info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.147.57.239

แลนด์มาร์กใหม่ สะพานขึงคู่ขนานพระราม 9 กว้างที่สุดในประเทศเปิดใช้ปี 67

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

แก้ปัญหาจราจร และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ขึงงดงาม-กว้างที่สุดในประเทศ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม เป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสุดท้าย ของโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย วงเงินลงทุนโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สะพานทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกันได้

สำหรับสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในงานก่อสร้างสัญญาที่ 4 ขนาด 8 ช่องจราจร ถือเป็นสะพานที่กว้างที่สุดในประเทศไทย มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่ากับสะพานตัวเดิม) ระยะทางรวม 2 กม. ซึ่งการดำเนินงานรวดเร็วกว่าแผนที่วางไว้

การเทคอนกรีตช่องสุดท้าย เพื่อเชื่อมสะพานทั้งฝั่งพระราม 3 และฝั่งราษฎร์บูรณะ ให้บรรจบกันตรงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปีนี้ (2566) และเปิดบริการเดือน มี.ค. 2567 เนื่องจากต้องรอผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 ก่อสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งทำให้เมื่อเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 แล้วรถยนต์จะสามารถขึ้น-ลงถนนสุขสวัสดิ์ได้เลย

นับเป็นการแบ่งเบาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 ระหว่างที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จทั้งโครงการ นับเป็นแนวทางเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดสะสม ลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกมากขึ้น

“สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9” นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานถึงความยิ่งใหญ่ และสวยงาม ท่ามกลางวิวแม่น้ำเจ้าพระยา เคียงข้างอาคารสำนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คอนโดมิเนียมหรู และเวิ้งบางกระเจ้า ปอดใหญ่ชานเมืองกรุงเทพฯ

อยู่ในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษ “สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก” ที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปริมณฑลทางด้านตะวันตก เพื่อช่วยลดเวลาการเดินทางให้ผู้ใช้ทางพิเศษได้รับความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

“สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9” แห่งใหม่นี้ กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาให้เป็น “โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐” พร้อมขอพระราชทานชื่อสะพาน เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

ล่าสุด อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานคู่ขนาน วางตอม่อในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยมี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน กำหนดแล้วเสร็จปี 2566

การออกแบบสะพานคู่ขนานจะมีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่ยกระดับจากพื้นดิน แต่สะพานที่กำลังก่อสร้างใหม่จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้น-ลงสะพานได้สะดวก ไม่เกิดการชะลอตัว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดจราจรติดขัดในช่วงขาขึ้นสะพาน

ตัวสะพานมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร

ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย

มีความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ โดยเชื่อมต่อกับทางยกระดับหรือทางด่วนใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดสิ้นสุดโครงการ ตรงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ย่านถนนพระรามที่ 3 รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร

กทพ.ได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโดเลยทีเดียว

สะพานแห่งนี้จึงมั่นคงแข็งแรงมาก นับเป็น LAND MARK สำคัญของกรุงเทพมหานครในอนาคตอันใกล้

22/2/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 22 กุมภาพันธ์ 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS