SVOLT ประกาศเดินหน้าขึ้นโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถ EV ในไทย ลั่นพร้อมเดินเครื่องผลิต ต้นปี 2567 ให้กับรถจีน-ญึ่ปุ่น พร้อมเล็งไทยไทยเป็นฐานผลิตเพื่อความต้องการของภูมิภาคด้วยกำลังผลิต 118,000 ชุด
วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายหยาง หงซิน ประธานและซีอีโอ บริษัท สโฟวล์ท เอเนอจี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือเกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทุนมูลค่า 250 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,250 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบการจัดเก็บพลังงาน (Module PACK Factory) แห่งแรกในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าว่าจะเริ่มประกอบแบตเตอรี่เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าให้ได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567
และโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตระยะแรก 60,000 ชุดต่อปี และสามารถขยายสูงสุดถึง 118,000 ชุด ในอนาคต
สำหรับการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานแห่งนี้จะเป็นการรองรับทั้งลูกค้าในท้องถิ่น เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ และลูกค้าอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทั้งค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน และค่ายรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย
แบตเตอรี่อีวีส่วนอนาคตบริษัทจะร่วมมือกับบริษัทในไทยเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจด้านการจัดเก็บพลังงานและรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยจะเป็นการทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะได้ข้อสรุปแผนลงทุนไตรมาส 3 และจะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอต่อไป
สำหรับโรงงานของ สโฟวล์ท ประเทศไทย ได้วางแผนแบ่งสายการผลิตไว้ 2 ไลน์ผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ แบ่งเป็นการผลิตโมดูลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และการผลิตโมดูลและชุดอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)
โดยทั้ง 2 ไลน์การผลิตประกอบด้วยเซลล์แบตเตอรี่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะทั้งเซลล์แบบ Soft Pouch และเซลล์แบบ Prismatic โดยใช้กระบวนการเชื่อมอัตโนมัติและเครื่องมือตรวจสอบขั้นสูง เพื่อการันตีประสิทธิภาพและมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย อีกทั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยการเตรียมจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยมีแผนจัดเงินลงทุนตั้งไว้ 2 แบบได้แก่
การนำแบตเตอรี่มาทำลายเป็นผง แยกทองแดงกับโซเดียมมาใช้ ตัวนี้ต้นทุนจะต่ำหรือใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยราว 100 ล้านบาท
การนำแบตเตอรี่มาแยกด้วยสารเคมี กลับมาเป็นวัสดุตั้งต้น ตัวนี้ต้นทุนสูงหรือใช้เงินลงทุนประมาณ 600-700 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยราว 3,000-3,500 ล้านบาท
สำหรับการเข้ามาลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการลงทุนเองทั้งหมด 100% แต่ในอนาคตถ้าสามารถเจอพาร์ตเนอร์ก็ลงทุนร่วมกันได้ ตอนนี้ที่คุย BOI เราคุยทีละอัน ที่สร้างโรงงาน 250 ล้าน อันนี้บีโอไออนุมัติแล้ว แต่อนาคตจะมีอะไรไหมก็ว่ากันอีกที ทั้งนี้ เราจะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการต่อยอดและขยายการร่วมลงทุนในธุรกิจการจัดเก็บพลังงานและการรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดย สโฟวล์ท มุ่งมั่นจัดส่งแบตเตอรี่เซลล์อย่างเป็นระบบและตอบโจทย์ความต้องการภายในประเทศ
6/7/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 กรกฎาคม 2566 )