ดุสิตธานี พร้อมรับมือการกลับมาของการท่องเที่ยว ประกาศปี66 วางแผนขยายโรงแรม-รีสอร์ตเพิ่มอีก 14 แห่ง รวม 1.7 พันห้อง ใน 7 ประเทศ ครอบคลุมทั้งในเอเชีย ยุโรป รวมถึงประเทศไทย เผยรายได้รวม65 กลับมาที่ระดับ 85% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมในปี62 แล้ว
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า กลุ่มดุสิตธานีเตรียมพร้อมรับมือกับการกลับมาของการท่องเที่ยว โดยในปี 2566 นี้บริษัทมีแผนขยายธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตเพิ่มขึ้นอีก 14 แห่ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ห้อง ใน 7 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งในเอเชียและยุโรป รวมถึงประเทศไทย
จากแผนดังกล่าวจะทำให้พอร์ตโฟลิโอทั่วโลกของกลุ่มดุสิตในปีนี้ มีโรงแรมรวมกันทั้งหมด 62 แห่ง หรือประมาณ 13,700 ห้อง ใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังมีอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 60 แห่งที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายใน 3-4 ปีข้างหน้า
โดยล่าสุดกลุ่มดุสิตธานีมีความพร้อมที่จะสร้างความตื่นเต้นครั้งใหม่ให้กับการเดินทาง โดยจะเปิดให้บริการภายใต้แบรนด์ ดุสิตธานี ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ที่พร้อมให้บริการในเดือนกันยายน และโรงแรมอาศัย เกียวโต ชิโจ ที่จะเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวได้ในเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมานางศุภจีกล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมของบริษัทมีการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ การเดินทางที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ไม่ได้ท่องเที่ยวเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดไว้ ส่งผลให้บริษัทมีอัตราการเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้องเพิ่มขึ้นโดยเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี
และทำให้รายได้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทในปี 2565 กลับมาที่ระดับ 85% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการกลับมาของรายได้ที่ดีกว่าประมาณการของบริษัทที่มีสมมติฐานไว้ที่ 75% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมปี 2562
ขณะที่ธุรกิจอาหารเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการทยอยกลับมาให้บริการปกติของธุรกิจให้บริการจัดหาอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติและจากธุรกิจใหม่ คือธุรกิจเบเกอรี่ ที่บริษัทได้เข้าลงทุนในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 2565 เช่นเดียวกับธุรกิจการศึกษา ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเรียนตามปกติ (on-site) มากขึ้น
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 5,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากปี 2564 ซึ่งการฟื้นตัวของธุรกิจหลักดังกล่าว ทำให้บริษัทมี EBITDA 864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.8 จากปี 2564
ขณะที่มีตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ -501 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลขาดทุนที่ลดลงจาก -945 ล้านบาทในปี 2564
และหากไม่รวมรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ บริษัทมีผลการดำเนินงานจากการประกอบธุรกิจหลักที่ดีขึ้น โดยมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ -595 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ -1,204 ล้านบาทในปี 2564
28/2/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 กุมภาพันธ์ 2566 )