บีเจซี กางแผนบุกค้าปลีก ประกาศเร่งปูพรมสาขา บิ๊กซี ตั้งเป้าโตยอดขายดับเบิลดิจิต เปิดตัวฟอร์แมตใหม่ตลาดนัด มุ่งเพิ่มรายได้ค่าเช่าพื้นที่ ทยอยเปิด ตลาดครอบครัว-ตลาดเดินเล่น ประกาศแปลงโฉมสาขาตามเมืองท่องเที่ยว กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา สมุย กระบี่ หัวหิน เชียงใหม่ เป็นทัวริสต์สโตร์รับนักท่องเที่ยว ควบคู่เร่งเพิ่มฐานสมาชิกบิ๊กการ์ด เล็งบุกธุรกิจใหม่สถานีชาร์จรถไฟฟ้า
นางสาวอัญชลี ริมวิริยะทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ภายใต้แบรนด์ บิ๊กซี เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า ภาพรวมตลาดปี 2566 ว่า จะเป็นบวก จากปัจจัยหลักคือการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายได้มาก ขณะที่การเลือกตั้งเป็นอีกปัจจัยบวก เพราะเมื่อดูตามสถิติในอดีต การเลือกตั้งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจค้าปลีก
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ตั้งเป้าเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 2-4 สาขา แบ่งเป็น 2 สาขาในไทย และ 2 สาขาในกัมพูชา และกำลังสร้าง 1 สาขาในลาว คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2567 ส่วนโมเดลอื่นจะเปิดฟู้ดเพลซ 5 สาขา ฟู้ดเซอร์วิส 7-8 สาขา โดยอาจเปิดเพิ่มมากกว่านี้หากโอกาสเอื้ออำนวย มินิ บิ๊กซี จะเปิด 200 สาขา รวมถึงเปิดมินิ บิ๊กซี ขนาดใหญ่ในกัมพูชา 1 สาขา ด้านร้านยาเพรียว 12 สาขา โดนใจ 3,000 สาขา
พร้อมกันนี้เตรียมเดินหน้ารีโนเวตสาขาเดิมครั้งใหญ่ จำนวน 15-17 แห่ง แบ่งเป็น บิ๊กซี เพลส 6 แห่ง และสาขาโมเดลอื่นอีก 9-11 แห่ง โดยจะเริ่มจากปรับปรุงไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯก่อน ตามด้วยสาขาที่เหลือทั้งหมดให้ครบตามเป้าในปี 2566 นี้ จากปัจจุบันมีสาขารวม 1,810 สาขา แบ่งเป็น มินิ บิ๊กซี 1,449 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา ร้านยาเพรียว 146 สาขา และซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา
ฟอร์แมตตลาด-ทัวริสต์สโตร์
นางสาวอัญชลีกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะเพิ่มการเติบโตของค่าเช่าพื้นที่ ด้วยโมเดลตลาด (Talad Market Format) ซึ่งปัจจุบันมี 7 แห่ง แบ่งเป็น ตลาดครอบครัว ซึ่งเป็นสไตล์ตลาดนัด 1 แห่ง และตลาดเดินเล่น ที่เป็นตลาดนัดกลางคืน เน้นพักผ่อนหลังเลิกงาน 6 แห่ง โดยใช้พื้นที่เฉลี่ยประมาณ 5,000 ตร.ม. มีผู้เช่า 600-700 ราย และเพิ่งเปิดตลาดเดินเล่น สาขาล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพกรีฑา
นอกจากนี้ บิ๊กซียังจะมีการปรับพื้นที่สาขา 25 แห่งที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา สมุย กระบี่ ชลบุรี หัวหิน เกาะพะงัน เกาะช้าง เชียงใหม่ เชียงราย เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในช่วงจากนี้ไป ขณะเดียวกันก็จะเน้นการพัฒนาไลน์สินค้าในสาขาเหล่านี้ให้เหมาะสมกับกลุ่มนักท่องเที่ยวในแต่ละโลเกชั่นด้วย
รวมถึงการแยกสาขาสำหรับนักท่องเที่ยวออกจากสาขาปกติ และเพิ่มการรับรู้เพื่อดึงผู้บริโภคมาที่สาขา หลังธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 2566 และ 2567 นี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 25.5 ล้านคน และ 34 ล้านคน สอดคล้องกับสัญญาณที่บริษัทเห็นตั้งแต่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งยอดขายสาขาเดิมของกลุ่มนี้เติบโตแข็งแกร่ง ในระดับดับเบิลดิจิต และมียอดขายกลับมา 80% ของช่วงก่อนโควิดแล้ว
นางสาวอัญชลีย้ำว่า สำหรับเป้าหมายของธุรกิจค้าปลีกในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตเป็นเลข 2 หลักระดับต้น-กลาง ซึ่งไตรมาส 1 คาดว่าจะมีการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะค้าปลีกสมัยใหม่ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นอกจากนี้สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ตอนนี้มีแผนในไปป์ไลน์อีกมาก หนึ่งในนั้นคือการติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ยังไม่มีกำหนดการชัดเจน
ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดหลัก ๆ จะเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายและกำไร ด้วยการขับเคลื่อนผ่านสมาชิกบิ๊กการ์ด ที่ปัจจุบันมีประมาณ 18.3 ล้านบัญชี ด้วยแคมเปญ 1 คะแนนเท่ากับ 1 บาท และสิทธิพิเศษต่าง ๆ รวมถึงมีแผนจะเพิ่มมูลค่าคะแนนเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า และดึงดูดสมาชิกรายใหม่ รวมถึงการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ การขยายบริการดีลิเวอรี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจะมีการนำจักรยานไฟฟ้ามาใช้ส่งสินค้า รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและมาร์เก็ตเพลซ สำหรับ Big C ไทยและกัมพูชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา บีเจซีมีรายได้รวม 163,631 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 138,465 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.6% แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ 109,206 ล้านบาท กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ 24,821 ล้านบาท กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค 21,410 ล้านบาท กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค 8,880 ล้านบาท
ปูพรมสาขาหนุนการเติบโต
รายงานข่าวจากบีเจซี เปิดเผยถึงรายได้รวมกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ สำหรับปี 2565 ว่า มีตัวเลขที่ 109,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,798 ล้านบาท หรือ 6.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 96,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,188 ล้านบาท หรือ 5.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งส่งผลบวกต่อการเติบโตของยอดขาย ทำให้ยอดขายต่อสาขาเดิมเติบโตเป็นบวกอยู่ที่ 2.0% ในปี 2565 (ยอดขายต่อสาขาเดิมเมื่อไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบี เติบโตอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565)
ขณะเดียวกันรายได้อื่นอยู่ที่ 12,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,607 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าเช่าจากอัตราการเช่าที่สูง รวมถึงการให้ส่วนลดเฉลี่ยแก่ผู้เช่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/65 โดยได้เปิดบิ๊กซี มินิ 2 สาขา ในประเทศไทย เปิดบิ๊กซี มาร์เก็ต 2 สาขา ในระหว่างไตรมาส ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 154 สาขา (รวมบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขา ในกัมพูชา)
ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต 36 สาขา บิ๊กซี ฟู้ด เพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต 11 สาขา บิ๊กซี ดีโป้ 11 สาขา และร้านค้าส่งเอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 3 สาขา) บิ๊กซี มินิ 1,449 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 56 สาขา ในไทย บิ๊กซี มินิ 17 สาขา และร้านค้าสะดวกซื้อกีวีพรีเมี่ยม 2 สาขา ในกัมพูชา) และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา
10/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 10 มีนาคม 2566 )