info@icons.co.th 02 810 8892-6 13.58.219.86

“สิริวัฒนภักดี” ปั้นพระราม 4 คอร์ริดอร์ ทุ่ม 1.52 แสนล้านบูมมหานครมิกซ์ยูสระดับโลก

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

งานสัมมนาแห่งปีบนเวที Prachachat Business Forum 2024 ในหัวข้อ “ฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลง” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เพราะตระหนักว่าโลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การปรับตัวคือความจำเป็นเร่งด่วน

หนึ่งในไฮไลต์วิทยากรรับเชิญ ได้รับเกียรติจาก “ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด หรือ FCL ร่วมนำเสนอมุมมอง 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากผลของดอกเบี้ยทรงตัวระดับต่ำทำให้เป็นโอกาสของวงการอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เทรนด์ 10 ปีนับจากนี้ เรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ท้าทายผู้ประกอบการทุกคน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

10 ปีหน้าบิ๊กเชนจ์อสังหาฯ

ในช่วงโควิดเราเหมือนอยู่ในอุโมงค์ที่ไม่รู้แสงสว่างปลายทางอยู่ตรงไหน แต่พอออกจากอุโมงค์แล้วเหมือนกับเข้าไปสู่ในพายุ ที่ถือว่าเป็นความท้าทายของอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก ในเรื่องของพื้นฐานดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น พื้นฐานของการเติบโตที่ช้าลงของทุก ๆ ส่วนของภูมิภาคในโลกเลย

วันนี้ผมอยากเล่าถึงประสบการณ์ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มุมมองของเราในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน มุมมองของกลุ่ม FCL ที่ในระยะเวลาแค่ 12 ปีนี้ เราขยายงานไปในต่างประเทศ แล้วก็ต้องบอกว่าพื้นฐานของอสังหาริมทรัพย์ที่เราได้เรียนรู้ มาเป็นวิสัยทัศน์ของท่านประธาน (เจริญ สิริวัฒนภักดี) ว่ากลุ่มเราลงทุนไปในต่างประเทศแล้ว เรานำประสบการณ์อะไรกลับมาพัฒนาเมืองไทยบ้าง เรามีโอกาสในการเติบโตได้ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

วันนี้ได้ลงทุน 22 ประเทศ 130 เมือง ใน 4 ทวีป สามารถพัฒนาและบริหารทรัพย์สินมากกว่า 500 Properties มูลค่า 1.26 ล้านล้านบาท ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย พื้นที่พาณิชย์อสังหาฯ เพื่อภาคอุตสาหกรรม ใน 12 ปีนี้เราเติบโตมากกว่า 4 เท่า เป็นโอกาสของ 10 ปีที่ผ่านมาที่เป็นโอกาสของวงการอสังหาฯ ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่มีศักยภาพต่อการลงทุน แต่จาก 10 ปีข้างหน้านี้ไป เรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้แชร์ไปว่า Fundamental สำคัญมาก การลงทุนที่มี Dissipline การมองเรื่องของโอกาสข้างหน้า

เรามองว่าอสังหาฯกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องของคุณภาพ เรามีการพัฒนาในสิงคโปร์ อาคารสำนักงานหรืออาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์แค่ 20 ปี ถือว่าเป็น Fully Obsolete เขาต้องรื้อจริงแล้วสร้างใหม่ (เทียบกับไทย) เรามีอาคารเก่า 30-40 ปีที่วันนี้ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้แล้ว สิงคโปร์มีการวางแผนที่ดี คือเรื่องการวางผังเมือง ธุรกิจทั่วภูมิภาคก็อยากจะเรียนรู้กับสิงคโปร์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กลุ่มเราเข้าไปเรียนรู้จากในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ มองถึงการพัฒนาที่เป็นบทบาทที่เราอยากจะนำกลับมาสู่ประเทศไทย ในเรื่องของมิกซ์ยูส การพัฒนาแบบผสมผสาน เพราะสิงคโปร์เขียนมาสเตอร์แพลนไว้ 30 ปีที่แล้ว วันนี้เขียนใหม่ทั้งหมด จริง ๆ เขาวางไว้ 50 ปี แต่หลังจากการพัฒนามา 30 ปี

เขามองว่าเมืองในอนาคตจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่หมด มองเรื่อง Integrated Mix Used ของ Urban Planning มากขึ้น ไม่ใช่เป็นโซนในอดีตที่แบ่งเป็น Business Distric หรือ Living Area กับพื้นที่พาณิชย์ การผสมผสานกันเป็นบทบาทที่มีความท้าทาย แต่ก็ผสมผสานโดยแยกเรื่องของเมือง การวางผังเมือง

เราได้ลงทุนใช้เวลา 10 ปีพัฒนาโครงการที่ซิดนีย์ คือ Central Park ที่จะไปเปลี่ยนแปลง Area ใกล้กับเซ็นทรัลสเตชั่น ใกล้มหาวิทยาลัย ลงทุน 50,000 ล้านร่วมกับผู้พัฒนาท้องถิ่น เป็นการวางผังว่า Real Estate ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างพื้นที่เพื่อใช้ แต่เป็นเรื่องของการ Innovate Space ด้วย

ตัวอย่างเราสร้างโดยยกพื้นที่พัฒนาให้กับเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ขอเมืองว่าเราเอาพื้นที่ที่เราจะสร้างได้ขึ้นไปสร้าง Density ที่สูงขึ้นในอาคาร ออกแบบโดย “จอน นูแวล” สถาปนิกฝรั่งเศส การสร้างตึกสูงบังแสงแดด จึงสร้างรีเฟลกเตอร์เป็นตัวสะท้อนแสงอาทิตย์กลับมายังพื้นที่สีเขียว ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะได้รับรางวัล Best Building of the World ในปี 2016 แล้วก็ยังเป็นโครงการสีเขียวขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ที่เป็นมาสเตอร์แพลนของเมืองที่ซิดนีย์

สมาร์ทซิตี้ “วัน แบงค็อก”

สำหรับเมืองไทย กลุ่ม TCC Assets ในฐานะ Private Investor ได้ร่วมกับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อดึงประสบการณ์ ดึงความสามารถที่มีอยู่เข้ามาทำในเมืองไทย เราจะพลิกเกมอสังหาฯยังไงกับการร่วมพัฒนาไปกับเมือง เป็นเรื่องของความร่วมมือกัน (กับเมือง) แล้วก็เรียนรู้กับความมีศักยภาพของ TCC กับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ที่เข้ามาในการลงทุนอสังหาฯ เราวางผังวางแผนการลงทุนที่มองเห็นภาพในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา

จริง ๆ แล้วเรามาโฟกัสกับการวางอสังหาฯ จากที่ได้เรียนรู้ด้วย เราจะมองคู่กับนโยบายภาครัฐอย่างไร เราจะสามารถให้ Commitment ของเรากับภาครัฐเพื่อให้รองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าความมั่นคงของแผนธุรกิจ กับแผนนโยบายของประเทศไม่ตรงกัน ก็จะมีความท้าทายกับการลงทุนอสังหาฯอย่างสูงมาก

จากภาพใหญ่ของประเทศที่เรามองเป็นการเชื่อมโยงความเป็นอาเซียน มองถึงกรุงเทพฯ ที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ และอสังหาฯมีบทบาทไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การโปรโมตคอมเมอร์เชียลออฟฟิศ การดึงดูดสร้างสำนักงานใหญ่ (ฮับ) ให้กับในประเทศไทย

จุดนี้เราพยายามผลักดันและพูดคุยการพัฒนา Smart City ซึ่งโครงการวัน แบงค็อก เราขายความเป็น Smart City ในนั้น แต่ถ้าเมืองและการพัฒนาของภาครัฐไม่สอดคล้องกัน เราลงทุนเรื่องของสมาร์ทโซลูชั่นเข้าไปแล้ว อาจจะเป็นต้นทุนฟุ่มเฟือยให้กับโครงการด้วยซ้ำ ในมุมมองผมมองว่า ถ้าเราสมาร์ท แต่เมืองไม่สมาร์ทไปกับเรา เราจะเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเมืองที่โง่ที่สุด เพราะเราไม่สามารถคอนเน็กต์กับเมืองได้ หรือสิ่งที่เราสร้างยังไม่ถูก Value Creation อย่างที่เราวางไว้

ปั้น “พระราม 4 คอร์ริดอร์”

ก็ต้องบอกว่า นโยบายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มองเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ มีความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับคอร์ริดอร์ที่เราเรียกว่าถนนพระราม 4 เป็นตัวแบบที่ทำให้เราสร้างความเชื่อมั่น และยังผูกกับนโยบายของภาครัฐ ที่มองเป้าหมายของการปรับยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นมหานครแห่งเอเชีย ในระยะ 20 ปีนี้เมืองได้พัฒนาไปกับโครงสร้างพื้นฐาน Mass Transit เมืองได้เติบโตไปกับการขยายรถไฟฟ้า BTS และ MRT กลุ่ม FCL ได้เห็นศักยภาพของคอร์ริดอร์กลางเมือง ที่เราเชื่อว่ามีศักยภาพของการเติบโตก็คือ วงแหวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน วิ่งเป็นวงกลมของกรุงเทพฯ เป็นลูปที่จะเชื่อมการเติบโตของเมืองไปทางฝั่งธนฯกับทางตอนเหนือ

เพราะฉะนั้น การเข้าถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ และการรองรับของอสังหาฯ ที่เกิดการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็เกิดการเติบโตในเรื่องของ Density (ความหนาแน่นของการพัฒนาโครงการ) ถือว่าประเทศไทยพัฒนาได้ก้าวไกลแล้วใน 20 ปีนี้

สำหรับการพัฒนามิกซ์ยูสบนถนนพระรามที่ 4 บทบาทตั้งแต่เข้าไปรับผิดชอบบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ 27 ปีที่แล้ว เราก็ทำงานกับภาครัฐ (เช่าที่ดินระยะยาว) บนถนนพระรามที่ 4 เราพัฒนาบนพื้นที่จุฬาลงกรณ์ฯ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พื้นที่กรมธนารักษ์

เราเชื่อว่าคอร์ริดอร์ที่มีความสำคัญต่อเมืองแล้วก็ต่อประเทศไทย มองถึงเราจะเสริมเติมการผสมผสานมิกซ์ยูสให้เป็นมหานครแห่งเอเชีย เราจะเติมเต็มอะไรบ้าง ปัจจุบันเราลงทุนพัฒนามิกซ์ยูสแล้ว 7 โครงการ บนถนนพระรามที่ 4 จะคอมพลีเมนต์กันยังไง จะเสริมเติมให้กับเมืองอย่างไร ตัวอย่าง สามย่านมิตรทาวน์ เป็นโครงการที่อยู่ในที่เช่าของจุฬาฯ เป็นพื้นที่มิกซ์ยูสที่ไม่มีขายแอลกอฮอล์ แต่กลับตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เป็น Direct Cashment มีนักเรียนกว่า 50,000 คน เรามองว่าจะเป็น Learning Life Library

โครงการสีลมเอจ หัวมุมถนนสีลมตัดกับพระรามที่ 4 เป็นโครงการเล็ก ๆ แต่ สนง.ทรัพย์สินฯให้ความเชื่อมั่นให้เราเข้าไปปรับปรุง เป็นการ Turn Around ของเราที่ได้ทดสอบ 24 Hour rRetail ทดสอบการทำ Flexible Office sSace เรามีออฟฟิศพร้อมอยู่ถึง 50% เป็นรูปแบบใหม่ ๆ ที่เราทดลอง

โครงการบนถนนพระรามที่ 4 เริ่มต้นเปิดตัวด้วยออฟฟิศบิลดิ้ง คือ FYI Center หัวมุมคลองเตย เป็นพื้นที่ที่พิสูจน์โลเกชั่นของตลาดออฟฟิศเกรด A สามารถตอบโจทย์ความสะดวกสบายกับความเป็น Irreplaceable Location เราขยายศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ขึ้นมาอีก 5 เท่า เพื่อต้อนรับกับงานประชุมผู้นำเอเปค กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาหลังโควิด แล้วก็ทำได้สำเร็จ เป็นที่น่าภูมิใจกับประเทศ แล้วก็กับงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์สิริกิติ์ด้วย

ต้องบอกว่า เป็น Journey ของเราที่ได้เห็นว่าเมืองมีโอกาสเติบโตอย่างไร ทำให้เราได้เห็นว่าวันนี้ออฟฟิศที่ขึ้นใหม่ทั้งหมด หลาย ๆ คนมองว่าโอเวอร์ซัพพลายหรือเปล่า เราสร้างอย่างนี้คิดว่าตลาดมาจากที่ไหน ขณะที่เรามองว่าออฟฟิศที่อายุอาคารเก่าเกิน 20 ปี มีสัดส่วนมากกว่า 60% เป็นออฟฟิศที่ถือว่าวันนี้โปรดักต์อาจจะไม่เหมาะกับผู้เช่าที่จะไปในอนาคต

เราเป็นรายแรกที่เป็นตึกออฟฟิศที่ได้เวิลด์สแตนดาร์ด ไม่ใช่ตึกที่มองถึงคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างเดียว แต่มองเรื่อง Quality of Living ข้างใน เราเป็นตึกแรกที่ใส่ UV Light Air ก่อนยุคโควิด เราเป็นตึกที่วางเรื่องการนำออกซิเจนจากข้างนอกเข้ามาภายในอาคารได้ เรื่องคุณภาพน้ำกับส่วนประกอบทั้งหมดที่อยู่ในอาคาร

อยู่กับพื้นที่สีเขียว-เติบโตยั่งยืน

วันนี้เรื่องของพลังงาน สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ต่อการใช้ประโยชน์ของผู้ใช้อาคารสำคัญมาก ๆ ทำให้ตึกเราอย่าง The Parq เปิดบริการกลางปี 2020 ช่วงโควิด แต่วันนี้ถือว่าเป็น Fully Live มีอัตราเช่า 98% เราก็เชื่อว่า Flight of Quality กับเข้าใจการใช้สอยของยูสเซอร์

วิสัยทัศน์กับการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ต้องมององค์ประกอบที่มากกว่าอิฐ ปูน หล็ก มองการจัดทำในแนวคิด Place Making การใช้สอยประโยชน์จากผู้ใช้ เราต้องเข้าใจความต้องการจากผู้ใช้ เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใช้ มากกว่าประโยชน์ที่เขาคิดจะใช้อย่างไร และจะทำให้เกิดมูลค่าต่อตารางเมตรที่เราสร้างอย่างไร

เรื่องหนึ่งที่ยูนีคมาก ๆ ในโลกปัจจุบันคือการสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ดูดีเท่านั้น แต่เป็นการลดความร้อน การเกิดประโยชน์ในการใช้สอยพื้นที่ที่ดีขึ้น เช่น Central Park ที่ซิดนีย์ เรานำพืชพันธุ์กว่า 3 หมื่นชนิดใส่เข้าไปในโครงการด้วย ในอนาคตพื้นที่สีเขียวไม่ใช่ออกแบบให้เป็นต้นไม้ แต่ออกแบบให้เกิด Ecosystem การสร้างระบบนิเวศให้กลับเข้ามาสู่เมืองอย่างยั่งยืน

ในสิงคโปร์ก็เรียนรู้ตัวนี้ เพราะเขาสร้างเมืองใน CBD (ย่านศูนย์กลางธุรกิจ) กลางเมือง รัฐบาลเขาทราบว่ามีปูนมีต้นไม้ที่ไม่สมดุลต่อการคืนระบบนิเวศกลับมา แต่เป็นการผลักดันระบบนิเวศให้ออกไปยังพื้นที่สีเขียว ตอนนี้เขาสร้างเมืองเพื่อดึงระบบนิเวศกลับมาอยู่กลางเมือง เป็นตัวอย่างของการสร้างพื้นที่สีเขียว

เรื่องของเมืองอัจฉริยะ เราเชื่อว่าความสมาร์ทไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เราใช้เทคโนโลยีแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามีข้อมูลอะไร และจะนำมาใช้ได้อย่างไร โครงการวัน แบงค็อก มีเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลมากกว่า 2 แสนเซ็นเซอร์ เรามีกล้องที่ไม่ได้ส่องเพื่อดูความปลอดภัย แต่ส่องเพื่อได้เห็นการใช้ประโยชน์ของคนมากกว่า 5 พันตัว

การจัดการขยะ ถ้าเราไม่ร่วมมือกันคงจะไม่เกิดรีไซเคิลอย่างแท้จริง ได้ร่วมมือกับ SCG, PTTC สร้างรูตใหม่ในการเก็บสิ่งของที่สามารถรีไซเคิลได้จากออฟฟิศ ที่ไม่ใช่เก็บขยะที่เราแยกแล้วแต่ส่งไปข้างนอกกลายเป็นขยะรวมอยู่ดี เราเก็บขยะที่แยกแล้วไปสู่การรีไซเคิลเลย

วันนี้โครงการบนพระราม 4 ทั้งหมด เราดูแล Food Waste 100% ให้ Ferment on Site กลายเป็นปุ๋ยแล้วก็ไม่ต้องออกไปนอกไซต์ของเรา มีการ Compact Weste เพื่อทำให้ทรานสปอร์ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้รับความร่วมมือกับกลุ่ม SCG ในวัน แบงค็อก นำเวสต์คอนกรีตของเสาเข็ม 2,600 ต้น รวมกันแล้วสร้างได้ 1 อาคาร เป็นอาคารฟุตพรินต์ขนาด 8,000 ตารางเมตร เป็น Recycle Concrete Panel พิสูจน์ว่าทำได้จริง SCG ร่วมกับเราช่วยกันแชร์ Cost to Recycle สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้เมืองเราเห็นเรื่องของ Circular Economy-เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ชัดเจนขึ้น

ต้องสร้าง Place Making

เรื่อง Inclusive คือการมีส่วนร่วม เราคิดเยอะ คิดตั้งแต่เริ่มต้นทำงานกับทีม Customer Journey ทำยังไงให้มิกซ์ยูสเกิดศักยภาพในการใช้ประโยชน์เชื่อมโยงกัน เรื่องของ Vibrancy เราจะมีชีวิตชีวาเกิดขึ้นได้ เป็นภาพที่จะ Unveil ภายในปลายปี 2567 นี้ คือ วัน แบงค็อก มีการสร้างถนนกว้าง 33 เมตร ยาว 250 เมตร ปลูกต้นไม้ชื่อว่า โกลเด้นทรี หรือคนไทยรู้จักในชื่อ เหลืองอินเดีย ซึ่งจะออกดอกในเดือนเมษายน เราก็เชื่อว่าเราจะเป็น Festive Environment ให้กับเมืองอีกจุดหนึ่ง เพื่อสร้างให้เกิดบรรยากาศเหมือนกับเราต้องไปดูซากุระที่ญี่ปุ่น ก็เชื่อว่าเราจะได้เห็น Place Making ที่จะสร้างประสบการณ์ดี ๆ แล้วก็สร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เกิดขึ้นกับโปรเจ็กต์ด้วย

เรื่องของ Place Making เป็นหัวใจว่าเราสร้าง วัน แบงค็อก พื้นที่ 2 ล้านตารางเมตร เป็นลูปเชื่อมโยงมากกว่า 2 กิโลเมตร จริง ๆ แล้วเรามองว่าจะทำไงให้เกิด Sense of Place ก็มีคอนเซ็ปต์อาร์ตลูป วางงานศิลปะ เรามีบ้านวิทยุ ซึ่งเป็นอาคารที่ถูกอนุรักษ์โดยกรมศิลปากร ในอดีตส่งคลื่นระยะไกลไปต่างประเทศที่แรก 100 กว่าปีก่อนในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เป็นสิ่งที่เรานำกลับมาสร้างใหม่ ให้เกิดเป็น Node ที่จะคอนเน็กต์ความเป็นอาร์ตลูป

เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องของ Place Making ที่สำคัญ ในการทำให้อสังหาฯเกิดคุณค่าอย่างยั่งยืน ทุก ๆ โครงการที่สร้าง เรามองว่าทำอย่างไรมีสตอรี่จะเกิดได้กับที่ที่เราสร้างเท่านั้น ไม่ใช่จะไปเกิดที่ไหนได้ จะเป็นเอกลักษณ์เรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิตของการพัฒนาในพื้นที่

เปิดพื้นที่โล่ง-เติมสีเขียว 50%

เราได้ร่วมมือกับ กทม. ในการขยายพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง วัน แบงค็อก มีการขยายพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50% ยกตัวอย่างตัวนี้เพราะเป็นจุดหนึ่งที่เป็นเป้าหมายหลักของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีข้อมูลกรุงเทพฯ เฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 4.2 ตร.ม./คน ถ้าตัดพื้นที่ทุ่งนารอบ ๆ กทม.ออกไป ค่าเฉลี่ยจะต่ำกว่านี้อีก เทียบกับเมืองโตเกียวเฉลี่ย 10.6 ตร.ม./คน สิงคโปร์ 60 ตร.ม./คน

วันนี้เราสามารถ Achieve การพัฒนาสวนเบญจกิติ เป็นแกนที่จะเชื่อมต่อหัวใจความเป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่สำคัญมาก ๆ เราศึกษาหาทางเชื่อมคนกรุงเทพฯ เข้าสู่บางกระเจ้าได้ดีขึ้นอย่างไร เชื่อมโยงต่อไปกับมักกะสัน ซึ่งรางรถไฟไม่ได้ถูกใช้แล้ว เป็นพื้นที่เชื่อมที่ดินรถไฟที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปถึงบางกระเจ้า ยังเห็นว่ามืองยังมีโอกาส Unlock อีกมาก กรุงเทพฯเป็นเมืองที่โดดเด่นไม่ด้อยกว่าเมืองไหน ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย

พื้นที่สีเขียวเรามีกลยุทธ์ทำอย่างไร เมืองไม่เกิดการถูกกั้น แต่เกิดการถูกเชื่อมกันกับพื้นที่สีเขียวเป็นหัวใจสำคัญที่จะตอบโจทย์ กทม.ก็ผลักดันทำไงให้เกิดความ Friendly มากขึ้น ฟุตปาทเป็นฟุตปาทของคนจริง ๆ ไม่ใช่ฟุตปาทของกิจกรรมหรือพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ที่คนใช้ได้อย่างไม่สะดวก กรอบนี้เป็นแนวคิดที่โครงการวัน แบงค็อก มีระยะร่นจากถนน ปกติ 6-12-15 เมตร แต่วัน แบงค็อก ตัวอาคารอยู่ริมถนนพระรามที่ 4 มีเซตแบ็ก 40-45 เมตร เพื่อสร้างลีเนียร์พาร์ก เชื่อมให้เมืองสามารถตอบโจทย์กับชีวิตคนเมืองในทุกระดับมากขึ้น และตอบโจทย์การพัฒนาอสังหาฯที่ยั่งยืนให้กับเมืองด้วย

Unlock Value ประเทศไทย

เราเห็นว่าประเทศไทยมี Basic Fundamental ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว เรามีศักยภาพที่เชื่อว่าคอร์ริดอร์บนถนนพระรามที่ 4 ตอบโจทย์การลงทุน ตอบโจทย์การต่อเชื่อมเมืองให้เกิดศักยภาพ มากกว่านั้นคือเชื่อว่าถนนพระรามที่ 4 เป็นมิกซ์ยูส CBD ที่จะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เป็นแกนที่เชื่อมกับเยาวราช เกาะรัตนโกสินทร์ มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวมาแล้วน่าจะเกิดประโยชน์ เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศอีกมาก

กลุ่ม TCC เรามีลงทุน 7 โครงการบนถนนพระรามที่ 4 มีพื้นที่รวม 2.94 ล้าน ตร.ม. มูลค่าลงทุน 1.52 แสนล้านบาท ตั้งแต่สามย่านมิตรทาวน์ มีประสบการณ์พัฒนา Learning Life Library กับชีวิตของสตาร์ตอัพ ชีวิตนักเรียน จนมาสู่เรื่องของไลฟ์สไตล์บนถนนสีลม เป็น Connecting Node ระหว่าง BTS กับ MRT เชื่อมมาถึง วัน แบงค็อก ที่เป็น Node ใหญ่ที่เราเชื่อว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสาทร

สุดท้าย ในย่านคลองเตย มีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, The Parq, FYI Center รองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจกับเทรดโชว์ ศูนย์ประชุม เป็น Node Extended Office ที่วันนี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดี เราเชื่อว่าเมืองที่ยั่งยืนจะต้องเป็นเมืองของทุกคน เป็นเมืองที่เราทุกคนมีส่วนร่วม เป็นเมืองที่ทุกคนจะร่วมใจกันสร้างพลังของเมือง อย่างที่ วัน แบงค็อก เรามีความตั้งใจจะเป็น The Heart of Bangkok เพราะว่าเราจะสร้างด้วยใจ ต้องการให้โครงการที่เราสร้างเป็นเมืองกลางใจของทุกคน

วันนี้เราก็เชื่อว่าคงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ Unlock Value ของประเทศ ยังมีโอกาสอีกมาก และเป็นสิ่งที่เราได้วางแผนมาแล้ว และมองเห็นประเทศไทยมีฟันดาเมนทอลที่เราเชื่อมั่น

24/3/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 24 มีนาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS