เซเว่นอีเลฟเว่น ลุยไม่ยั้งเดินหน้าปูพรมสาขาเพิ่ม 700 แห่งต่อปีตามแผน ประกาศเตรียมปักหมุดสาขาแรกในลาว ตั้งเป้า 5 สาขาในปีแรก เจาะเมืองเศรษฐกิจหลัก พร้อมเปิดเพิ่มในกัมพูชา ชี้ปัจจัยบวกเศรษฐกิจฟื้นหลังโควิด-นักท่องเที่ยว-เลือกตั้ง 66 หนุนกำลังซื้อคึกคัก
เผย แจ็คสัน หวัง ช่วยดันยอดเมนูอาหารไทย มุ่งเสริมแกร่งบริการ ผนึกพันธมิตรลุยจุดชาร์จอีวี อำนวยความสะดวกผู้ใช้ เตรียมแผนติดโซลาร์เซลล์ รับมือค่าไฟพุ่ง
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มประมาณ 700 สาขาต่อปีเช่นเดิม ภายใต้งบประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท ทั้งการเปิดร้านใหม่ (3,800-4,000 ล้านบาท) การปรับปรุงร้านเดิม (2,900-3,500 ล้านบาท) รวมถึงโครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า (4,000-4,100 ล้านบาท) และระบบสารสนเทศ (1,300-1,400 ล้านบาท) จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่ประมาณ 14,000 สาขา
นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดสาขาแรกในประเทศลาว (บริษัท ซีพี ออลล์ ลาว จำกัด) โดยตั้งเป้าว่าในปีแรกนี้จะเปิด 4-5 สาขา ในเมืองหลัก เช่น เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจังหวัดใหญ่ ๆ ส่วนในกัมพูชาที่ดำเนินการโดย บริษัท ซีพี ออลล์ (กัมพูชา) จำกัด ก็มีแผนจะขยายสาขาเพิ่ม จากตอนนี้ที่มีอยู่มากกว่า 50 แห่ง
สำหรับการเปิดสาขาในลาว ที่ผ่านมามีการชะลอไว้ เนื่องจากลาวมีปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องเงินเฟ้อและเงินกีบที่อ่อนค่ามาก และจากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น เราจึงกลับมาเริ่มเดินหน้าในปีนี้ และคาดว่าจะเปิดสาขาแรกได้ภายในกลางปีนี้
นายก่อศักดิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีน ที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก บวกกับปัจจัยที่กำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศมีความคึกคัก ซึ่งตอนนี้บริษัทพบว่าที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์หญิงชาวจีน มารีวิวสินค้าหลาย ๆ อย่างในร้านเซเว่นฯ ซึ่งก็ช่วยทำให้สินค้าภายในร้านเป็นที่รู้จักในบรรดากลุ่มนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้จากการที่บริษัทมี แจ็คสัน หวัง นักร้องชื่อดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็ทำให้ยอดขายดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จัก และถูกจัดอันดับอยู่ในเมนูยอดนิยมระดับสากลมากขึ้น เช่น ต้มข่าไก่ เป็นต้น
นอกจากการขยายสาขาเพิ่มดังกล่าวแล้ว บริษัทยังมีแผนจะขยายธุรกิจไปสู่การติดตั้งสถานีชาร์จอีวีด้วย ธุรกิจนี้อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่เซเว่นฯถนัด แต่การที่บริษัททำเพราะพันธมิตรอื่นมาลงทุนให้ เป็นไปตามหลักการ ตัวเบาและอีกอย่าง บริษัทถือว่าอะไรที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ก็ทำ ตอนนี้คนขี่มอเตอร์ไซค์สามารถมาชาร์จหรือมาเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ หรือรถยนต์ไฟฟ้าก็มีจุดชาร์จที่เรียก ซูเปอร์ชาร์จ 360 ทำให้ใช้เวลาชาร์จเพียงแค่ 10 นาที อย่างล่าสุดที่สาขาแหลมบาลีฮาย พัทยา
สำหรับการเปิดจุดชาร์จอาจจะครบ 14,000 สาขา เฉพาะมอเตอร์ไซค์ครบ แต่รถยนต์คงไม่ได้ ซึ่งตอนนี้มีการลงทุนไปประมาณ 20 คัน เพราะมีเรื่องที่จอดรถ ซึ่งที่จอดรถ 40% แต่หากเต็มไปด้วยรถ 3-4 คัน ก็จะไม่สะดวกสำหรับคนที่มาซื้อของ 5 นาทีแล้วไป หากเป็นร้านที่ใหญ่ขึ้นมา มีที่จอดรถ 5-6 คัน ก็จะเปิดให้มีจุดชาร์จ
ส่วนผลหลังจากการติดจุดชาร์จแล้วจะทำให้มีคนมาซื้อของเพิ่มหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ และอาจจะทำให้มีที่จอดลดลงด้วย เพราะมีรถมาจอดแช่นาน แต่เรามองว่าการมีจุดชาร์จนี่คือความสะดวก
ผู้บริหารบริษัท ซีพี ออลล์ ระบุด้วยว่า ปัจจุบันสัดส่วนการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ร้านเซเว่นฯ มีถึง 60% และบริษัทไม่ต้องการเพิ่มสัดส่วนแฟรนไชส์ให้มากไปกว่านี้ เพราะในช่วงขาขึ้น ธุรกิจอาจจะไม่มีปัญหาอะไรก็จริง แต่พอธุรกิจขาลง เคยมีบทเรียนที่ญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ส่วนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ได้ดำเนินการ ถึงตอนนี้ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะยังมีเรื่องซอฟต์แวร์ที่ไม่สมบูรณ์ บางครั้งลูกค้ากดแล้วสินค้าไม่ไหลลงมา เสียบ่อย ต้องมีการปรับปรุงพอสมควร
ส่วนกรณีค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นยอมรับว่าจะส่งผลต่อธุรกิจ แต่เซเว่นฯได้เตรียมแผนการรับมือมาระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วย และลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาศูนย์กระจายสินค้า และร้าน และหากเป็นร้านเซเว่นฯที่เปิดสาขาใหม่จะมีการออกแบบสาขาใหม่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตาม การที่เซเว่นฯมีสาขาจำนวนมากขึ้น ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี และสามารถสร้างมาตรฐานราคาที่เป็นธรรมสมเหตุสมผลได้ แม้ว่าสาขาของเซเว่นฯจะขยายไปในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะ หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่ก็จะมีมาตรฐานด้านราคา
23/4/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 23 เมษายน 2566 )