info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.12.34

“สะดวกซื้อ” เนื้อหอม สมรภูมิเดือดยักษ์ธุรกิจ

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

การเฟื่องฟูของธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ของกลุ่มซีพีที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 1.4 หมื่นสาขา และจะขยายต่อเนื่องอีกปีละ 700 สาขา เป็นตัวสะท้อนศักยภาพของร้านสะดวกซื้อ และเป็นหนึ่งในโมเดลที่หลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นทีดี ตะวันแดง, บีเจซี, ไทยเบฟและอื่น ๆ พยายามปั้นธุรกิจค้าปลีกไซซ์เล็กของตนเองเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

หนึ่งในยุทธศาสตร์ยอดฮิต คือ การพลิกฟื้นธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม “โชห่วย” ให้เป็น “ร้านโชห่วยสมัยใหม่” ด้วยการเสริมเทคโนโลยีและบริหารจัดการให้ทันสมัย เป็นระบบ เช่น บริหารร้านค้า (POS) ที่รองรับการออกบิล บริหารสต๊อก อีเพย์เมนต์ ฯลฯ ทำโปรโมชั่นรายสัปดาห์รายเดือน ตกแต่งร้านเป็นระเบียบ เลือกสินค้าได้ง่ายคล้ายกับร้านสะดวกซื้อ

พร้อมพากันเดินสายเชิญชวนผู้ประกอบการโชห่วยรายเดิมกว่า 4 แสนรายทั่วประเทศ รวมถึงผู้สนใจลงทุนทำธุรกิจเข้ามาเป็นเครือข่ายอย่างคึกคักตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นศึกชิงร้านโชห่วย

บีเจซีหนุนสินค้า-เงินทุน

บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี ธุรกิจในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรเบียร์ช้าง เป็นหนึ่งในบริษัทที่รุกเข้าสู่วงการค้าปลีกไซซ์เล็กด้วยการเปิดตัว “ร้านโดนใจ” เมื่อปลายปี 2565 พร้อมเป้าหมาย 8,000 สาขาในปี 2566 ก่อนจะเพิ่มเป็น 30,000 สาขาในปี 2570 หรือ 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มกิจการ

ปี 2566 บีเจซีโหมโปรโมตและสนับสนุนร้านโดนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจัดไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก facebook.com/Donjaith แบบรายสัปดาห์เพื่ออัพเดตข่าวสารกิจกรรม ตอบข้อสงสัยการสมัครพาร์ตเนอร์ การเปิดร้าน และพัฒนายอดขาย พร้อมเดินสายจัดอีเวนต์ในภาคต่าง ๆ เช่น โครงการ “โดนใจ ดาวกระจาย” ที่บิ๊กซี ขอนแก่น แบบงานกึ่งเสวนาตัวต่อตัวสำหรับร้านค้าปลีกรายย่อยที่สนใจเปิดร้านเมื่อช่วง เม.ย.-พ.ค. ร่วมกับโครงการ “โดนใจ ออนทัวร์ ทั่วไทย”

“ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีเจซี อธิบายถึงจุดเด่นของร้านโดนใจว่า แพลตฟอร์มร้านมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านโชห่วยยังเป็นเจ้าของจึงไม่ต้องแบ่งผลกำไร และสามารถเลือกชนิดสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายได้เอง

โดยบีเจซีจับมือพันธมิตร 30 บริษัท นำสินค้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้ประกอบการในราคาที่เหมาะสม และร่วมกับสถาบันการเงิน ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สร้างทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะเปิดร้านโดนใจด้วย

ถูกดี เร่งเสริมเขี้ยวเล็บ

ด้านบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ภายใต้การบริหารของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” มีโมเดล “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ซึ่งเดินหน้าเสริมเขี้ยวเล็บด้วยบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแม็กเนตดึงลูกค้าเข้าร้าน อาทิ “ถูกดี สั่งได้” บริการให้ลูกค้าของร้านสั่งสินค้านอกเหนือจากที่วางขายในร้านได้ ทั้งอาหารสัตว์ นมผงสำหรับเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป โดยบริษัทจะจัดส่งให้ที่ร้านใน 3-5 วัน หรือเพิ่มบริการรับส่งพัสดุ รวมทั้งหารือธนาคารนำบริการตู้เอทีเอ็มมาติดตั้งที่ร้าน

“เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ย้ำว่า บริษัทสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่เต็มที่ โดยมีทีมงานไปให้คำปรึกษาแนะนำตลอดตั้งแต่วันแรกจนถึง 2-3 เดือนแรก เพื่อสอนให้จนกระทั่งเขาใช้เทคโนโลยีเป็น เวลาสินค้ามาจะทำวิธีรับอย่างไร สินค้าถึงอยู่ในระบบ เวลาขายจะขายอย่างไร พร้อมจัดทำระบบสมาชิก

รายใหม่โดดร่วมวง

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกระบุว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ของเจ้าสัวเจริญ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ ซุ่มพัฒนาโมเดลสนับสนุนร้านค้าปลีกรายย่อย ภายใต้ชื่อโครงการร้านโชคชัย เพื่อเป็นช่องทางกระจายสินค้าของบริษัทเข้าสู่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องดื่ม มีหน่วยรถกระจายสินค้าเป็นหัวหอก เน้นผู้ประกอบการที่เปิดร้านค้าปลีกอยู่แล้ว โดยบริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตกแต่ง ให้คำปรึกษาบริหารร้าน ความเป็นเจ้าของและกำไรเป็นของเจ้าของร้าน 100%

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ขณะนี้อาจยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนนัก แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในทิศทางเดียวกัน ผู้ประกอบการอย่างยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่พัฒนาโมเดลของตัวเอง “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ยี่ปั๊ว ซาปั๊วที่มีศักยภาพบางรายได้สร้างโมเดลในการช่วยเหลือร้านค้าย่อย เน้นยืดหยุ่น ไม่มีเงื่อนไขมาก ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเริ่มตั้งแต่การแนะนำตกแต่งร้านค้า คัดเลือกสินค้า ระบบบริหารการจัดการ และจัดส่งสินค้าให้ในราคาที่ถูกกว่าปกติ 10% เพื่อให้โชห่วยแข่งขันได้มากขึ้น เช่น ร้านคุ้มจริง (จ.ยโสธร) ที่ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีร้านค้าในเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 40-50 ราย

กลุ่มสะดวกซื้อตบเท้าลุย

ขณะที่ร้านโชห่วยกำลังคืนชีพด้วยแรงหนุนจากยักษ์ธุรกิจ ด้านผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อต่างเดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจเต็มที่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเซเว่นอีเลฟเว่นที่เดินตามแผนขยาย 700 สาขาแล้วยังเสริมยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไซซ์ใหญ่พร้อมพื้นที่เช่า-ลานจอดรถ พาเหรดสินค้าใหม่ แคมเปญส่งเสริมการขายอย่างแสตมป์เซเว่น เพื่อกระตุ้นยอดขายสร้างรายได้

ด้านเซ็นทรัลรีเทล ผู้บริหารอดีตเชนร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังได้เร่งรีแบรนด์สาขาร้านแฟมิลี่มาร์ท เดิมเป็น ท็อปส์ เดลี่ พร้อมปรับการตกแต่งและเสริมบริการใหม่ เช่น เพิ่มไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จัดหมวดหมู่สินค้าตามกลุ่มการใช้งานอย่างขนมขบเคี้ยว รวมถึงมีสินค้านำเข้าเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งมีขายที่ท็อปส์ เดลี่ เท่านั้น เป็นต้น

ส่วนร้านลอว์สัน 108 ของเครือสหพัฒน์ ย้ำจุดเด่นของการมีสาขาตามแนวรถไฟฟ้า ด้วยการจับมือ “บีทีเอส” เปิดตัวแพ็กเกจ Xtreme Savings รวมเที่ยวเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอส กับคูปองส่วนลดต่าง ๆ อาทิ ค่าโดยสาร Grab และส่วนลดสินค้าในร้านมูลค่ารวมสูงสุด 500 บาท สำหรับใช้สาขาบนสถานี BTS พร้อมโหมโปรโมตระบบสมาชิกด้วยการจัดสะสมแต้มแลกของพรีเมี่ยม ชามจานสไตล์ญี่ปุ่น ผ่านแอป LAWSON 108 Member Station ฯลฯ

ภาพความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงเทรนด์ตลาดค้าปลีกในเซ็กเมนต์ร้านสะดวกซื้อที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การแข่งขันที่เริ่มจะดุเดือดยิ่งขึ้น เป็นสมรภูมิใหม่ที่น่าจับตา

8/10/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 8 ตุลาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS