info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.139.86.74

กองทุนหมื่นล้าน CG Capital “ภูมิ จิราธิวัฒน์” คิดและลงทุนอย่างมืออาชีพ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจล้วน ๆ ของผู้บริหารคนรุ่นใหม่ตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ลงลึกรายละเอียดความเป็นไปได้ทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปีในช่วงที่ผ่านมา

จนนำมาสู่การเปิดตัว บริษัท ซีจี แคปปิตอล แอดไวซอรี่ จำกัด ผู้บริหารกองทุน Private Equity น้องใหม่ของวงการภายใต้ชื่อ CG Capital ประเดิมกองทุนแรกมูลค่า 10,000 ล้านบาท โฟกัสลงทุนธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ กลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ในไทย

โดยมีผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร “ภูมิ จิราธิวัฒน์” ประสบการณ์ตรงเคยเป็น VP ที่ L Catterton ในกลุ่ม LVMH บริหารกองทุนคอนซูเมอร์ ไพรเวต อีควิตี้ มูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาก่อน สถานะปัจจุบันเป็น Head of Hotels and Alternative Investment ของ CPN-บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ดูแลมากกว่า 40 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วไทย

ร่วมกับผู้ก่อตั้งอีกราย “สรวิศ ชัยโรจน์” นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงดีกรีเกียรตินิยมปริญญาตรีและโท มหาวิทยาลันสแตนฟอร์ด สหรัฐ ผู้ก่อตั้งคูน เอสเตท อสังหาฯระดับลักเซอรี่ ประสบการณ์ลงทุนไพรเวต อีควิตี้ 20 ปี ตะลอนลงทุนโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในไทยและอาเซียนเกิน 30 แห่ง

มีผู้ลงทุนหลักประกอบด้วย 1.ครอบครัวจิราธิวัฒน์ 2.ธนาคารชั้นนำ 3.นักลงทุนสถาบันระดับโลก แบ่งสัดส่วนผู้ลงทุนหลักอย่างละครึ่ง/ครึ่งระหว่างคนไทยกับต่างชาติ รายละเอียดเพิ่มอีกนิดเป็นเรื่องมีจำนวนผู้ลงทุนหลัก 10 รายบวกลบ ธรรมดาที่ไม่ธรรมดาคือ กองทุนนี้ใช้ระบบเชื้อเชิญเท่านั้น ไม่สามารถวอล์กอินมาลงทุนได้ และเฉลี่ยลงทุนสัดส่วนเท่า ๆ กันทุกครั้งที่มีการระดมทุนเพิ่ม

ประเดิมจับมือเดอะสแตนดาร์ด

ในโอกาสเปิดตัวทั้งที CG Capital ไม่ได้มาตัวเปล่า เพราะประกาศพอร์ตลงทุนโครงการแรก “Standard International-สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล” แบรนด์บูทีคโฮเทลและไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลก มูลค่า 5,000 ล้านบาท ในรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย เดอะ สแตนดาร์ด เรสซิเดนซ์ ภูเก็ต บางเทา กับ เดอะ เภรี โฮเต็ล ภูเก็ต บางเทา ที่เตรียมเปิดเวทีแถลงรายละเอียดทุกขุมขนอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้

บนที่ดินรวม 40 ไร่ ทำเลที่ตั้งถือเป็นไข่แดงของย่านเชิงทะเล-บางเทา แน่นอนว่าเป็นทำเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูเก็ต ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มีแม็กเนตมากมาย ใกล้แหล่งช็อปปิ้งและร้านอาหารดังในภูเก็ต เช่น โบ้ท อเวนิว, ลากูน่า กอล์ฟ คลับ, ปอร์โต เดอ ภูเก็ต ซึ่งมีท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่คนภูเก็ตเรียกว่าท็อปส์ฝรั่ง เพราะวางเรียงสินค้านำเข้าเต็มเชลฟ์ คนเดินช็อปซื้อหลักก็เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักอาศัยแบบลองสเตย์ และสวนน้ำบลูทรี

เสาเข็มต้นแรกวางแผนเปิดตัวภายในเดือนเมษายน 2567 ตั้งเป้าก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2569

“โครงการแรก 5,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าโครงการหรือโปรเจ็กต์แวลู ส่วนการลงทุนจริง ๆ ก็เป็นโมเดลลงทุนปกติ มีการกู้เงินมาก่อสร้างโดยใช้บริการสถาบันการเงิน”

เส้นคิดหรือวิสัยทัศน์ของ “ภูมิ จิราธิวัฒน์” หลังสถานการณ์โควิด การฟื้นตัวมาจากภาคฮอสพิทาลิตี้ เซ็กเมนต์ที่ฟื้นตัวก่อนต้องเป็นตลาดไฮเอนด์ขึ้นไป ทำเลฟื้นตัวก่อนมาร์กได้ 4 จุดหลักที่เป็นโกลบอลเดสติเนชั่น “กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-สมุย-พัทยา” เบื้องต้นอยากลงทุนปีละ 3-5 โครงการ เหตุผลที่เลือกจังหวะเปิดตัวกองทุนบนภาวะจีดีพีต่ำเตี้ย เพราะมองว่า ในวิกฤต (เศรษฐกิจ) ก็เป็นโอกาส ถึงแม้ปี 2566 จบด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเยือนไทย 28 ล้านคน แต่ยังไม่ถึง 40 ล้านคนเท่ากับในยุคก่อนโควิด

“สัดส่วน 80% ของผู้ประกอบการโรงแรมในปีที่แล้ว รายได้ก็ยังไม่กลับมาเท่ากับยุคก่อนโควิดในปี 2562 ข้อมูลสำคัญอีกเรื่องคือเฉลี่ยมีการซื้อขายกิจการโรงแรมในไทย 12,000 ล้านบาททุกปี แต่ปีที่แล้วจบได้เพียง 6 ดีล มูลค่าไม่ถึง 4,000 ล้านบาท ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริหารมืออาชีพอย่าง CG Capital โดยตรง จึงเป็นโอกาสการลงทุนของเรา”

ผลตอบแทนเร้าใจปีละ 18%

คำถามกระชับในเรื่องการบริหารความเสี่ยงเงินลงทุน “…แน่นอน ต้องเรียกว่าเป็นคัลเจอร์ของครอบครัวอยู่แล้วว่าไม่แอ็กเกรสซีฟ ไม่เสี่ยงโดยที่มันไม่คุ้ม ตอนเราทำเรื่องตัวเลข Make Sure ว่าไม่ได้ตั้งราคาเว่อร์ อัตราเข้าพักไม่ได้สูงไป เงินเดือนพนักงานให้เกินคาดหวังไว้ก่อนเพื่อที่จะยังเมกรีเทิร์นที่เราต้องการทุกโครงการที่เราทำ เราคอนเซอร์เวทีฟไว้ก่อน”

“(ยิ้ม) ก็คล้าย ๆ กับดีเอ็นเอที่เราทำมาเรื่อย ๆ เป็นสไตล์คอนเซอร์เวทีฟ 1.Assume ว่าวิกฤตเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ 2.คอนโทรลเรื่องคอสต์ ดูค่าใช้จ่ายจริง ๆ ทั้งค่าลงทุนและค่าบริหาร เพราะผ่านบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว คอสต์คอนโทรลของเราผมใช้คำว่าประหยัดก็แล้วกัน”

บรรทัดสุดท้ายจบด้วยข้อมูลผลตอบแทนการลงทุนกับ CG Capital (คาดเดาว่าชื่อ CG มาจาก Central Group) นำเสนอตัวเลขสแตนดาร์ดกองทุนไพรเวต อีควิตี้ทั่วโลก อยู่ที่ปีละ 18%

21/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS