การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2050 เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายประเทศไทยที่กำหนดแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
เดินหน้ากลยุทธ์ Triple S
กฟผ.ได้วางกลยุทธ์ Triple S เพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน ให้บรรลุตามหลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
S-Sources Transformation เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด โดยกำหนดสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยโครงการหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี 2036
และยังได้ลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี 2044 โดยตั้งเป้า ที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี 2050
S-Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ทั้งยังวางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี 2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5-7 ล้านตัน
และสุดท้าย S-Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1994 อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศเป็นต้น
วาง 3 มาตรการ
สำหรับมาตรการหลักในด้านแหล่งทรัพยากร (sources) คือ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะ Hydro-Floating Solar Hybrid จะบรรลุเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ ในปี 2037 และเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่จะเข้ามาในช่วงปลายแผน
ส่วนมาตรการ sink คือ การปลูกป่าล้านไร่ ภายในปี 2031 ร่วมด้วยเทคโนโลยี CCUS ตั้งแต่ปี 2045 และมาตรการสนับสนุน support จากโครงการด้าน Energy Efficiency และ BCG Economy ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 8 ล้านตัน ในปี 2050
ศึกษาโมเดลออสเตรเลีย
ล่าสุด นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะเยี่ยมชมเทคโนโลยีด้านไฮโดรเจนที่ประเทศออสเตรเลีย ที่แหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility โครงการระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ Victorian Big Battery และนวัตกรรมพลังงานจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ออสเตรเลีย ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงานที่ใหญ่สุดในออสเตรเลีย เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง จึงมีการผลิตไฟฟ้าจากลม ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน โซลาร์ และโดยเฉพาะจากไฮโดรเจน
ขณะที่ประเทศไทยมีการใช้ไฮโดรเจนในอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก แอมโมเนีย แต่ยังไม่มีการใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากราคาสูงและยาก แต่เป้าหมายของไทยในการลดการปล่อยก๊าซ จึงเป็นสิ่งที่ กฟผ.ศึกษาและหาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งเราทำความเข้าใจและเรียนรู้มาเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยศึกษาจากประเทศออสเตรเลียซึ่งมีศักยภาพ มีพื้นที่ ลม เยอะในการผลิตไฟฟ้า และยังมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นด้วย
หากไม่มีเป้าหมายในการลดคาร์บอน ไทยยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ถ่านหิน ซึ่งดำเนินมากว่า 30-40 ปี และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปกติ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นจะต้องยกระดับเพื่อสนับสนุนและให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
นำร่องไฮโดรเจนจากถ่านหิน
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า Latrobe Valley Hydrogen Facility เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่นำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวล ด้วยกระบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (gasification) และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (refining) พร้อมกับขนส่งทางเรือไปยังประเทศญี่ปุ่น
โดยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับกระบวนการดักจับคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) สอดคล้องกับ กฟผ.
โครงการ กฟผ. ลำตะคอง สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี 2559 โดยได้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (wind hydrogen fybrid system) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง
ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก คาดนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574-2583 และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจน (brown hydrogen)
พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ. ลำปาง
วางแผนใช้แบบขั้นบันได
นายนรินทร์ เผ่าวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวถึงการประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในภารกิจผลิตไฟฟ้าว่า กฟผ. นอกจากที่ กฟผ.ลำตะคองแล้ว ยังมีแผนต่อยอดพัฒนาไปยังพื้นที่โครงการพลังงานทดแทนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์แห่งอื่น ๆ ของ กฟผ. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศอีกยังได้แสวงหาความร่วมมือในการศึกษา พัฒนาและลงทุนเทคโนโลยีผลิตไฮโดรเจน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่
โดยจะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในปัจจุบัน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574-2583 ในสัดส่วน 5%
และจะเพิ่มขึ้นตามขั้นบันไดเป็น 10% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2584-2593 รวมทั้ง 15% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2594-2603 และสูงสุด 20% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2604-2613
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการใช้งานไฮโดรเจนในภาคพลังงานไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะความชัดเจนของกรอบนโยบายส่งเสริมไฮโดรเจนที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฮโดรเจนให้มีราคาเข้าถึงได้ ตลอดจนการวางมาตรฐานควบคุมการใช้งาน ไปจนถึงการขนส่งและการกักเก็บเชื้อเพลิง ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ
6/8/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 สิงหาคม 2566 )