การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพิ่มการศึกษาแนวทางจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ในลักษณะร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน เล็งขยายพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนครราชสีมา ลำพูน สงขลา มั่นใจคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว หวังลดการกลับมาทำผิดซ้ำของนักโทษ
วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ว่า หลังจาก กนอ.ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยังออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป และนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ร่วมกับ กนอ. ในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด
ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยองด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเปลี่ยนแปลงผังเมือง และอยู่ระหว่างการขอเปลี่ยนแปลงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment)
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ (พื้นที่เพิ่มเติม) ซึ่งเป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม
โดยเพิ่มการศึกษาแนวทางการดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในลักษณะการร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน และการขยายผลการศึกษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือ คือ จังหวัดลำพูน และภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย
สำหรับรูปแบบของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ แบ่งเป็น 7 รูปแบบ คือ
1.ใช้ที่ราชพัสดุในลักษณะร่วมดำเนินการกับ กนอ.
2.ประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน โดยใช้ที่ดินของเอกชนมาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเปิดพื้นที่ให้สถานประกอบการเช่าใช้ประกอบการเป็นรายได้ตอบแทนให้กับเอกชนผู้ลงทุน
3.ใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ โดยเปิดให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่และยังไม่มีผู้ประกอบการมาจับจอง
4.จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เรือนจำ โดยขอใช้ที่ดินราชพัสดุของเรือนจำซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ แต่ยังมีขนาดไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้ขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ แล้วเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน
5.จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำพื้นที่ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่สามารถพัฒนาพื้นที่เหลือใช้ของเรือนจำต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเน้นที่การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้พื้นที่น้อยแต่มีมูลค่าสูง
6.จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยนำพื้นที่ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และ 7.จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ในพื้นที่เอกชน ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของบ้านกึ่งวิถี หรือสถานที่พักพิงดูแลผู้ถูกคุมประพฤติในระหว่างพักการลงโทษ และลดวันต้องโทษในพื้นที่เอกชนได้โดยไม่จำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนเพิ่ม
ในส่วนของหลักเกณฑ์และองค์ประกอบ ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้น จะใช้การลงทุนร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยพึ่งพางบประมาณภาครัฐให้น้อยที่สุด การคัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจจะเน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ฝีมือ
กนอ. และรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสุจริตที่มีรายได้เพียงพอให้กับผู้พ้นโทษเป็นทุนตั้งต้น มากกว่าการจูงใจผู้ประกอบการโดยกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ หรือใช้แรงงานไร้ฝีมือในสถานประกอบการ ขณะเดียวกันยังมีการจัดองค์ประกอบพื้นที่ เพื่อฝึกตั้งแต่เป็นผู้ต้องขังภายในแดนควบคุม โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จะเตรียมความพร้อมตั้งแต่การคัดกรองและฝึกอาชีพผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน พยายามส่งตัวผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและต้องการประกอบอาชีพสุจริต ให้ออกมาทำงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ผ่านการพักการลงโทษกรณีพิเศษ โดยอาจใช้อุปกรณ์ควบคุมตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) ผลการศึกษาการลงทุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ยังพบด้วยว่า หากเป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ซึ่งมีฐานอุตสาหกรรมและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ นั้นมีความน่าสนใจ และหากสามารถเชิญชวนผู้ประกอบการมาลงทุนจนเต็มพื้นที่ จะมีรายได้จากการเช่าพื้นที่ประกอบการในระยะยาวเกินกว่าต้นทุนการดำเนินการของ กนอ.ด้วย โครงการนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการดูแลผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ จนสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างแข็งแรง มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ช่วยลดการกลับมาทำผิดซ้ำได้9/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 มีนาคม 2566 )