info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.218.50.170

“แมคโดนัลด์” สปีดธุรกิจทั่วโลก ผุด 9 พันสาขา-เปิดแบรนด์ใหม่ CosMc’s

Retails News / ข่าวหมวดห้างสรรพสินค้า

ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน หรือ Quick Service Restaurant (QSR) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกคาดว่ากำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากในปี 2567 และในอนาคตทั้งจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยใหม่อย่าง ความนิยมยาลดความอ้วนที่มีฤทธิ์ลดความอยากอาหาร อาจทำให้จำนวนลูกค้าหรือปริมาณการซื้อลดลง

ท่ามกลางความกังวลนี้ “แมคโดนัลด์” หนึ่งในยักษ์อาหารจานด่วน ออกมาประกาศทิศทางอนาคตแบบสุดทะเยอทะยาน ด้วยเป้าสปีดปูพรมสาขาทั่วโลกเพิ่มกว่า 9 พันสาขา รวมถึงขยายฐานสมาชิกเพิ่ม พร้อมวางโรดแมปที่จะบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 นี้ให้ได้ในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า แมคโดนัลด์ประกาศเป้าหมายใหม่ล่าสุด เป็นการขยายสาขาทั่วโลกเพิ่มอีก 8.8 พันสาขา หรือมีสาขารวม 5 หมื่นสาขาทั่วโลก ภายในเวลาอีกเพียง 4 ปี หรือภายในปี 2570 จากตัวเลข 41,198 สาขา ณ เดือนกันยายน 2566 พร้อมกับเป้าหมายการเพิ่มฐานลูกค้าสมาชิกอีก 100 ล้านราย ในช่วงเวลาเดียวกัน

เป้าหมายทั้ง 2 นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนผลักดันการเติบโตของยอดขายในระยะยาว ซึ่งตามปกติถือเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับธุรกิจขนาดยักษ์อย่างแมคโดนัลด์

ตามแผนนี้สาขาใหม่จะแบ่งเป็นการเปิดสาขาเอง 1.9 พันสาขาทั่วโลก และ 900 สาขาในสหรัฐอเมริกา รวมกับสาขาแฟรนไชส์อีก 7 พันสาขา ในจำนวนนี้คาดว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ หลังเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ประกาศซื้อหุ้นในธุรกิจในแดนมังกรเพิ่มจาก 20% เป็น 48% ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 รองจาก Citic Group บริษัทลงทุนสัญชาติจีนที่ถือหุ้น 52% ทั้งนี้แมคโดนัลด์มีสาขาในจีน 5.5 พันสาขา คาดว่าสร้างรายได้ประมาณ 3.8% ของรายได้รวม

เริ่มจากในปี 2567 ที่จะถึงยักษ์เบอร์เกอร์คาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนสาขาขึ้นได้ประมาณ 4% ซึ่งการเพิ่มจำนวนสาขานี้จะส่งผลต่อเนื่องให้ยอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2% ตามไปด้วย และหลังจากปี 2567 เป็นต้นไป จะเร่งสปีดการขยายจำนวนสาขาให้เร็วขึ้นอีกเป็น 4-5% ต่อปี ซึ่งยอดขายจากสาขาใหม่เหล่านี้จะมีสัดส่วนประมาณ 2.5% ของยอดขายเฉลี่ยที่เติบโตขึ้นในแต่ละปี

แน่นอนกว่าการปูพรมสาขาจำนวนกว่า 9 พันสาขาทั่วโลกนี้ ย่อมต้องมีการลงทุนมหาศาลด้วยเช่นกัน โดยแมคโดนัลด์คาดว่าปี 2567 จะต้องลงทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขนี้สูงกว่าปี 2566 ซึ่งคาดว่ามีการลงทุน 2.2-2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งแต่ปี 2568-2570 ตัวเลขการลงทุนจะเพิ่มขึ้นปีละ 300-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขการขยายสาขาเพิ่ม 8.8 พันสาขาในช่วงเวลา 4 ปี หรือปีละ 2.2 พันสาขา นับว่าอยู่ในระดับเดียวกับยักษ์ร้านกาแฟอย่าง สตาร์บัคส์ ซึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาประกาศเป้าขยายสาขาจาก 3.8 หมื่นสาขา เป็น 5.5 หมื่นสาขาภายในปี 2573 เท่ากับการปักธงสาขาใหม่อีก 1.7 หมื่นสาขาในเวลา 7 ปี หรือตกปีละ 2.42 พันสาขา

“คริส เคมป์ซินสกี้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแมคโดนัลด์ กล่าวถึงศักยภาพของตลาดแดนมังกรว่า จีนมีศักยภาพที่อาจมีร้านแมคโดนัลด์ได้มากถึงระดับ 2-2.5 หมื่นสาขา และอาจกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของแบรนด์ได้ในอนาคต

ขณะเดียวกันผู้บริหารยักษ์เบอร์เกอร์ยังระบุ ทำเลสาขาของแมคโดนัลด์ในปัจจุบันนั้นตกยุคและไม่สัมพันธ์กับสถานที่ที่ผู้บริโภคในปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่กัน ตัวอย่างหนึ่งคือการพยายามขยายสาขาไปในพื้นที่ภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากการขยายสาขาในแบรนด์แมคโดนัลด์แล้ว ยักษ์เบอร์เกอร์ยังวางแผนขยายสาขาแบรนด์น้องใหม่ในชื่อ CosMc’s ซึ่งวางโพซิชั่นเป็นร้านกาแฟและขนม โดยมีรายการเมนูทั้งเมนูดังในอดีต เช่น แมคมัฟฟิ่นไข่ แมคเฟลอรี่รสเอ็มแอนด์เอ็ม คู่กับเมนูใหม่อย่าง ชูโร เฟรปเป้ (Churro Frappes) และเพรตเซลไบต์ (Pretzel Bites) โดยช่วงแรกจะทดลองเปิด 10 สาขาทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ

ในด้านฐานสมาชิกนั้น แมคโดนัลด์ตั้งเป้ามีแอ็กทีฟเมมเบอร์ไม่น้อยกว่า 250 ล้านคน ภายในปี 2570 เป็นผลจากความสำเร็จของโมเดลสมาชิกในการกระตุ้นยอดขายผ่านแอปบนมือถือ และยังช่วยเพิ่มความถี่การกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้า

“มอร์แกน แฟลตลีย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดทั่วโลกของแมคโดนัลด์ และรองประธานบริหารฝ่ายกิจการธุรกิจใหม่ อธิบายว่า การเร่งเพิ่มฐานลูกค้าสมาชิกนี้ เป็นเพราะในอนาคตมีความเสี่ยงที่แบรนด์จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอินไซต์ของลูกค้าผ่านช่องทางภายนอก เช่น แพลตฟอร์มสั่งอาหาร หรือมาร์เก็ตเพลซได้ ทำให้บริษัทต้องดึงลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์มของบริษัทเองโดยอาศัยสิทธิประโยชน์เสริมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมคะแนนด้วยการชมการแข่งกีฬาบนแอป หรือเปิดให้สามารถโอนคะแนนให้กับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนได้ เป็นต้น

“ในอนาคตข้อมูลอินไซต์ของผู้บริโภคจะเป็นตัวสร้างความได้เปรียบสำคัญของธุรกิจในระดับเดียวกับทำเลของสาขา”

15/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 15 ธันวาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS