เป็นที่แน่นอนแล้วว่าโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โรงแรมหรูจำนวน 250 ห้อง 1 ใน 4 บิ๊กโปรเจ็กต์ของโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค บริเวณมุมถนนสีลม-พระราม 4 จะกลับมาและพร้อมเปิดให้บริการโฉมใหม่อีกครั้งในช่วงกลางปี 2567 นี้ หลังจากปิดทุบเพื่อสร้างใหม่ไปเมื่อปี 2562
ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่กลุ่ม ดุสิตธานี อยู่ในช่วงของการปรับตัวรอบทิศ ทั้งขยายธุรกิจการศึกษา อาหาร และอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมมากว่า 6-7 ทศวรรษ
ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซีอีโอหญิงแกร่งที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มดุสิตธานี ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยน หรือ transformation journey ของเครือดุสิตฯ ตั้งแต่เข้ามาบริหารเมื่อปี 2559 กระทั่งปัจจุบัน และแผนการบริหารในอนาคต ไว้ดังนี้
เดินตามแผน 9 ปี
ศุภจี ย้อนความว่า ตั้งแต่เข้ามาในปี 2016 หรือปี 2559 ได้วางแผนเอาไว้ 9 ปี (2559-2568) แบ่งเป็นระยะ 3 ปีแรกคือ ช่วงการปรับฐานในเรื่องของคน กระบวนการการทำงาน และเทคโนโลยี เรื่องของตัว property เรื่องของโรงแรมที่มีอายุซึ่งต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และการจัดการด้านการเงิน ว่าเราจะเติบโตต่อเนื่องได้อย่างไร
3 ปีที่สอง เป็นช่วงที่เริ่มเห็นผลของการเจริญเติบโต และ 3 ปีสุดท้าย คือช่วงนี้ เป็นช่วงที่จะเริ่มเห็นศักยภาพทั้งหมด เห็นการปลดล็อกมูลค่า (value) ของกลุ่มดุสิตธานี
การเดินทางของเรา 9 ปี เราเจอโควิด-19 ในช่วงกลางของแผนพอดี ถามว่ามีผลกระทบไหม ก็มีผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้เป้าเราพลาดไปมากนัก และได้มีการเติมเรื่องอื่น ๆ เข้ามา เช่น เรื่องการลงทุน การเติบโตในธุรกิจอื่น ๆ เพื่อจะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายใน 9 ปี
โดยในการเดินทางนี้ได้ตั้งเป้าเอาไว้ 3 แกน ประกอบด้วย 1.ทำอย่างไรให้การทำงานของเรา รายได้ของเรา มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น 2.ทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะขยายตัวให้ครอบคลุมของทุกเซ็กเมนต์ และขยายตัวไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น และ 3.ทำอย่างไรให้สามารถกระจายธุรกิจออกไป ในธุรกิจข้างเคียง (diversify)
3 เป้าที่ว่า คือ balance expand และ diversify ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำได้เป็นที่พอใจ ทำได้ในระดับที่ทำให้เราไปต่อได้อย่างมั่นคง
เดิมเราเคยมีธุรกิจ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ธุรกิจโรงแรม 2.ธุรกิจสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับโรงแรม ปัจจุบันนี้เราขยายไปอีก 2 สายธุรกิจ คือ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ศุภจี บอกว่า ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตัวใหญ่ คือ โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) ซึ่งเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารที่เติบโต โดยบริษัทยังคงเป้าการ IPO ธุรกิจอาหารของ ดุสิต ฟู้ด ภายในปี 2568 หรือนับจากนี้อีก 2 ปี และคิดว่าจะทำได้ตามเป้านี้
และจำนวนของ property ที่ดูแลจากเดิมที่มีอยู่ 27 แห่งใน 8 ประเทศ ปัจจุบันมีมากกว่า 300 แห่ง อยู่ใน 17 ประเทศ และมีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย และจับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น มีโรงแรมที่เป็นไลฟ์สไตล์คือ แบรนด์ ASAI (อาศัย) และมีวิลล่าคือ อีลิธ เฮเวนส์ (Elite Havens) ทำให้ดุสิตธานีนับเป็นกลุ่มบริษัทผู้จัดการวิลล่าที่คาดว่าใหญ่ที่สุดในเอเชีย
บรรลุเป้าหมายแล้ว 70-80%
ถามว่าถึงวันนี้มองว่าแผนงานต่าง ๆ ที่วางเป้าบรรลุเป้าหมายไปแค่ไหนแล้ว ศุภจี บอกว่า ส่วนตัวประเมินว่าถึงตอนนี้ (7 ปี) น่าจะได้ 70-80% ของเป้าหมายแผน 9 ปี (ถึงปี 2568) สายธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ขยายการเติบโตได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันหลักใหญ่ที่ยังรออยู่ แต่ก็ดำเนินไปได้มาก ๆ ทีเดียวคือ โครงการ Dusit Central Park ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.ธุรกิจโรงแรม ดุสิตธานี กรุงเทพ ตอนนี้ก่อสร้างได้กว่า 20 ชั้นแล้ว จากทั้งหมด 39 ชั้น คาดว่าโครงสร้างภายนอกจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปลายปี 2566 นี้ และเริ่มการตกแต่งภายในควบคู่กันไป เพื่อให้พร้อมเปิดบริการในกลางปี 2567
2.ธุรกิจที่พักอาศัย หรือ Dusit Residences การขายก็คืบหน้าเป็นอย่างดี ปัจจุบันขายไปได้ประมาณ 60% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าทำได้ดี เพราะยังไม่ได้เปิดประเทศ ยังไม่ได้ไปทำตลาดต่างประเทศ แต่ก็สามารถขายได้ 3.ส่วนอาคารสำนักงาน และ 4.พื้นที่ retail หรือห้างสรรพสินค้า
ในส่วนโรงแรมจะแล้วเสร็จในปี 2567 และเป็นส่วนที่เปิดให้บริการก่อนส่วนอื่น ๆ หรือในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จากนั้นส่วนอื่น ๆ ก็ทยอยตามมา โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี 2568
สร้างความแข็งแกร่ง 4 ขาธุรกิจ
ศุภจี บอกด้วยว่า ดัชนีที่ชี้วัดว่าเราตอบโจทย์แผน 9 ปีของเราก็คือ บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง มีกำไร ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันนี้ธุรกิจกำลังทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด ในปี 2568 เมื่อเราสามารถส่งมอบธุรกิจที่พักอาศัยโครงการ Dusit Central Park ได้สำเร็จจะตอบโจทย์ในเรื่องของผลประกอบการที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น
และในปีเดียวกัน ธุรกิจอาหารในส่วนของ ดุสิต ฟู้ด ก็น่าจะเข้า IPO ได้สำเร็จ ก็จะทำให้สายธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีมีความแข็งแรง เหมือนเก้าอี้ที่มี 4 ขา เติมให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
เราอยากให้ดุสิตธานีมีความแข็งแรงทั้ง 4 ขา ทั้งธุรกิจโรงแรม ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบจากโควิด ธุรกิจอาหาร เราจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้สำเร็จในปี 2568 และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะส่งมอบได้ในปีเดียวกัน ส่วนธุรกิจการศึกษาก็ได้มีการเติมการศึกษาในรูปแบบใหม่ คือ The Food School Bangkok ซึ่งเปิดไปเป็นทางการเมื่อ 1 พฤษภาคม 2566 เราจึงเชื่อว่าน่าจะมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นในทุกสายธุรกิจค่ะ
และบอกด้วยว่า ปัจจุบันรายได้ของกลุ่มดุสิตธานีฟื้นกลับมาได้ 60% แล้ว และในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าการฟื้นตัวไว้ประมาณ 70-75% และกลับมา 100% ได้ในปี 2568
เดินหน้า ต่อยอด-เพิ่ม Value
ต่อคำถามอีกว่า บริบทของกลุ่มดุสิตธานีหลังแผน 9 ปีจบ หรือหลังจากปี 2568 จะเป็นอย่างไร ศุภจี บอกว่า ในมุมการเดินทางของดุสิตธานี หลังปี 2568 หลังจากแผน 9 ปีสำเร็จไปแล้วก็ยังจะต้องเป็นตัวแทนของแบรนด์คนไทย ที่นำการให้บริการที่ประทับใจไปให้คนทั่วโลกได้รู้จักเหมือนเดิม จากรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
และธุรกิจในแต่ละสายจะมีการขยายตัวเพิ่มเติมต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการวางแผนเพิ่มเพื่อรองรับจากแผน 9 ปีแล้วด้วยเช่นกัน โดยมีการคิดถึงธุรกิจใหม่ที่จะมาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันที่กำลังตั้งไข่อยู่คือ Dusit Hospitality Service ซึ่งปัจจุบันให้บริการอยู่ในขอบเขตที่นอกเหนือโรงแรมเราเองด้วย
โดยเอาคนส่วนกลาง (pool) เช่น คนทำความสะอาด แม่บ้าน ช่าง property management มาอยู่ส่วนกลาง และตอนนี้เริ่มกระจายตัวให้บริการนอกเหนือจากโรงแรม ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสในการเติบโตเป็นอีกสายธุรกิจที่แข็งแรงได้ เพราะช่วงนี้ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจโรงแรมขาดคน
อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเติมในเรื่องการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการเติมตัวธุรกิจให้มีความหลากหลาย ยกตัวอย่างในกลุ่มของ property development ปัจจุบันเรามี 2 โครงการ คือ Dusit Central Park ซึ่งเราลงทุนเองด้วย และ Hampton Sriracha ซึ่งลงทุนร่วมกับทาง Origin ซึ่งทำได้ดี ซึ่งปัจจุบันเสร็จแล้ว แล้วทยอยโอนได้ 50%
นอกจากนี้ ยังมีแผนเติมโครงการ senior living การดูแลผู้สูงวัย เป็นผู้สูงวัยในรูปแบบที่ยังมีความสามารถในการเคลื่อนไหว ไม่ได้ติดเตียง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติม หรือบางโรงแรมของเราที่มีพื้นที่มาก และยังสามารถที่จะเพิ่มเติมของส่วนอื่น ๆ ได้ เช่น ที่ภูเก็ต หัวหิน หรือที่พัทยา ซึ่งมีพื้นที่มาก เราอาจจะเติมพวกวิลล่า หรือ senior living เข้าไป เสริมกับตัวโรงแรมที่อยู่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของที่ดินนั้น รวมถึงเป็นตัวเติมที่จะทำให้ธุรกิจในสายอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตต่อเนื่องหลังจากปี 2568 อีกด้วย
12/6/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 12 มิถุนายน 2566 )