ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หวังโครงการก่อสร้างภาครัฐไม่สะดุด และการก่อสร้างโรงแรมของเอกชนฟื้นตัวรับนักท่องเที่ยว หลังตั้งรัฐบาลช้าทำการเบิกจ่ายงบประมาณช้าตาม ลุ้นยอดใช้เหล็กกลับคืนมาครึ่งปีหลัง ยังคงเป้ายอดขาย 1.21 ล้านตัน หลังไตรมาส 1/66 ยอดขายทรุดถึง 14%
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายตารุน คูมาร์ ดากา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่ยืดเยื้อ และเร่งการใช้งบประมาณใหม่ในเดือน ต.ค.ปีนี้
เพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้เหล็กภายในประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวทำให้มีการก่อสร้างที่พัก และโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหนุนความต้องการใช้เหล็ก
ดังนั้น บริษัทยังคงเป้าหมายปริมาณการขายสินค้าเหล็กในปีการเงิน 2567 (เม.ย. 2566-มี.ค. 2567) อยู่ที่ 1.21 ล้านตัน แม้ว่างวดไตรมาส 1 (เมษายน-มิถุนายน 2566) บริษัทมีปริมาณการขายสินค้าเหล็กจะอยู่ที่ 266,000 ตัน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 14% ก็ตาม โดยคาดหวังว่ายอดขายจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ การบริโภคของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการชะลอการใช้งบประมาณในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การนำเข้าเหล็กลวดราคาต่ำ การส่งออกลดลง จึงส่งผลกระทบต่อการผลิตและจำหน่ายเหล็กในประเทศ
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เพิ่มเป้าการส่งออกเป็น 10% แม้ว่าจะส่งออกจะลดลงอย่างมาก แต่ยังจำเป็นที่ต้องมองหาโอกาสในการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดเป้าหมายอย่างออสเตรเลีย พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าเฉพาะให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้บริษัทยังบริหารจัดการ การส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ในเวลาที่สั้น สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดสินค้าคงคลังและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้
สิ่งสำคัญในช่วงที่ตลาดเหล็กชะลอตัว เราจะเน้นการบริหารควบคุมเงินทุนหมุนเวียน และอายุของสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ คือช่วงเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณ สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและภาคเอกชนกลับคืนมา โดยยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ของปีการเงิน 2567 (เม.ย.-มิ.ย. 2566) มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 6,202 ล้านบาท ลดลง 28.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ มีกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 48 ล้านบาท ลดลง 91.78% และมีกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 584 ล้านบาท เกิดจากผลต่างของราคาขายสินค้าและราคาวัตถุดิบที่ลดลง จากราคาขายสินค้าที่ลดลง พร้อมกับปริมาณการขายสินค้าที่ลดลงด้วยเช่นกัน
26/7/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 26 กรกฎาคม 2566 )