใด ๆ

“สถานีหัวลำโพงจะอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ไว้ เพราะเปิดใช้มาตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2459 แต่ต้องมีการปรับปรุงโดยรักษาสภาพทางกายภาพเดิมเอาไว้ ไม่มีการทุบทิ้งแน่นอน” นายศักดิ์สยามกล่าว

สำหรับการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการเสนอโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติการประมูล

ส่วนรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 6,193 ล้านบาท ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. วงเงิน 42,039 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทบทวนแบบ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต้นทุนในการดำเนินการ

22/1/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 22 มกราคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS