info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.142.252.164

แห่ติดโซลาร์รูฟพุ่ง 3 เท่า หนีค่าไฟแพง-เซเว่นฯทยอยติด

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

อานิสงส์ค่าไฟแพง ดันธุรกิจโซลาร์รูฟโตพรวด 3 เท่า ยอดขอโซลาร์ประชาชน กกพ. 3 เดือนแรกปี’66 พุ่ง 1,000 ราย โตเกือบเท่าตลอดทั้งปี’65 “เซเว่นฯ” ชี้สาขาใหม่ต้องมีโซลาร์ ด้านสมาคมโซลาร์วอนรัฐต่ออายุโครงการโซลาร์ประชาชนที่กำลังจะหมดกลางปีนี้ไปอีก พร้อมเสนอลดหย่อนภาษี ส่งเสริมติดโซลาร์รูฟ แบงก์อัดแคมเปญสินเชื่อรับดีมานด์ลูกค้าพุ่ง

หลังจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ต่อเนื่องกันถึง 5 งวด โดยนับจากเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นในอัตรามากกว่า 4 บาท/หน่วย ประกอบกับอุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน จนทำให้ “บิลค่าไฟฟ้า” พุ่งสูงขึ้น บางบ้านต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น 100% ในขณะที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังพิจารณาที่จะปรับลดค่า Ft งวด 2 ของปี 2566 ที่จะเก็บอยู่ 98.27 สตางค์/หน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 4.77 บาท/หน่วยลงได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดภาระภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

7-11 ขอติดโซลาร์รูฟด้วย

ขณะที่ภาพรวมของค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนหลายธุรกิจได้ปรับตัวหันมาติดตั้ง “แผงโซลาร์” เพื่อลดต้นทุนภาระค่าไฟฟ้าลง โดย นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟส่งผลต่อธุรกิจ แต่ทางเซเว่นฯซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 14,000 สาขา ได้เตรียมแผนการรับมือมาระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วย ด้วยการลงทุนติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด และกำลังทยอยติดบนหลังคาร้าน 7-11 สาขาต่าง ๆ และหากเป็นร้านเซเว่นฯที่จะเปิดสาขาใหม่ จะมีการออกแบบสาขาใหม่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานด้วย

นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะ นายกสมาคมอุตสาหกรรมโซลาร์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) กล่าวถึงสถานการณ์การติดโซลาร์หลังคา (โซลาร์รูฟ) ในปีนี้ “เพิ่มขึ้นมาก” คาดว่าทั้งปี 2566 ตลาดโซลาร์รูฟท็อปจะโตขึ้น 2-3 เท่าจากปีก่อน จากในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ คนไม่นิยมติดโซลาร์เซลล์เพราะค่า Ft ติดลบ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูก ทำให้คืนทุนช้า ประกอบกับรัฐบาลปรับปรุงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จากช่วงแรก (ปี 2562-2564) เปิดรับซื้อไฟฟ้าคืนในราคาแค่ 1 บาทกว่าต่อหน่วย แต่ตอนนี้เปิดรับซื้อคืนถึง 2.20 บาท/หน่วย ระยะเวลา 10 ปี ทำให้มีผู้สนใจกันมากขึ้น

“โครงการโซลาร์ภาคประชาชนมุ่งสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อใช้ภายในบ้านก่อน เพราะค่าไฟฟ้าช่วงพีก ตอนกลางวันเฉลี่ยประมาณ 5.70 บาท/หน่วย รวมค่า Ft ประมาณ 1 บาท ก็คิดเป็น 6.70 บาท/หน่วย ดังนั้นหากติดเพื่อใช้เองจะช่วยประหยัดและคืนทุนเร็วประมาณ 4 ปี แต่หากบางคนอาจไม่ต้องการใช้ไฟฟ้าเองทั้งหมด และต้องการขายไฟคืนให้รัฐบาล จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนล่าช้าไป 3 เท่า หรือประมาณ 12 ปี ซึ่งเลยจากกำหนดของโครงการที่จะซื้อไฟคืนจากประชาชน จึงเกิดคำถามว่าแล้วอีก 2 ปีจะทำอย่างไร” นายภูวดลกล่าว

แม้ว่าตัวเลขการติดโซลาร์ประชาชนจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังน้อยประมาณไม่ถึง 20% ของโควตา กล่าวคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดรับโครงการโซลาร์ ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แห่งละ 5 เมกะวัตต์ (MW) แต่ปัจจุบันแต่ละการไฟฟ้ายังติดตั้งอยู่ประมาณแห่งละ 1 MW เท่านั้น เท่ากับยังเหลือโควตาอีกมาก แต่ทว่าโครงการนี้มีกำหนดจะเปิดรับประชาชนเข้าร่วมได้ถึงกลางปี 2566 ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลจะขยายโครงการโซลาร์ประชาชนต่อไปอีก แต่ต้องดูว่าการรับซื้อไฟฟ้าคืนจะให้ราคา 2.20 บาท/หน่วยเท่าเดิมหรือไม่

ทั้งนี้ การติดโซลาร์เซลล์มีการติดอย่างแพร่หลายมากขึ้นก็จริง แต่โดยหลักแล้วมีส่วนเกี่ยวกับ 2 ปัจจัย คือ 1) ช่วงแรกต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก กับ 2) ความเข้มของแสง เพราะบ้านในกรุงเทพฯจะมีเงาบดบังแสงอาทิตย์ เนื่องจากประเทศไทยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร อาทิตย์จะวนทางทิศใต้ ฉะนั้นบ้านที่มีหลังคาเอียงมาทางทิศใต้จะรับแสงได้ดีที่สุด ส่วนหลังคาที่เอียงไปทางทิศเหนือประสิทธิภาพในการรับแสงก็ลดลง หลังคาทางตะวันออกและตะวันตกก็จะได้รับแสงประมาณครึ่งวัน ส่งผลให้ระยะเวลาในการคุ้มทุนช้าลงไปจาก 4 ปี เป็น 5-6 ปี แต่หากเทียบกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์จะอยู่ที่ปะมาณ 25 ปี หักลบกันแล้วอย่างไรก็ยังคืนทุนอยู่ดี

ขอโซลาร์ดีมีคืนบ้าง

สำหรับการขยายโครงการโซลาร์ประชาชน ทางสมาคมอุตสาหกรรมโซลาร์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) เคยเสนอไปหลายครั้งว่า อยากให้โครงการนี้เหมือนกับโครงการ “ช็อปช่วยชาติ (ช้อปดีมีคืน)” กล่าวคือ รัฐบาลควรสนับสนุนประชาชนที่ติดโซลาร์รูฟเข้าร่วมโครงการสามารถนำไปใช้หักภาษีได้บ้าง เพราะถ้าเป็นบริษัทห้างร้านติดหรือนายทุนขนาดกลางติดก็จะสามารถนำไปใช้หักภาษีได้ หักค่าเสื่อมได้กี่ปี ๆ ก็ลดจากกำไรที่เขาต้องโดนภาษี ในขณะที่ภาคประชาชนหักอะไรไม่ได้เลย

“ผมว่าควรจะนำโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเข้าไปในโครงการช็อปช่วยชาติ เพื่อช่วยประชาชนหักภาษีได้บ้าง”

ส่วนผู้ประกอบการในธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาคมมีประมาณ 63 บริษัท จากเดิมที่เคยมีจำนวนสูงเป็น 100 บริษัทก็ปรับลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และเริ่มจะมาฟื้นตัวดีขึ้นในตอนนี้ โดยธุรกิจโซลาร์เซลล์และโซลาร์ฟาร์มมีแนวโน้มเติบโต อย่างโซลาร์รูฟท็อปปีนี้อาจจะขยาย 2-3 เท่า และยิ่งแนวโน้มธุรกิจติดตั้งโซลาร์ฟาร์มจะยิ่งเติบโตขึ้นอีก 10 เท่า จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานหมุนเวียน 5,000 MW (RE 5000) ที่เปิดรับไปก่อนหน้านี้ และยังมีเฟส 2 อีก 3,000 MW ที่กำลังจะเปิดรับในปีนี้ก็จะไปดันให้ธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้นในปีหน้า

“มูลค่าตลาดโซลาร์รูฟไม่ได้ใหญ่ ที่ใหญ่จะเป็นมูลค่าของตลาดโซลาร์ฟาร์ม จะเป็นบิ๊กลอต RE 5,000 MW ขณะที่โซลาร์ประชาชนรอบใหม่ 1 ปีและรอบที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ 1-2 ปี รวมแล้วยังได้แค่ 1 MW เอง เทียบกับโซลาร์ฟาร์มที่จะเกิดขึ้นใหม่หลายพันเมกะวัตต์ ดังนั้นขนาดตลาดมันจะต่างกันเป็น 1,000 เท่า สมาชิกสมาคมเราทำทั้งรูฟทั้งฟาร์ม ต่อไปตลาดโซลาร์ก็จะบูม ในเมืองไทยมีโรงงานผลิตแผงโซลาร์เอง แต่วัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตเซลล์ของไทยยังสู้จีนไม่ได้ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านไปเร็วมาก ทุก ๆ ปีลงทุนเครื่องจักรไปแล้ว 2-3 ปีจะมีการอัพเกรดเครื่องจักรใหม่ เช่น จากแผ่นผลิตได้ 100 วัตต์ ผ่านมา 2-3 ปีปัจจุบันผลิตได้ 500-600 วัตต์ เท่ากับต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรกันทุก 2 ปี ซึ่งจีนทำได้เพราะขายปริมาณมาก ทำให้แผงโซลาร์ของไทยตอนนี้ผลิตได้ 200-300 วัตต์ สู้ไม่ทัน” นายภูวดลกล่าว

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางภาคเอกชนพร้อมที่จะลงทุนติดตั้งโซลาร์ มีเทคโนโลยีพลังงานสะอาดพร้อม แต่กลับไปติดล็อกตรงที่หากติดแล้วผลิตไฟฟ้าเกินกว่า 1 MW ต้องไปขอใบอนุญาต รง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม “ผมจึงอยากให้ปลดล็อกเงื่อนไขนี้ เช่น โรงงานนี้ใช้ไฟฟ้าอยู่ 10 MW ตอนนี้ให้ผลิตพลังงานสะอาดหรือโซลาร์ไม่เกิน 1 MW ก็ทำไมไม่ให้เขาผลิต 10 MW เลย แต่ให้ใช้อยู่ในโรงงาน ห้ามเกิน ห้ามจำหน่ายก่อนเป็นเฟสแรก”

ยอดขอโซลาร์ภาคประชาชนพุ่ง

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีการยื่นขออนุญาต กกพ.เพื่อเข้าร่วม โครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.-21 มี.ค. 2566 มีจำนวนผู้ยื่นลงทะเบียน 1,020 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 5,492.38 กิโลวัตต์ (kW) ซึ่งในแง่จำนวนผู้ขออนุญาตถือว่า สูงเกือบเทียบเท่ากับปี 2565 ที่มีจำนวน 1,287 ราย กำลังการผลิตรวม 7,195.0 กิโลวัตต์ ซึ่งรวมกับในช่วงแรกของโครงการระหว่างปี 2562-2564 มีจำนวน 2,250 ราย มีกำลังการผลิต 12,335.2 กิโลวัตต์ ก็จะเท่ากับว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ยื่นขออนุญาตผลิตไฟฟ้าแล้ว 3,537 ราย และได้ลงทะเบียนใหม่ยังไม่เริ่มผลิตไฟฟ้าอีก 1,020 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 25,022.58 กิโลวัตต์ (ตามกราฟิก)

แห่ขอสินเชื่อติดโซลาร์เซลล์พุ่ง

นางชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์มีเพิ่มขึ้น โดยธนาคารมียอดปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ติดแผงโซลาร์รูฟทั้งสิ้น 35 หลัง วงเงินสินเชื่อรวม 264 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 7.5 ล้านบาทต่อราย ในส่วนของแคมเปญการตลาดปัจจุบัน ได้แก่ แคมเปญสินเชื่อบ้านสีเขียวที่ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์พันธมิตรชั้นนำ 15 บริษัท นำเสนอบ้านประหยัดพลังงานจำนวนมากกว่า 500 โครงการ มอบแคมเปญสินเชื่อบ้านสีเขียวสำหรับผู้ที่ต้องการสินเชื่อบ้านกสิกรไทย โดยจะได้รับวงเงินกู้สูงสุดถึง 110% ของราคาซื้อขาย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3.38% ฟรีค่าประเมินหลักประกัน รับเพิ่มส่วนลดสูงสุด 70,000 บาท สำหรับซื้อโซลาร์รูฟและสินค้าประหยัดพลังงานจากเอสซีจี

ขณะที่นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารเริ่มเห็นความต้องการสินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ แต่ยังไม่ได้สูงมากจนผิดปกติ แต่คาดว่าความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะทยอยเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าไฟที่แพงขึ้น ทำให้ลูกค้าสนใจติดตั้งมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับพื้นที่หลังคาที่ติดตั้ง เช่น หลังคาที่อยู่อาศัยจะเฉลี่ยขอวงเงินราว 300,000-400,000 บาท/ราย และกรณีโรงงานหรือโกดัง รวมถึงบนอาคารวงเงินเฉลี่ยหลักหลายล้านบาท

มีรายงานข่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้ามาว่า ได้แนะนำผลิตภัณฑ์สินเชื่อโซลาร์รูฟให้แก่ลูกค้าธนาคารและผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อปสำหรับผู้ประกอบธุรกิจนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเป้าหมายของสินเชื่อกลุ่ม Green Finance โดยในส่วนของแคมเปญจะเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีเวลาผ่อนชำระสูงถึง 6 ปี และให้วงเงินสูงสุดถึง 100% ของมูลค่าการลงทุนหรือสูงสุด 70 ล้านบาท ส่วนธนาคารยูโอบี นับจากเปิดตัวโครงการยู-โซลาร์ ในปี 2563 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อสีเขียวกว่า 3.12 พันล้านบาท ให้แก่บริษัทและที่อยู่อาศัยรวมกว่า 1,800 แห่ง เปลี่ยนมาติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยแคมเปญสนับสนุนเมื่อซื้ออุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์ผ่านบัตรเครดิตยูโอบี สามารถเลือกผ่อนชำระได้ ดอกเบี้ย 0% นาน 10 เดือน หรือผ่อนชำระผ่านบัตรกดเงินสด UOB Cash Plus ดอกเบี้ย 0% นาน 24 เดือน

กัลฟ์-SCG-ปตท.ลุยตลาดด้วย

ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจและเอกชนได้หันมาทำธุรกิจส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์กันมากขึ้น อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (MEA)จัดทำโครงการ KEN หรือ Key Energy Now by MEA ให้บริการวางแผน ออกแบบ ติดตั้ง และขออนุญาตขายไฟฟ้า ให้กับผู้ที่สนใจติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบครบวงจร ออกแพ็กเกจมาให้บริการ 4 ขนาด ดังนี้ ไซซ์ S สำหรับความต้องการใช้ไฟ 2-4 กิโลวัตต์ ลงทุน 105,000-176,000 บาท ประหยัดได้ 900-1,800 บาทต่อเดือน ไซซ์ M สำหรับความต้องการใช้ไฟไม่เกิน 4-5 กิโลวัตต์ ลงทุน 176,000-209,000 บาท ประหยัดได้ 1,800-2,200 บาทต่อเดือน ไซซ์ L สำหรับความต้องการใช้ไฟไม่เกิน 5-10 กิโลวัตต์ ลงทุน 209,000-409,000 บาท ประหยัดได้ 2,200-4,400 บาทต่อเดือน และไซซ์ XL สำหรับความต้องการใช้ไฟไม่เกิน 10-20 กิโลวัตต์ ลงทุน 409,000-760,000 บาท ประหยัดได้ 4,400-8,800 บาทต่อเดือน

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GULF ร่วมกับบริษัท เอสซีจี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งบริษัท เอสจี โซลาร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา นอกจากนี้ GULF ยังให้บริษัทในเครือ “กัลฟ์ รีนิวเอเบิล” ร่วมกับ GUNKUL ลงนามความร่วมมือในการจัดทำโครงการพลังงานหมุนเวียนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และยังได้ร่วมกับ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท กรีนเจ็น เอ็นเนอร์จี จำกัด ทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป

ขณะที่ บมจ.ปตท. ซึ่งมีบริษัท GPSC ก็ได้ดำเนินโครงการ The Solar Orchestra ร่วมกับ EXIM Bank และบริษัท นีโอ เอ็นเนอร์จี ให้บริการวางระบบโซลาร์ครบวงจร รวมไปถึงจัดการด้านสินเชื่อให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 100% EECi และ VISTECH ทำสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นแซนด์บอกซ์ มีเอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนต์ Peer to Peer เทรดดิ้ง พร้อมที่จะขยายออกไป ตามเป้าหมาย ปตท. NET ZERO Ambition เพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 10% ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 35% ในปี 2030

23/4/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 23 เมษายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS