ไม่ไว้ใจเศรษฐกิจปี 2567 คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะเป็นธีมการทำธุรกิจถ้วนหน้าของวงการอสังหาริมทรัพย์ ประเมินจากการประกาศแผนลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ หรือ Project Launch
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ เป็นอีกปีที่ดีเวลอปเปอร์ทำใจไว้แล้วว่าจะต้องเหนื่อยสาหัสอีกปี ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง สถาบันการเงินเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม ยังไม่นับปัญหาต้นทุนพัฒนาโครงการที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงานก่อสร้างตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาล เป็นต้น โจทย์การทำธุรกิจอยู่ที่กำลังซื้อของลูกค้าตกต่ำสวนทางต้นทุนขึ้นแทบทุกรายการ
ล่าสุด ประชาชาติธุรกิจ สำรวจความเคลื่อนไหวแผนธุรกิจของ 10 บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรียกว่าบิ๊กแบรนด์อสังหาฯ พบว่าวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่รวมกัน 317 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 315,430 ล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนลงทุนใหม่ในปี 2566 ที่วางแผนเปิดตัว 251 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 355,260 ล้านบาท เท่ากับผ่อนคันเร่งลง -11.2% มูลค่าโครงการลดลง -39,830 ล้านบาท
รายละเอียด 10 บริษัท ประกอบด้วย 1.ค่ายแสนสิริ 2.เอพี ไทยแลนด์ 3.ศุภาลัย 4.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 5.พฤกษา โฮลดิ้ง 6.แอสเซทไวส์ หรือ ASW 7.เอสซี แอสเสทฯ 8.โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ 9.สิงห์ เอสเตท และ 10.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (ดูกราฟิกประกอบ)
แสนสิริลงทุนใหม่สูงสุด
โดย อุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการ บมจ.แสนสิริ ประกาศธีมธุรกิจปีนี้ในแนวทาง Resilient Growth-ยืนหยัด ยั่งยืน วางแผนเปิดตัว 46 โครงการ มูลค่ารวม 61,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 26 โครงการ มูลค่ารวม 35,000 ล้านบาท คอนโดฯ 20 โครงการ มูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท กระจายทำเลคลุมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และตลาดต่างจังหวัด ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี
แสนสิริมีการเพิ่มสัดส่วนโครงการบ้านลักเซอรี่มากขึ้น ตั้งเป้ายอดขาย 52,000 ล้านบาท และยอดโอน 43,000 ล้านบาท ไฮไลต์เตรียมเปิด 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ ณริณสิริ ประเดิมบ้านเดี่ยวระดับพรีเมี่ยมโครงการแรก ณริณสิริ กรุงเทพกรีฑา มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท กับ มาเบิล บางนา 26 บ้านเดี่ยวราคา 5-7 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 850 ล้านบาท
ส่วนคอนโดฯ มีไฮไลต์เปิดขาย เดอะ สแตนดาร์ด เรสซิเด้นซ์ หัวหิน มูลค่า 4,100 ล้านบาท พร้อมกับแบรนด์ เวีย 2 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 2,500 ล้านบาท ในย่านสุขุมวิท 34 และ 61 รวมทั้งรีเฟรชแบรนด์ เดอะ เบส ที่เปิดใหม่ 3 โครงการ มูลค่า 4,500 ล้านบาท
เอพีแรงด้วยเป้าขาย-โอน
ถัดมา วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ ต่อยอดความสำเร็จด้วยธีมธุรกิจ Empower Together เตรียมเปิดขาย 48 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 58,000 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 15 โครงการ มูลค่า 23,000 ล้านบาท ทาวน์โฮมและบ้านแฝด 23 โครงการ มูลค่า 19,300 ล้านบาท คอนโดฯ 6 โครงการ มูลค่า 12,500 ล้านบาท และต่างจังหวัด 4 โครงการ ใน 3 จังหวัดที่เข้ามาเติมพอร์ต สงขลา สุพรรณบุรี ระยอง มูลค่า 3,200 ล้านบาท
เรื่องใหม่ของเอพีในปีนี้ ดูเหมือนจะเป็นการชิมลางตลาดบ้าน 100 ล้านเป็นครั้งแรก วางทำเลในโซนเรดโอเชียนอย่างกรุงเทพกรีฑา งานนี้จึงห้ามกะพริบตาเด็ดขาด โดยวางเป้ายอดขาย 57,000 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 53,700 ล้านบาท
ศุภาลัย-เอสซี All Time High
ในมุมที่ต้องว้าวเป็นเรื่องการทำสถิตินิวไฮ ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย หรือ SPALI ระบุว่าปีนี้ยังคงเดินหน้าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และต้องการทำสถิติ All Time High ทั้งการเปิดตัวโครงการและยอดขาย ตั้งเป้ายอดขาย 36,000 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้รวม 36,000 ล้านบาท วางงบฯจัดซื้อที่ดินเท่า ๆ เดิมที่ปีละ 8,000 ล้านบาทบวกลบ
ปีนี้นิวไฮของศุภาลัยวางแผนเปิดขาย 42 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 35 ปีของการก่อตั้ง แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 38 โครงการ มูลค่ารวม 43,500 ล้านบาท คอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 6,500 ล้านบาท รวมทั้งขยายอาณาจักรการทำธุรกิจใหญ่กว่าเดิม โดยเปิดเพิ่ม 3 จังหวัดใหม่ ลำปาง ราชบุรี ลพบุรี เบ็ดเสร็จมีการลงทุน 29 จังหวัด มากที่สุดในกลุ่มบิ๊กแบรนด์ด้วยกัน
ด้าน ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC เปิดเผยว่า ปีนี้วางแผนเปิด 17 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 15 โครงการ มูลค่า 25,000 ล้านบาท บริษัทภูมิใจนำเสนอแบรนด์ใหม่ คอนนาเซอร์-Connoisseur ราคาเริ่มต้น 80 ล้านบาท และคอนโดฯ 2 โครงการ มูลค่า 5,000 ล้านบาท คลอดแบรนด์ใหม่เช่นกัน Reference
เป้ารายได้ปีนี้ต้องการทำนิวไฮอีกครั้งที่ 28,000 ล้านบาท เก็บเกี่ยวจากบ้านแนวราบ 65% แนวสูง 35% เป้ารายได้รวม 26,500 ล้านบาท ตั้งวงเงินลงทุน 25,000 ล้านบาท กระจายทั้งที่อยู่อาศัยและพอร์ตรายได้รีเคอริ่ง จากคลังสินค้า โรงแรม ออฟฟิศบิลดิ้ง มีจำนวนทุกธุรกิจมากถึง 103 โครงการ
ASW จิกแผนลงทุนภูเก็ต
ดาวรุ่งอีกราย กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซทไวส์ หรือ ASW วางธีมธุรกิจ The New Frontires เตรียมแผนเปิด 12 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 25,920 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ 9 โครงการ บ้านแนวราบ 3 โครงการ เป้ายอดขาย 17,800 ล้านบาท เติบโต 8% และเป้ารายได้ 8,700 ล้านบาท
โดยปี 2566 ถือเป็น Golden Period ของ ASW ที่มีการปรับเพิ่มเป้าโครงการใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแผนลงทุนในภูเก็ต ที่กำลังเป็นช่วงน้ำขึ้นให้รีบตักหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบินเข้าภูเก็ตและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วก่อนใครเพื่อนเมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวในต่างจังหวัดด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH มีเอกลักษณ์แถลงข่าวปีละ 1 ครั้งถ้วน ประกาศแผนเปิด 11 โครงการ มูลค่ารวม 30,200 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 31,000 ล้านบาท มาจากบ้านแนวราบทั้งหมด เป้ารับรู้รายได้ 28,000 ล้านบาท และเป้ารายได้รีเคอริ่งอีก 8,540 ล้านบาท
บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ หรือ LALIN มีแผนเปิดตัว 8-12 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 7,000-8,000 ล้านบาท เป้ายอดขาย 6,550 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท และวงเงินจัดซื้อที่ดิน 1,500 ล้านบาท
พฤกษา-โนเบิล-สิงห์การ์ดสูง
ถัดมา บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง วางแผนเปิด 30 โครงการใหม่ มูลค่า 29,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 10 โครงการ บ้านแฝด-ทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ คอนโดฯ 3 โครงการ ตั้งเป้ายอดขาย 27,000 ล้านบาท เป้ายอดโอน 25,500 ล้านบาท
บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ หรือ Noble วางแผนเปิด 7 โครงการใหม่ มูลค่า 14,310 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 5 โครงการ มูลค่า 6,710 ล้านบาท คอนโดฯ 2 โครงการ มูลค่า 7,600 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ 14,000 ล้านบาท เป้ายอดขาย 18,000 ล้านบาท
บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ S วางเป้ารายได้รวม 18,000 ล้านบาท เติบโต 20% มาจากโรงแรม สัดส่วน 60% ที่พักอาศัย 30% หรือ 5,400 ล้านบาท ที่เหลือมาจากรายได้ออฟฟิศ-รีเทล 7% และนิคมอุตสาหกรรม-โครงสร้างพื้นฐาน 3%
โดยปีนี้วางแผนเปิดตัว 6 โครงการใหม่ มูลค่า 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 4 โครงการ คอนโดฯ 2 โครงการ ทำเลพระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และศรีราชา
1/3/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 มีนาคม 2567 )