info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.32.73

“บิ๊กซี” กางแผนปี 66-67 ทุ่มงบฯ 1 หมื่นล้าน รีโนเวต-ขยายสาขา ทั้งไทย-เทศ

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

“บิ๊กซี” หวังเข้าตลาดหุ้นปลายปี 2566 พร้อมทุ่มงบลงทุนปีละ 10,000 ล้านบาท ในปี 2566-67 รองรับการขยายสาขาใหม่ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงสาขาเดิม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 7 มิถุนายน 2566 นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทยังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง และฟื้นขึ้นมาหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย โดยในปี’65 มีสัดส่วนรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 106,084 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ 89% ธุรกิจค้าส่ง 9% และธุรกิจอื่น ๆ 2%

ซึ่งล่าสุด BRC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ภายในปี’66

ครึ่งปีหลังเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีหลังของปี’66 ยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะกำลังซื้อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยหนุน หลังจากการเปิดประเทศของไทยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น และไทยถือเป็นประเทศ Top of mind ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศก็กลับมาคึกคักมากขึ้น ซึ่งเห็นจากยอดขายสาขาเดิมของบิ๊กซีที่กลับมาเติบโตขึ้นในไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง

โดยกลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นไปที่การปรับปรุงพัฒนาสาขาเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น และเข้าถึงคนในยุคใหม่ มีพื้นที่ในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ พื้นที่สำหรับการใช้ชีวิต รวมถึงพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบิ๊กซี เช่น การรีโนเวตใหญ่ของสาขาบิ๊กซี รัชดาฯ และบิ๊กซี ลำลูกกา เป็นบิ๊กซี เพลส ที่จะมีพื้นที่เช่าและพื้นที่ทำกิจกรรมที่สามารถใช้เวลาในห้างเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนในการพัฒนาปรับปรุงสาขาในจุดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้า เช่น การรีโนเวต บิ๊กซี ราชดำริ ซึ่งเป็นสาขาสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

มุ่งขยายตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้ามุ่งการขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริษัทได้เข้าไปขยายธุรกิจแล้วทั้ง 3 ประเทศ

“ถือได้ว่า BRC เป็นเบอร์ 1 แล้วในประเทศลาว และกำลังจะเริ่มเปิดบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาแรกในลาว พร้อมมองโอกาสของประเทศลาว คาดว่าจะรองรับไฮเปอร์มาร์เก็ตของบิ๊กซีได้ 10 สาขาเป็นอย่างน้อย”

ในส่วนตลาดกัมพูชาและเวียดนามก็กำลังเดินหน้าขยายตัว โดยแย้มว่าห้างค้าปลีกค้าส่งในเวียดนาม “MM Mega Market” ซึ่งอยู่ในเครือ BJC เช่นกัน จะถูกโอนย้ายมาอยู่ในพอร์ตของ BRC ด้วย และจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Big C Mega Market” ในอนาคต

ปี 2566-67 ทุ่มงบลงทุนปีละ 1 หมื่นล้าน

ด้านนางดุษณี เมอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน BRC เปิดแผนลงทุนปี 2566-67 ของบริษัทวางแผนลงทุนเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการลงทุนโดยคร่าว ๆ จะเป็นการรีโนเวตสาขาเดิม 23% ลงทุนในประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ (ไฮเปอร์มาร์เก็ต) 20% ลงทุนในร้านค้าขนาดเล็ก (บิ๊กซี มินิ) 17% ลงทุนในบิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส 11% และลงทุนในตลาดต่างประเทศอีก 8-10%

พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเพิ่มเป็น 20-40% ของยอดขายรวมภายใน 5-7 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 10% ของยอดขายรวม

ทั้งนี้ บริษัทมีสาขาในปัจจุบันรวมกว่า 1,741 สาขา ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ 200 สาขา, ประเภทร้านค้าขนาดเล็ก 1,518 สาขา และประเภทอื่น ๆ เช่น ตลาดนัด, บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส, บิ๊กซี ดีโป้ รวม 23 สาขา รวมถึงมีธุรกิจประเภทค้าส่ง และธุรกิจอื่น เช่น ร้านขายยาเพรียว, ร้านกาแฟวาวี, ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส

7/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 มิถุนายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS