เมื่อพูดถึง ศูนย์การค้า หลายคนคงนึกถึงสถานที่พักผ่อน จับจ่ายใช้สอย และแหล่งรวมร้านค้าร้านอาหารสุดโปรด ล่าสุด สยามพิวรรธน์ ขยายขอบเขตไปอีกขั้นด้วยการจับมือกับ เอสซีบี เอ็กซ์ (SCBX) สร้างเทคคอมมิวนิตี้แห่งใหม่ SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX หรือ SCBX NEXT TECH กลางกรุง เพื่อเป็นพื้นที่ co-creation แห่งการเรียนรู้โลกอนาคต หลังจากก่อนหน้านี้ก็เคยร่วมกับ ทรู คอร์ป และกันตนา กรุ๊ป ปรับพื้นที่ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ให้เป็น True 5G Pro Hub ศูนย์รวมอีโคซิสเต็มอีสปอร์ต
ธณพร ตันติยานนท์ ผู้บริหารหน่วยธุรกิจ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กล่าวว่า สยามพารากอนเป็นจุดหมายปลายทางที่ครองใจชาวไทยและชาวต่างชาติมาตลอด 18 ปี แต่ละวันมีคนเข้ามา 1.2-1.5 แสนคน หรือกว่า 50 ล้านคนต่อปี และปีนี้ใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ศูนย์การค้าให้เป็นแลนด์มาร์กใจกลางกรุงเทพฯ ดึงดูดใจชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่อยอดจากการเป็นศูนย์การค้าที่โดดเด่นด้านการจำหน่ายสินค้าลักเซอรี่อยู่แล้ว เป็นการเดินหน้าสู่การทรานส์ฟอร์มตามแนวคิด The World of Tomorrow นำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตแห่งโลกอนาคต
โดยจัดสรรพื้นที่ และโซนใหม่ ๆ ล่าสุดคือ SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX ภายใต้แนวคิด Smarter, Better, Richer บนชั้น 4 สยามพารากอน ซึ่งใช้งบฯปรับปรุงพื้นที่ส่วนนี้ราว 200 ล้านบาท ขนาดกว่า 4,000 ตารางเมตร
SCBX NEXT TECH
สิริพร หฤทัยวิญญู ผู้บริหารสายงาน บริหารธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์การสร้างพื้นที่ SCBX NEXT TECH แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.co-creation & collaboration ผนึกกำลังพันธมิตรทั้งในไทย และต่างประเทศ เช่น BITCAST, Connex, ดีป้า (depa), JIB, looloo tech x Samitivej, SiamSandbox, AIS, ONESIAM SuperApp ฯลฯ สร้างความร่วมมือแห่งการเติบโตร่วมกัน ทำให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ 2.สร้างความยั่งยืนในแง่สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เช่น ร่วมกับ Synnex ตั้งจุดให้ความรู้ และรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง
การพัฒนาพื้นที่นี้เราได้รับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์มากมาย บางอย่างเป็นสิ่งที่พาร์ตเนอร์ทำด้วยกันเป็นครั้งแรก เช่น TikTok สร้าง Creator House ซัพพอร์ตการสร้างคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ หรือ JIB รีเทลจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยี ก็สร้างพื้นที่ academy ให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบและซ่อมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ เพราะมองว่าความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องส่งผ่านแบบ B2B จากภาคธุรกิจสู่ธุรกิจเท่านั้น แต่สามารถส่งผ่านแบบ B2C ให้คนทั่วไปเข้าใจ และใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
พื้นที่ของ SCBX NEXT TECH แบ่งเป็น 7 ส่วน ตามแนวคิด future communities ได้แก่ 1.Dev Connect คอมมิวนิตี้ของเหล่านักพัฒนาเทคโนโลยี 2.Blockchain Web3 & Fintech เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการ, นักลงทุน และผู้ที่สนใจเทคโนโลยีบล็อกเชน และการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล 3.New Tech นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้สตาร์ตอัพเติบโต 4.Health Hub นำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผ่านเทคโนโลยีและวิธีการที่ยั่งยืน 5.Gamers Guild พื้นที่แลกเปลี่ยนของเหล่าเกมเมอร์ และคนที่รักการเล่นเกม 6.AI Arena เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนในโลกออนไลน์ 7.Social Co-creators ให้อินฟลูเอนเซอร์ และผู้สนใจมาร่วมแชร์ประสบการณ์ และความรู้ร่วมกัน
ในอนาคต SCBX NEXT TECH จะเป็นพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมจากพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่อง หมุนเวียนตามเทรนด์เทคโนโลยี เช่น งาน Android Bangkok, DevFest-Cloud AI Bangkok และ Google I/O โดย Google Developer Group, มีซีรีส์สัมมนา SCBX Unlocking AI โดย SCBX, มี Martech Intergration Day โดย MarTech Association (Thailand), Thai Hungarian Fintech Forum โดยสมาคมฟินเทคประเทศไทย ฯลฯ
จาก DISTRICTX สู่ AreaX
ด้าน ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา SCB10X บริษัทลูกของ SCBX เปิดตัว DISTRICTX หรือพื้นที่ส่วนกลางในองค์กรที่ช่วยให้พนักงานและบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น มีพื้นที่พูดคุย และพัฒนาไอเดียต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายในการเป็น venture building สร้างการเติบโตให้สตาร์ตอัพพร้อมสปินออฟสู่โลกธุรกิจ โดย AreaX ใน SCBX NEXT TECH จะเป็นเทคคอมมิวนิตี้ที่ขยายขอบเขตความรู้ด้านเทคโนโลยีมายังคนทั่วไป รวมถึงเป็นพื้นที่ให้คนที่สนใจอาชีพในวงการไอที หรือต้องการทำสตาร์ตอัพมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนต้องไปรวมกลุ่มตามร้านกาแฟอย่างเดียว
การพัฒนา AreaX เป็นหนึ่งในบทบาทของ SCBX ที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศ เป็นพื้นที่เผยแพร่นวัตกรรมที่เปิดให้ใช้ฟรี ไม่ได้มีเป้าหมายสร้างรายได้ ในแง่เนื้อหาจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ล่าสุดไมโครซอฟท์สนใจนำเทคโนโลยีมาจัดแสดงพื้นที่นี้เป็นโปรเจ็กต์ระยะยาว 2-3 ปี แต่คงต้องดูกระแสตอบรับหรือจำนวนคนที่เข้ามาใช้อีกที เรามองว่าการพัฒนาพื้นที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ คือการที่คนได้รับความรู้จากสิ่งที่เราค้นหา และเตรียมไว้ให้ชมหรือถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลเพื่อบอกต่อ
AreaX พัฒนาจากความต้องการ และความสนใจของกลุ่ม Tech Talent เป็นหลัก แบ่งการใช้พื้นที่ 100 ตารางเมตร เป็น 2 ส่วน 1.developer lounge มีโต๊ะทำงาน และ workstation ปรับระดับได้ พร้อม coding monitor อำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาและ digital nomad 2.experience zone พื้นที่เรียนรู้ พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นผ่านการเวิร์กช็อป ให้ความรู้ด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีจากบริษัทในกลุ่ม SCBX และพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้านหนึ่ง AreaX เป็นพื้นที่เติมเต็มอีโคซิสเต็มของ SCBX ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โชว์เคสผลงานหรือนวัตกรรมการเงินของบริษัทในกลุ่ม SCBX เป็นพื้นที่ตามหาสตาร์ตอัพหน้าใหม่ที่ SCB10X มีโอกาสเข้าไปลงทุนในอนาคตได้
AreaX ตั้งในสถานที่ที่เดินทางสะดวก คนที่สนใจเทคโนโลยีหรือต้องการทำสตาร์ตอัพมีโอกาสพบกันได้ง่าย ถ้าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เราอาจเข้าไปลงทุนด้วย บริษัทลูกในเครือเราก็เอาผลงานมาโชว์หรือให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้า และบรรลุเป้าหมายตาม KPI ของตนเองได้
เพิ่มเวลาที่ใช้ในศูนย์การค้า
สาลวิท สุวิพร ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นการพลิกโมเดลธุรกิจของรีเทล จากที่เคยขายพื้นที่ให้ร้านค้าอย่างเดียว ปรับแนวคิดมาเป็น co-creation ผสมผสานพื้นที่ให้มีความหลากหลาย ทั้งการจำหน่ายสินค้า และให้ความรู้ ซึ่งทิศทางของการสร้างแบรนด์ปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่การจำหน่ายสินค้าหรือทำแคมเปญการตลาดอย่างเดียว แต่ยังส่งผ่านความรู้ไปสู่คนทั่วไป ทำให้แบรนด์สร้างเอ็นเกจเมนต์กับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของตนเองได้ดีกว่า
เรามองว่าการให้พื้นที่ร้านค้าอย่างเดียวเป็นโมเดลแบบเก่าไปแล้ว การสร้างคอมมิวนิตี้ที่มีความหลากหลาย หรือเป็นพื้นที่ที่ให้คนได้มาทำกิจกรรม จะช่วยสร้าง stickiness หรือความผูกพันกับพื้นที่ได้มากกว่า เวลามีกิจกรรมอะไร คนจะรอติดตาม และมาใช้เวลาในศูนย์การค้ามากขึ้น ถ้าทำให้คนอยู่นานขึ้นได้ ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อของหรือใช้บริการร้านค้าอื่น ๆ มากขึ้นด้วย
18/10/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 ตุลาคม 2566 )