DITTO ผนึก TEAMG GROUP เดินหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อแผ่นดิน หลังชนะประมูลโครงการก่อสร้างระยะที่ 2 พร้อมเข้าบริหารจัดการสต๊อกไม้มีค่ามูลค่า 4,000 ล้านบาท มาแกะเป็นชิ้นงาน รอการติดตั้งในปีที่ 2 หลังสัญญาก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ระยะที่ 1 คืบหน้า เผยชนะประมูลโครงการจากนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการไม้ด้วยการติด แท็ก ไม้ทุกชิ้นผ่านระบบ QR Code เหตุเป็นไม้ของกลางมีค่าสูง ทั้งไม้พะยูง ไม้สัก ไม้มะค่า สูญหายไม่ได้ ต้องบอกที่มาที่ไปได้ทุกแผ่น
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO กล่าวถึงความคืบหน้าใน โครงการจัดการสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ระยะที่ 2 กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่า 2,044 ล้านบาท
โดยสัญญาจ้างระยะที่ 2 จะมีบริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ศิวกรการช่าง, บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย), บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด หรือ STC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DITTO และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG Group
สัญญาก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าที่เราเซ็นกับกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นสัญญาระยะที่ 2 จากทั้งหมด 4 ระยะ หรือ 4 เฟส เฟสแรกจะเป็นสัญญาก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ากำลังอยู่ในกระบวนการจัดหาผู้ก่อสร้างอาคารอยู่ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ย้ายสถานที่ก่อสร้างจากที่เดิมมาเป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย จำนวน 79 ไร่ 2 งาน 60.9 ตารางวา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าประมาณ 37 ไร่ ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2571 นายฐกรกล่าว
ทั้งนี้ อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าจะมีทั้งหมด 5 ชั้น โดย 2 ชั้นอยู่ใต้ดิน ชั้นที่ 3 จะเสมอผิวดิน พื้นที่ 25,050 ตารางเมตร และทุกชั้นจะเป็นพรีเมี่ยมหมด ภายในโครงการมีการออกแบบอาคารโดยเน้นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ ตัวอาคารเป็นตึก 4 ชั้น พื้นที่ 25,050 ตารางเมตร ประกอบด้วย 8 โซน ห้องโถง ห้องจัดแสดง ห้องต้อนรับ ร้านค้าขายของที่ระลึก ห้องบรรยายประวัติศาสตร์ประเทศไทย ห้องรับรอง ห้องประชุม เป็นต้น
ในระหว่างทางเดินโดยรอบจะเขียนภาพประวัติความเป็นมาประเทศไทย และมีงานประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังมาประดับประกอบ ที่พิเศษก็คือ ห้องแสดงพระราชกรณียกิจ เป็นห้องสำหรับจัดแสดงไม้พะยูงโดยเฉพาะ ภายในห้องนั้นจะตกแต่งด้วยไม้พะยูงทั้งหมด นอกจากนี้จะมีอาคารพิพิธภัณฑ์ศาลาไทย ภายนอกอาคารจะมีภูมิทัศน์เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ไว้เพื่อการเรียนรู้
มีรายงานข่าวเข้ามาว่า สัญญาระยะที่ 2 ที่ได้ผู้ชนะเป็นกลุ่มศิวกรการช่าง และอีก 3 บริษัทที่เข้าร่วมมาจากเรื่องของการบริหารจัดการสต๊อกไม้มีค่า เนื่องจากไม้ที่ใช้จัดแสดงและประดับอาคารทั้งหมดเป็น ไม้ของกลาง คดีลักลอบ เมื่อสิ้นสุดคดีจึงตกเป็นของแผ่นดิน โดยจะเป็นไม้มีค่า 6 ชนิด ได้แก่ ไม้สัก, ไม้พะยูง, ไม้ชิงชัน, ไม้มะค่า, ไม้แดง และไม้ประดู่ ในทางปฏิบัติงานแกะสลักชิ้นงานไม้ต่าง ๆ จะรับไม้ของกลางมาจาก กรมป่าไม้ ส่งมาให้กับ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นผู้แปรรูปจากไม้ท่อนมาเป็นแผ่น แล้วจึงส่งไม้ของกลางเหล่านั้นมาให้กับผู้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ระยะที่ 2
ความยากอยู่ตรงที่การบริหารจัดการสต๊อกไม้ของกลาง เพราะเป็นไม้มีค่า เราจึงนำระบบ QR Code ซึ่ง DITTO มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยด้วยการแท็กไม้ทุกชิ้นทุกแผ่นที่จะนำมาประกอบเป็นชิ้นงานและติดตั้ง เพื่อให้รู้ว่าไม้ในชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักหรือลงรักปิดทองนั้น มาจากไหน เป็นไม้อะไร สามารถย้อนกลับไปดูที่มาได้หมด
ประกอบกับการก่อสร้างในสัญญาที่ 2 จะต้องรอสัญญาที่ 1 ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ให้เสร็จก่อน เราจึงจะเข้าไปติดตั้งชิ้นงาน-วางระบบการจัดแสดงภายใน และระบบรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันอัคคีเพลิงได้ นั้นหมายถึง ในระหว่างที่รอการก่อสร้างตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ เราจะต้องนำไม้ที่รับมอบจาก อ.อ.ป. มาจัดทำชิ้นงานตามแบบที่ กรมศิลปากร ออกแบบไว้ เพื่อรอการติดตั้งหลังอาคารสร้างเสร็จ ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันกับสัญญาก่อสร้างระยะที่ 2 ที่กำหนดไว้ 5 ปี โดยคาดว่าจะเข้าไปดำเนินการติดตั้งชิ้นงานไม้ในโซนต่าง ๆ ได้ในปีที่ 2 ของสัญญา
โดยไม้ที่จะนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า มีการประมาณการมูลค่าไว้ถึง 4,000 ล้านบาท
6/7/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 กรกฎาคม 2566 )