สวนปทุมวนานุรักษ์ เตรียมเปิดไม่เป็นทางการ 20 พฤษภาคม 2566 เปิดให้บริการช่วงแรก 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น พร้อมเปิดรับฟังความเห็นประชาชน
วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กำหนดเปิดให้บริการ สวนปทุมวนานุรักษ์ เขตปทุมวัน อย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยช่วงแรกจะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.
สำหรับการเปิดให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ ขนาดประมาณ 27 ไร่ ประกอบด้วย สวนหย่อม สวนป่า บึงรับน้ำ และลานกิจกรรม ในเบื้องต้นได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทดลองใช้ในบริเวณพื้นที่สวนหย่อม (ส่วนที่ติดกับถนนราชดำริ) สำหรับเป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยว และออกกำลังกาย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์การสร้างสวนปทุมวนานุรักษ์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมประสานความร่วมมือกับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ รวมทั้งอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อยเหมาะสมกับการเปิดอย่างไม่เป็นทางการ
ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมทดลองใช้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ผ่านช่องทางของกรุงเทพมหานคร หรือส่งมายังอีเมล์ info.pathumwananurakpark@gmail.com
โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จากประชาชนผู้มาใช้บริการ จะนำไปปรับปรุงการให้บริการและพัฒนางานส่วนที่เหลือสำหรับการเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างเป็นทางการต่อไป
รู้จัก สวนปทุมวนานุรักษ์
สวนปทุมวนานุรักษ์ มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อต้นปี 2561 แต่เนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องที่อยู่อาศัยกับกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิม ก่อนข้อพิพาทดังกล่าวจะจบลงเมื่อต้นปี 2566
สวนดังกล่าวเป็นสวนแห่งแรกของประเทศไทยที่รวบรวมพันธุ์ไม้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงปลูก หรือทรงปลูกพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้ระดับสูง (Tall Plants) ให้ร่มเงาและมีระบบรากที่ไม่ชอนไชทำลายอาคาร
สวนปทุมวนานุรักษ์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 มีเนื้อที่ 7 ไร่ ดำเนินการปลูกต้นไม้ และปล่อยให้ต้นไม้โตตามธรรมชาติ ให้เป็นลักษณะสวนป่า
ส่วนที่ 2 มีเนื้อที่ 18 ไร่ จัดทำสวนตามแนวคิดของพ่อ แบ่งออกเป็นพื้นที่รับมอบคืนจาก CPAC มิถุนายน 2559 เนื้อที่ 6 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
พื้นที่บำบัดน้ำ ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่บำบัดน้ำทางธรรมชาติ
ลานอัฒจันทร์ เป็นพื้นที่สำหรับชมการแสดงริมน้ำ
ป่าของเมือง เป็นทางเดินสู่อาคารหลักแสดงเรื่องความสัมพันธ์ของต้นไม้และเมือง
พื้นที่พักผ่อน
ส่วนที่ 3 มีเนื้อที่ 12 ไร่ เป็นพื้นที่ชุมชน และอาคารแฟลต 3 หลัง
19/5/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 19 พฤษภาคม 2566 )