รถไฟฟ้าสายสีชมพู เตรียมเปิดให้นั่งฟรี ปลายเดือน พ.ย.คาดว่าจะสามารใช้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ธ.ค.
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี (MRT สายสีชมพู)
โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ก่อนกำหนดเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตลอดเส้นทางครบทั้ง 30 สถานี ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ให้สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้โดยเร็ว
เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ตามนโยบาย Quick Win คมนาคม
เพื่อความอุดมสุขของประชาชน โดยในวันนี้ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม Trial Run เส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) โดยระบบการเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดเส้นทาง จากนั้น ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของโครงการฯ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยในบริเวณ 3 สถานี ได้แก่
สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของสองสถานี มีทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ระยะทางประมาณ 346 เมตร
สถานีหลักสี่ (PK14) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีหลักสี่ (RN06) ของรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ รังสิต) ในการกำกับของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่ระดับดิน ใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ รังสิต) มีระยะทางเดินเชื่อมต่อประมาณ 180 เมตร
สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะฯ ได้ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) ระหว่างสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) ชั้นออกบัตรโดยสาร ฝั่งทางออกที่ 3 กับ อาคารจอดรถของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ระยะทางเชื่อมต่อประมาณ 213 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มาติดต่อกับหน่วยงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้ รฟม. เร่งรัดการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานในส่วนต่างๆ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้มีความพร้อมในทุกด้านอย่างเต็มที่ ทั้งงานระบบรถไฟฟ้า การพัฒนาจุดเชื่อมต่อ การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีอย่างครบถ้วน ตลอดจนการจัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ภายในสถานี เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 98.30 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 99.24 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 98.78 โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด
เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ และคาดว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี เป็นโครงการฯ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม
โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย
สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า
สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี รถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ รังสิต) ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
9/11/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 พฤศจิกายน 2566 )