info@icons.co.th 02 810 8892-6 52.15.109.209

AOT เร่งลงทุนสนามบินใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-หนุนท่องเที่ยว

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำได้ทันที และทำให้เม็ดเงินกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว และท่าอากาศยาน หรือ “สนามบิน” เป็นกลไกหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่สุด

“เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ และ “ศิโรตม์ ดวงรัตน์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ได้บรรยายพิเศษในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในหัวข้อ “ท่องเที่ยว-เครื่องยนต์หลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ดังนี้

“เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ทอท. หรือ AOT เป็นผู้บริหารสนามบินหลักของไทย ทั้ง 6 สนามบินถ้าคิดที่ปริมาณ load traffic คิดเป็นประมาณ 86%

เมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้ท่าอากาศยานทั้งประเทศ และถือเป็นเครื่องยนต์หลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้รองรับนโยบายทางการตลาด

โดยประเทศไทยมีความพร้อมรับการท่องเที่ยว ทั้งข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ซัพพลายธุรกิจโรงแรม ค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง ฯลฯ

ช่วงก่อนโควิด-19 ทอท.มีผู้โดยสารใช้บริการ 160 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัวมาที่ระดับ 70% แต่นโยบายของรัฐบาลคือ การตลาดนำ นวัตกรรมตาม ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะกลับมา 100% ได้ในอีก 1-2 ปีนี้

“เอนก” บอกว่า สนามบินถือเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีโครงการพัฒนาต่อเนื่อง อาทิ โครงการสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)

ขณะเดียวกันในปี 2567 ทางวิ่งที่ 3 จะแล้วเสร็จ การขึ้นลงของอากาศยานจากเดิมที่ทำได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะเพิ่มเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 50%

สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) นั้นการพัฒนามีจุดหมายหลัก 2 ประการ คือ 1.ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร (capacity) จากเดิมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี จะเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี

และ 2.ยกระดับการให้บริการ เช่น ห้องน้ำเยอะและสวย ดีไซน์เหมือนโรงแรม 5 ดาว ส่วนพักคอยก็จะเป็นแบบเปิด ให้ความรู้สึกโปร่ง ร้านค้าได้รับการจัดระเบียบ ป้ายบอกทางที่ได้รับการออกแบบใหม่

ชี้ลงทุนใหม่ต้องทำตั้งแต่วันนี้

“เอนก” ยังบอกด้วยว่า จากนโยบายของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เช่น ลดกฎเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศ ออกมาตรการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นนั้น ในส่วนของ ทอท.ได้ตอบรับนโยบายดังกล่าวผ่านการจัดสลอตการบิน และนำนวัตกรรมมาปรับปรุงและพัฒนาอาคารที่มีอยู่เดิมให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจการบินขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่ายังโตได้อีกมาก ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของสนามบินจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีการวางวิสัยทัศน์สร้างสนามบินใหม่ โดยเฉพาะการกระจายสนามบินไปยังหัวเมืองหลัก

“ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานเชียงใหม่มีปริมาณเที่ยวบินค่อนข้างหนาแน่น หากใช้สนามบินเหล่านี้ต่อไปจะมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 10 ปี”

การลงทุนใหม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 หรือโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2

“ระหว่างการลงทุนการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ ทอท.จะใช้วิธีการพัฒนาสนามบินที่มีอยู่เดิมไปก่อน และทันทีที่โครงการสร้างสนามบินใหม่แล้วเสร็จ จะกลายเป็นการเติบโต S-curve ใหม่ของประเทศไทย”

มุ่งใช้นวัตกรรมมาพัฒนา

ด้าน “ศิโรตม์ ดวงรัตน์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด ทอท. เสริมว่า ปัจจุบันประเด็นที่ผู้โดยสารมองว่าไม่สะดวกสบายและต้องได้รับการแก้ไข และ ทอท.ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1.ปัญหาความคับคั่งของจุดเช็กอิน ทอท.ได้แก้ไขโดยติดตั้งเครื่อง kiosk สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 196 เครื่อง และติดตั้งเครื่อง kiosk โหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 42 เครื่อง

2.ปัญหาความคับคั่งของจุดตรวจค้น ทอท.ได้ติดตั้งระบบใหม่ คือ auto return tray system (RTS) สามารถใช้งานได้อย่างอิสระ 4 ช่อง จากเดิมที่ใช้ได้ครั้งละคน

3.ปัญหาความคับคั่ง ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง โดยด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งขาเข้าและขาออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (automatic channel) เพิ่ม 23 เครื่อง

และ 4.ปัญหาความล่าช้าของเที่ยวบิน ในส่วนของพื้นที่เขตการบิน (airside) ทอท.จะมีการนำระบบ airport collaborative decision making (A-CDM) มาใช้งาน คาดว่าจะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2567

ดันสุวรรณภูมิสู่ท็อป 30 โลก

“ศิโรตม์” บอกอีกว่า นอกเหนือจากการแก้ปัญหาข้างต้น ทอท.ยังได้พัฒนาระบบจอดรถในท่าอากาศยาน และอีกไม่นานนี้ แอปพลิเคชั่น SAWASDEE by AOT จะอัพเกรดสู่เวอร์ชั่นใหม่

“โครงการพัฒนาดังที่กล่าวมาจะทำให้เรากลับมาติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกได้ภายใน 2 ปีแน่นอน และติดอันดับ 1 ใน 30 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 68 จากการประเมินของสกายแทร็กซ์”

“สนามบิน” ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ศิโรตม์” บอกอีกว่า จากการคาดการณ์ของ ทอท.ในปี 2567 ซึ่งหมายถึงตารางการบินฤดูหนาว (29 ตุลาคม 2566-30 มีนาคม 2567)-ตารางการบินฤดูร้อน (31 มีนาคม 2567-26 ตุลาคม 2567) คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 83 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารจีนยังไม่กลับมาเท่าที่ควร โดยในปี 2562 ก่อนโควิด-19 ผู้โดยสารจีนครองสัดส่วน 26% ของผู้โดยสารต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ขณะที่ปัจจุบันผู้โดยสารจีนครองสัดส่วนเพียง 12-13% เท่านั้น

ทั้งนี้ ทอท.อาจมีมาตรการกระตุ้นเพื่อต่อยอดนโยบาย “วีซ่าฟรี” ของทางรัฐบาล โดยคืน (kick back) ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (passenger service charge : PSC) ที่ ทอท.ได้รับแก่สายการบิน เพื่อให้ผู้โดยสารกลับมาที่ 83 ล้านคน ตามสลอตการบินที่ได้วางไว้

รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ ทอท. ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ประเด็นสำคัญตอนนี้อยู่ที่ว่าเรากล้าทำ กล้าลงทุนหรือไม่ และหากเราจะใช้การตลาดนำ จำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อน เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถสร้างได้ในวันเดียว

พร้อมย้ำว่า การลงทุนสนามบินแห่งใหม่นั้นในแง่ผลตอบแทนจากการลงทุน ทอท.อาจยังไม่คุ้ม แต่เชื่อว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนั้นมหาศาล ทั้ง 2 จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงจะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีการหมุนเวียนของเงิน และแน่นอนว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนมากขึ้น ความเจริญต่าง ๆ ก็จะตามมา

5/10/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 ตุลาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS