ยักษ์ธุรกิจโรงแรมแห่ขยายเครือข่าย ทั้งลงทุนใหม่-ซื้อขายเปลี่ยนมือคึกคัก เซ็นทรัล-AWC-ดุสิตธานี ของ 3 ตระกูลดัง โหมลงทุนขยายอาณาจักรเปิดโรงแรมใหม่ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ซีอีโอกลุ่ม CENTEL ชี้ธุรกิจโรงแรมบริบทใหม่เป็นเกมของบิ๊กแบรนด์-บิ๊กเพลเยอร์ AWC ของลูกสาวเจ้าสัวเจริญ รุกหนักโรงแรมกลุ่มไฮเอนด์ทุ่มงบฯแสนล้าน ทั้งลงทุนเอง-เทกโอเวอร์ ดุสิตธานี มุ่งขยายธุรกิจในรูปแบบผนึกพันธมิตรปีละ 10-15 แห่ง คาดอีก 5 ปีครบ 100 แห่ง
แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมเปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นมา ซึ่งจะพบว่ามีโรงแรมใหม่ทยอยเปิดตัวอย่างคึกคัก หลังจากที่ธุรกิจชะงักไปกว่า 2 ปี จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีทั้งการลงทุนในโครงการใหม่ การรีแบรนด์จากการซื้อขายเปลี่ยนมือของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่
เช่น การเข้ามาของกลุ่มทุนอสังหาฯอย่างกลุ่มไซมิส แอสเสท ที่ลงทุนเปิดโรงแรมไทร์บ กรุงเทพ สุขุมวิท 39 ภายใต้แบรนด์ TRIBE แห่งแรกในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มบูทิค คอร์ปอเรชั่น ที่เปิดตัวโรงแรมโจโน สุขุมวิท 16 โรงแรมไอบิส เชียงใหม่ นิมมาน เจอร์นี่ย์ฮับ โรงแรมโอ๊ควู้ด สตูดิโอส์ สุขุมวิท แบงค็อก (ทองหล่อ), โรงแรมโอ๊ควู้ด สุขุมวิท 11 เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายโรงแรมกันต่อเนื่อง โดยกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุย ยังคงเป็นทำเลยอดนิยมของนักลงทุน เช่น โรงแรมโอ๊ควู้ด สตูดิโอส์ สุขุมวิท แบงค็อก (สุขุมวิท 36) ที่ขายให้กับกลุ่มทุนสิงคโปร์ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงคอก วินเซอร์ (สุขุมวิท 20) ที่ขายให้กับแอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC)
รวมถึงในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลักอีกจำนวนหนึ่ง เช่น โรงแรมเวสติน สิเหร่ เบย์ ภูเก็ต โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ ที่ขายให้กับกลุ่ม AWC เช่นกัน และคาดว่าในปี 2566 นี้ ตลาดซื้อขายโรงแรมยังมีความคึกคักต่อเนื่อง
สอดรับกับ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 นี้ยังมีโอกาสฟี้นตัวได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ โดยเฉพาะโรงแรมในกลุ่มลักเซอรี่ที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี 2565 และต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2566
สู่ยุคบิ๊กแบรนด์-บิ๊กเพลเยอร์
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวยังมองว่าการลงทุนของธุรกิจโรงแรมในภาพรวมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะโรงแรมในกลุ่มลักเซอรี่
เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยมีเปลี่ยนเป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (foreign independent tour หรือ FIT) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมพักในโรงแรมในระดับ 4 ดาว และ 5 ดาวขึ้นไป
ทำให้บริบทใหม่ของการลงทุนในธุรกิจโรงแรมเป็นเกมของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแบรนด์ บิ๊กเพลเยอร์ เป็นหลัก เนื่องจากโรงแรมของกลุ่มทุนใหญ่มีจำนวนห้องพักมาก จะมีข้อได้เปรียบเรื่องเน็ตเวิร์กและมีฐานสมาชิกกระจายอยู่ทั่วโลก
เมื่อโครงสร้างนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เชื่อว่าซัพพลายที่จะเกิดใหม่ก็ต้องปรับเปลี่ยน และหาจุดขายที่ชัดเจนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักลงทุนก็คงต้องพิจารณาในเรื่องของโลเกชั่นและกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก นายธีระยุทธกล่าว
เซ็นทรัลทุ่ม 3 ปี 1.5-2.3 หมื่นล้าน
นายธีระยุทธกล่าวว่า สำหรับกลุ่มเซ็นเทลในช่วง 3 ปีนี้ บริษัทวางงบฯลงทุนสำหรับขยายการลงทุนทั้งในธุรกิจโรงแรมและอาหารไว้ 15,000-23,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯลงทุนในธุรกิจอาหารราว 1,000 ล้านบาทต่อปี ที่เหลือจะเป็นงบฯลงทุนในธุรกิจโรงแรม
สำหรับปี 2566 วางงบฯลงทุนไว้ประมาณ 3,400-5,800 ล้านบาท เป็นงบฯสำหรับลงทุนโรงแรมใหม่ 6 แห่ง ประกอบด้วย เซ็นทารา อุบลราชธานี, เซ็นทารา ระยอง, เซ็นทารา วัน อยุธยา, เซ็นทารา สมุย, เซ็นทารา สุราษฎร์ธานี และเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกภายใต้แบรนด์เซ็นทาราแกรนด์ในประเทศญี่ปุ่น
โรงแรมเซ็นทาราที่อุบลฯ ระยอง และพระนครศรีอยุธยา เป็นการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่ง CENTEL เข้าไปรับบริหาร นอกจากนี้ยังมีแผนรีโนเวตโรงแรมเซ็นทารา กะรน ประมาณ 700-800 ล้านบาท และลงทุนพัฒนาโรงแรมเซ็นทารา มิราจ พัทยา เพิ่มเติมอีกราว 1,100-1,200 ล้านบาท นายธีระยุทธกล่าว
ลงทุนหนักมัลดีฟส์ 3 เกาะ
รวมถึงพัฒนาโรงแรมใหม่ที่มัลดีฟส์ จำนวน 3 เกาะ โดย 2 เกาะแรกจะใช้งบฯลงทุนรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มัลดีฟส์ และเซ็นทารา มิราจ มัลดีฟส์ ส่วนเกาะที่ 3 อาจเป็นโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ มัลดีฟส์ โดยทั้ง 3 โรงแรมที่มัลดีฟส์คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567
มูลค่าการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่มัลดีฟส์ นอกจากนี้ก็ยังมีตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน ดูไบ ฯลฯ ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังศึกษาเพิ่มเติมอีก 2-3 ทำเล นายธีระยุทธกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมองหาโอกาสใหม่เพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์สำคัญในตลาดต่างประเทศคือทำสัญญารับบริหารโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม
รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายรับบริหารราว 15 แห่งต่อปี ซึ่ง 2 ใน 3 จะเป็นโรงแรมต่างประเทศ
AWC กางแผน 5 ปี 1 แสนล้าน
ขณะที่นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของกลุ่มตระกูล สิริวัฒนภักดี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า AWC วางงบฯลงทุนในช่วง 5 ปี (2566-2570) ไว้ที่ 100,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงการต่อเนื่อง 15 โครงการ โดยจะเป็นส่วนของการพัฒนาโครงการของบริษัท 60,000 ล้านบาท และอีก 40,000 ล้านบาท จะเป็นงบฯสำหรับการเข้าซื้อกิจการ
โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมภายใต้การบริหาร 20 แห่ง รวมประมาณ 5,458 ห้องพัก กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน กระบี่ และสมุย ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มี 16 โรงแรม จำนวนห้องรวม 3,432 ห้อง
สำหรับปี 2566 นี้ บริษัทมีแผนเปิดตัวโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล แม่ปิง เชียงใหม่, โรงแรมแมริออท เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรีแบรนด์มาจากโรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 1 นี้ รวมถึงโรงแรมอินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท
ปูพรมกรุงเทพฯ-พัทยา
นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการในพื้นที่พัทยา (ชลบุรี) และกรุงเทพฯ ซึ่งในพัทยา ประกอบด้วย เจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา, แมริออท มาร์คีส์, อควาทีค พัทยา, ออโตกราฟ คอลเลคชัน พัทยา, แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา แอท จอมเทียนบีช
ส่วนในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย โรงงานเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน แบงค็อก, เดอะ ริเวอร์ไซด์ (ล้ง 1919), เจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ โฮเทล เอเชียทีค, ดิ เอเชียทีค แบงค็อก ออโตกราฟ คอลเลคชัน เป็นต้น
โดยล่าสุดได้ลงนามข้อตกลงในการพัฒนาและบริหารโรงแรมกับกลุ่มแอคคอร์ (Accor) พร้อมเปิดตัวโรงแรมแฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท (รีแบรนด์จากโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์) เป็นแบรนด์ Fairmont แห่งแรกในไทย เพื่อยกระดับกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางตลาด MICE ลักเซอรี่ระดับโลก โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567
กลุ่มดุสิตเปิดเพิ่ม 14 โรงแรม
ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ของกลุ่ม โทณวณิก กล่าวว่า กลุ่มดุสิตธานีเตรียมพร้อมรับมือกับการกลับมาของการท่องเที่ยวเต็มที่ โดยในปี 2566 นี้ บริษัทมีแผนขยายโรงแรมและรีสอร์ตเพิ่มขึ้นอีก 14 แห่ง รวมประมาณ 1,700 ห้อง ใน 7 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งตลาดในเอเชียและยุโรป รวมถึงประเทศไทย
จากแผนดังกล่าวจะทำให้พอร์ตทั่วโลกของกลุ่มดุสิตธานีในปีนี้ มีโรงแรมรวมทั้งหมด 62 แห่ง หรือประมาณ 13,700 ห้อง ใน 17 ประเทศ รวมทั้งยังมีอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 60 แห่งที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายใน 3-4 ปีข้างหน้า
ปีนี้เราจะเปิดให้บริการโรงแรมอาศัย เกียวโต ชิโจ ญี่ปุ่น โดยกำหนดเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน และโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ในเดือนกันยายน และมีแผนบุกตลาดในยุโรป ด้วยการเปิดโรงแรมบูติคโฮเทลภายใต้แบรนด์ ดุสิตสวีท ที่เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ 1 แห่ง นางศุภจีกล่าว
นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเปิดโรงแรมในต่างประเทศเพิ่มเติมในจุดหมายปลายทางที่เคยมีแล้ว ได้แก่ ประเทศเนปาล 2 แห่ง อินเดีย 2 แห่ง เคนยา 1 แห่ง จีน 3 แห่ง และในประเทศไทย 3 แห่งคือ โรงแรมอาศัย สาทร, โรงแรมดุสิตดีทู สามย่าน และโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส พัทลุง
5 ปีโรงแรมครบ 100 แห่ง
นางศุภจีกล่าวว่า สำหรับโครงการใหญ่ที่อยู่ในแผนการพัฒนาในช่วง 2-3 ปีนี้ คือ การลงทุน 17,250 ล้านบาท สำหรับโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (มูลค่าโครงการ 46,000 ล้านบาท) ที่ประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุุงเทพฯ ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ซึ่งโรงแรมจะเปิดให้บริการเป็นโครงการแรกในช่วงต้นปี 2567
สำหรับโครงการที่พักอาศัย ดำเนินการภายใต้ 2 แบรนด์ คือ ดุสิต พาร์คไซด์ และดุุสิต เรสซิเดนเซส (Dusit Residences) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568
นางศุภจีกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันบริษัทได้เซ็นสัญญาบริหารโรงแรมอีก 45 แห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะมีทั้งการขยายในประเทศเดิมและประเทศใหม่ ๆ เช่น เนปาล เมียนมา อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 บริษัทจะมีโรงแรมภายใต้การบริหารรวมประมาณ 100 แห่ง ใน 20 ประเทศ
ไมเนอร์-SHR ทุ่มหลักหมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากกลุ่มทุนของ 3 ตระกูลดังแล้ว กลุ่มทุนใหญ่อื่น ๆ ก็ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนเช่นกัน อย่างบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ได้ตั้งงบฯลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าไว้ที่ 1-1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนบริษัทในเครือโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น
เช่นเดียวกับบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR บริษัทในเครือสิงห์ เอสเตท ที่เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565-2567 บริษัทวางงบฯการลงทุนกว่า 7,300 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการลงทุนใหม่ และอีก 4,500 ล้านบาทสำหรับซื้อกิจการ โดยปี 2566 มีแผนเปิดให้บริการโรงแรมโซ มัลดีฟส์ รีสอร์ท แห่งที่ 3 ของโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์
สมรภูมิพัทยายังร้อนแรง
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี เจ้าของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตเครือซันไชน์ ในฐานะรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนธุรกิจโรงแรมในจังหวัดชลบุรี
ตอนนี้เท่าที่ทราบมีกลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อที่ดินในพัทยา 2-3 แปลง เพื่อจะก่อสร้างโรงแรมเจดับบลิว แมริออท เพื่อรองรับลูกค้าหลายระดับ ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่ปรับหน้าดินและล้อมรั้วไว้แล้ว แต่ก็น่าจะใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่ดิน โรงแรมในจังหวัดชลบุรี มีการซื้อขายเปลี่ยนมือมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อ คาดว่าอยู่ในช่วงปรับปรุง เพื่อเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง
8/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 8 มีนาคม 2566 )