นิคมอุตสาหกรรมอุดร นิคมแห่งแรกของภาคอีสาน โดยคนอีสานอย่างแท้จริง พัฒนาพื้นที่มา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน รถไฟ และสนามบินนานาชาติ และร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เป็นศูนย์กลางการขนส่ง โลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ลูกไม้ใต้ต้นผู้ก่อตั้ง นายกองเอกสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ถึงเป้าหมายและการเดินหน้าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการใช้โอกาสรถไฟลาว-จีน ในการส่งออกสินค้าไทย
จุดเริ่มต้นนิคมอุดร
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งภายใต้บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด โดยนายกองเอกสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล เมื่อปี 2560 เราได้เริ่มพัฒนาที่ดินเพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
นิคมตั้งขึ้นในพื้นที่ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่โครงการ 2,170 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคอีสาน เพื่อคนอุดรและคนภาคอีสานอย่างแท้จริง ซึ่งนายกองเอกสุวิทย์ ประธานบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ถือหุ้น 100% เป็นคนพื้นเพอุดรธานี
นิคมนี้เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างเช่น อุตสาหกรรมยางพาราขั้นต้น แปรรูปสินค้า การผลิตวัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์กระจายสินค้า อุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิต และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ปัจจุบันมีเอกชนที่เข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว 4 ราย ซึ่งมาจากนักลงทุนไทย 3 ราย และนักลงทุนจากเดนมาร์ก 1 ราย และยังมีผู้ประกอบการ หอการค้าทางภาคใต้ สนใจลงทุนในนิคมเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าผลไม้ และอาหารทะเลไปจีนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจ logistics อย่างเช่น บริษัท Yunnan Tengjin Logistics ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งของจีน มองเห็นจุดเด่นของนิคมอุดร และสนใจที่จะร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับเรา กลุ่มบริษัทค้าส่งผลไม้ และ cross-border e-Commerce สนใจมาใช้คลังสินค้า และห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิ ของนิคมอุดร ในการส่งออกสินค้าไปจีน
เราอาศัยจุดแข็งที่นิคมตั้งอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟลาว-จีน และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อ เพื่อง่ายต่อการขนส่งโดยอาศัยเส้นทางรถไฟลาว-จีน ในการขนส่งสินค้าเข้าจีน ดังนั้นนักลงทุนจีนยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่เราจะดึงเข้ามาลงทุนในนิคมนี้ด้วย
ก่อสร้างจุดเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีน
ปัจจุบันนิคมอุดรอยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ซึ่งได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อออกไปเชื่อมต่อ เส้นทางรถไฟที่ออกจากสถานีหนองตะไก้ ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ด้วยงบฯลงทุน 36 ล้านบาท เชื่อว่าปลายปี 2566 น่าจะแล้วเสร็จ
ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 76 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไปยังรถไฟลาว-จีน ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ดังนั้น เราจึงมีจุดแข็งในด้านการขนส่ง และอาศัยจุดเชื่อมต่อดังกล่าวในการขนส่งสินค้าเข้าจีนได้
และภายในปี 2568 นิคมจะมีเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทั้งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง และรถไฟทางคู่ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ ช่วยเพิ่มความแน่นอน และลดเวลาการขนส่งได้ถึง 30% จากต้นทุนถูกกว่า 2 เท่า ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือกรุงเทพฯและท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมทางเรือแบบไร้รอยต่อและสมบูรณ์แบบด้วย
อีกทั้งเรายังมีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทาง R8 R9 R12 และ R3A มีศูนย์กระจายสินค้าทางราง และศูนย์ Logistics Park ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางบก และเชื่อมกับระบบขนส่งทางราง ณ สถานีรถไฟหนองตะไก้
บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร
ทั้งนี้ ภายในพื้นที่นิคมอุดร เรายังได้จัดพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้มีเขตปลอดอากร (customs free zone) ผู้ประกอบการสามารถทำพิธีการศุลกากรสำหรับนำของส่งออก ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีตามกฎหมายของศุลกากรอีกด้วย โดยจะทำให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าสามารถส่งสินค้าออกจากนิคมได้โดยตรง และไม่ต้องผ่านด่านศุลกากรอีก
อีกทั้งมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีมาตรฐาน ตามข้อบังคับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีสำนักงานบริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Services : OSS) โดยการให้บริการอนุมัติ อนุญาต ในการประกอบกิจการในจุดเดียว
โรดโชว์ดึงนักลงทุน
เราจะออกไปโรดโชว์เพื่อดึงนักลงทุน โดยร่วมคณะภาครัฐ ใช้รถไฟลาว-จีนเพื่อไปยังคุนหมิงถือว่าเป็นผู้ประกอบการไทยกลุ่มแรกที่ใช้การเดินทางรถไฟลาว-จีน ครั้งแรกปลายเดือนนี้
เป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้ เพื่อศึกษาและหาโอกาสในการสร้างจุดเชื่อมต่อในการขนส่งสินค้าของไทยไปยังตลาดจีน โดยอาศัยเส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้ และจากการเดินทางครั้งนี้ได้เห็นปัญหาและอุปสรรคในหลาย ๆ ด้าน ที่การขนส่งไม่ได้อำนวย
ปัญหาส่งสินค้า
โดยการขนส่งยังไม่สามารถส่งสินค้าออกไปจากต้นทางถึงปลายทางได้ในการเดินทางครั้งเดียว ยังต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้า จากรถไฟไปรถ จากรถขึ้นรถไฟ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ด้านเอกสาร การตรวจสินค้าก็ยังมีขั้นตอนเยอะ
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อดูจุดคุ้มทุนในระยะเวลาการขนส่ง หากปกติขนส่งสินค้าทางเรือใช้ระยะเวลา 10-15 วัน ขณะที่รถไฟใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ผู้ส่งออกอาจจะเลือกใช้รถไฟมากกว่าหากเทียบมูลค่าในการส่งออกสินค้า รถไฟก็ยังเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าอยู่
ปัจจุบันขั้นตอนการส่งออก กฎระเบียบเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางรถไฟลาว-จีน ยังไม่เป็นมาตรฐาน ทั้งราคาค่าระวาง ค่าบริการจัดเก็บ ค่ายกตู้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ส่งออก ทำให้ไม่จูงใจให้ผู้ส่งออกหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟแทนการขนทางถนนและทางเรือที่คุ้นเคยอยู่เดิม
ดังนั้นจำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันปรับปรุงให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ส่งออกหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาได้มากกว่าการขนทางถนนและทางเรือหลายเท่า
สินค้าที่มีโอกาสและจะสร้างมูลค่าในการส่งออกสินค้าไปจีน โดยใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป หมอนยางพารา ทุเรียน ตีนไก่ซึ่งพบว่าความต้องการบริโภคของคนจีนมีมากขึ้น สำหรับผักและผลไม้ อาจจะใช้การขนส่งทางรถไฟลาว-จีน ขั้นตอนตรวจสอบเรื่องโรคก็ยังติดปัญหา แต่หากสามารถนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะทำกำไรในการส่งออกได้เป็นอย่างดี
มองคู่แข่งเป็นคู่ค้าของเรา
แม้นิคมอุตสาหกรรมอุดรจะเริ่มก่อตั้ง และเป็นอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคอีสาน อนาคตหากจะมีนิคมเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน เราไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่จะมองเป็นคู่ค้า และอยากให้เราเป็นโครงการนำร่องที่ผ่านประสบการณ์ทั้งผิดและถูกมาแล้ว สามารถเป็นตัวอย่างที่จะลงทุน เราก็พร้อมจะจับมือเพื่อดึงการลงทุนจากนักลงทุนเข้ามาในนิคมอุตสาหกรรมของภาคอีสานต่อไป
15/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 15 มีนาคม 2566 )